แน่นอนว่า นี่คงเป็นคำพูดที่คุณพ่อคุณแม่มักจะหลุดปากถามลูก ๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อพวกเขาทำผิดหรือไม่ได้ดั่งใจเรา แม้จะเป็นสิ่งที่เราสอนไปแล้วหลายต่อหลายครั้งก็ตามใช่ไหมล่ะคะ
สำหรับประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่เราถามลูกไปนั้น หากลูกตอบกลับมาได้ ก็คงจะพูดว่า “พวกหนูไม่มีเหตุผลจริง ๆ นั่นแหละ แต่ไม่ใช่เพราะไม่ใส่ใจนะ แต่พัฒนาการของพวกหนูยังไม่ถึงต่างหาก” ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้การถามหาเหตุผลที่เกินกว่าวัย เป็นเรื่องที่อาจจะเสียเวลาเปล่าก็เป็นไปได้ค่ะ
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า พัฒนาการด้านสติปัญญา โดยเฉพาะเรื่องการเข้าใจสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลในเชิงรูปธรรมนั้น จะเริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ก็เมื่อเด็ก ๆ เริ่มเข้าสู่ช่วง School-age หรือประมาณ 7- 11 ปี นั่นเอง ในขั้นนี้ เด็ก ๆ จึงจะเข้าสู่การคิดแบบรูปธรรม (Concrete Operation Stage) ตามลำดับขั้นพัฒนาการทางปัญญาของเพียเจต์
ในช่วงอายุนี้ พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าใจ และสามารถสร้างกฎเกณฑ์และตั้งเกณฑ์ในการแบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ได้ เด็กวัยนี้สามารถที่จะเข้าใจเหตุผล รู้จักการแก้ปัญหาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ สามารถที่จะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความคงตัวของสิ่งต่าง ๆ โดยที่เด็กเข้าใจว่าของแข็งหรือของเหลวจำนวนหนึ่งแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปร่างไปก็ยังมีน้ำหนัก หรือปริมาตรเท่าเดิม สามารถที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของส่วนย่อย ส่วนรวม ลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้คือ ความสามารถในการคิดย้อนกลับ และความสามารถในการจดจำบุคคลและเรื่องราวจากการสนทนากับผู้อื่น นี่จึงเป็นที่มาที่ว่า ทำไมการสอนด้วยวาจาในเด็กเล็กหรือวัยก่อนหน้านี้ จึงมักไม่เป็นผลนั่นเองค่ะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่นั้น สามารถที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ ในวัยนี้ให้พัฒนาทักษะความคิดเชิงเหตุผลได้ไม่ยากเลย วันนี้ครูพิมมีเคล็ดลับและคำแนะนำเบื้องต้นมาฝากแล้วค่ะ
• กำหนดขอบเขตในเรื่องเวลา หรือขอบเขตกิจกรรมให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม (เช่น ทำอะไร แค่ไหน ในช่วงเวลา และควรทำเสร็จเมื่อใด)
• เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เหตุผลให้ลูก ๆ ได้เห็น
• ชื่นชมเมื่อลูกสามารถที่จะแสดงความคิดเชื่อมโยงหรือให้เหตุผลรองรับในสิ่งต่าง ๆ ได้
• พยายามเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้เหตุผลหรือแสดงความคิดเห็นของตนเอง
• ส่งเสริมการอ่าน โดยเลือกตามความชอบหรือความสนใจของเด็กเป็นหลัก ในขอบเขตเนื้อหาที่เหมาะสม
• พยายามให้โอกาสลูกในการฝึกฝนและควบคุมตัวเอง ไม่พยายามควบคุมในทุกเรื่องจนเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้ฝึกตนเอง
• สอนการฟังผู้อื่นและเคารพความคิดเห็นที่ไม่เหมือนตนเอง
• ลดการใช้หน้าจอ พยายามเน้นการพูดคุยระหว่างกันมากขึ้น
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก
Facebook.com/Matureyourchild