วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก โดยองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญระดับนานาชาติ เนื่องด้วย ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันที่รวมเหตุการณ์สำคัญที่สุดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ นั่นก็คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ชาวพุทธ จึงประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศล เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา รำลึกถึงพระพุทธองค์ และ 3 เหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบสานต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน
วันวิสาขบูชาเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา หมายความว่า หากไม่มีวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชาก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะวันวิสาขบูชาเป็นวันเกิดขึ้นของเจ้าชายสิทธัตถะ วันวิสาขบูชาเป็นวันเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า และวันวิสาขบูชาเป็นวันเกิดขึ้นของพุทธศักราช ด้วยเหตุนี้วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นลำดับที่หนึ่ง
เจ้าชายสิทธัตถะเป็นโอรสของพระพุทธเจ้าสุทโธทนะ (Suddhodana) และพระนางสิริมหามายา (Sirimahamaya) เมื่อประสูติกาลจากพระครรภ์สามารถเสด็จดำเนินได้ด้วยลำพังพระองค์เองถึง 7 ก้าว พร้อมทั้งเปล่งพระวาจาอุทานว่า
“เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”
และภายหลังประสูติกาลได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้ประชุมโหราจารย์ประจำราชสำนักที่เยี่ยมยุทธ์ด้วยภูมิความรู้ด้านโหราศาสตร์ จำนวน 8 ท่าน เพื่อช่วยกันขนานพระนาม (ตั้งชื่อ) และทำนายพระลักษณะ (พยากรณ์ดวงชะตา) โดยโหราจารย์ทั้ง 8 ท่าน เห็นพ้องต้องกันว่าควรตั้งชื่อว่า สิทธัตถะ ซึ่งแปลว่า “ผู้สำเร็จในสิ่งที่ต้องการ”
ส่วนการพยากรณ์ดวงชะตาราศีของพระกุมารนั้น โหราจารย์ 7 ท่านทำนายเป็น 2 ลักษณะคือ
1) ถ้าอยู่ครองราชสมบัติจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันยิ่งใหญ่ และ
2) ถ้าเสด็จออกผนวชจักเป็นศาสดาเอกของโลก
สำหรับโหราจารย์อีก 1 ท่าน ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดมีนามว่า โกณฑัญญะ ได้ยกนิ้วเดียวและฟันธงว่า
“พระกุมารจักต้องเสด็จออกผนวชอย่างแน่นอน”
ซึ่งปรากฏว่าเป็นจริงดังคำทำนาย โดยเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกผนวชเมื่อพระชันษาได้ 29 ปี
ภายหลังเสด็จออกผนวชแล้ว ได้ทรงไปศึกษาวิทยาการต่าง ๆ จากเจ้าสำนักที่มีชื่อเสียงในแคว้นมคธ กรุงราชคฤห์ หลายสำนัก เช่น สำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และสำนักของอุทกดาบสรามบุตร เป็นต้น เมื่อศึกษาวิชาการจากสำนักต่าง ๆ จนครบถ้วนกระบวนวิชาแล้ว ทรงเห็นว่า ยังไม่ใช่แนวทางหรือเป้าหมายสูงสุดที่คาดหวังไว้ จึงทรงอำลาอาจารย์จากสำนักต่าง ๆ เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ที่สัปปายะ ซึ่งเรียกว่า “อุรุเวลาเสนานิคม” เป็นสถานที่เงียบสงบและร่มรื่นด้วยป่าไม้เบญจพรรณ โดยมีแม่น้ำเนรัญชราไหลผ่าน
เมื่อเสด็จดำเนินถึงอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว จึงได้เริ่มต้นบำเพ็ญทุกรกิริยา (Self Mortification) ด้วยวิธีการทรมานตนอย่างรุนแรง เช่น กลั้นลมหายใจ อดพระกระยาหาร เป็นต้น จนพระวรกายซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถึงกระนั้นก็ยังมิอาจจะบรรลุโมกขธรรมได้ดังปรารถนา จึงต้องปรับเปลี่ยนและผ่อนคลายด้วยการเสวยพระกระยาหารเพื่อฟื้นฟูพระวรกาย โดยหันมาปฏิบัติการใหม่ด้วยวิธีการปล่อยวางความครุ่นคิดและวิตกกังวล หรือห่วงหน้าพะวงหลังในฐานะทรงเป็นรัชทายาท ซึ่งเปรียบประดุจมารและเสนามารที่มารุมเร้าจิตใจของพระองค์
เมื่อทรงปล่อยวางและระงับความครุ่นคิดต่าง ๆ นานาได้ ญาณทั้ง 3 ระดับก็บังเกิดขึ้นคือ
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
จุตูปปาตญาณ และ
อาสวักขยญาณ
และการที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย ทดสอบ จนสามารถเกิดองค์ความรู้ทั้ง 3 ระดับดังนี้ด้วยพระองค์เอง จึงเรียกว่า “ตรัสรู้ (Enlightenment)” ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันจันทร์เต็มดวง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ภายหลังเสด็จออกผนวชได้ 6 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 35 พระชันษา
พุทธศักราชเกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล และพม่า หรือเมียนมา นับพุทธศักราช 1 ในปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศลาว เริ่มนับพุทธศักราช 1 ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้วหนึ่งปี ด้วยเหตุนี้ ประเทศศรีลังกา และพม่า จึงนับ พ.ศ.เร็วกว่าประเทศไทยหนึ่งปี
คริสต์ศักราช 2018 ของประเทศศรีลังกาและพม่า จึงเป็นพุทธศักราช 2562 ขณะที่ประเทศไทย กัมพูชา และลาว คริสต์ศักราช 2018 เท่ากับพุทธศักราช 2561
.............................................................................
พระพุทธเจ้าตรัสรู้หรือทรงรู้จริงเห็นแจ้งด้วยพระองค์เองในเรื่องต่าง ๆ มากมาย แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นหัวใจของการตรัสรู้ ได้แก่ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
2.1 ทุกข์ (Suffering)
หมายถึง สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ ทั้งคนรวยและคนจนโดยไม่ยกเว้น ปัญหาของคนรวยคือการดิ้นรนแสวงหาอำนาจ ชื่อเสียงและเกียรติยศ
ส่วนปัญหาของคนจนคือ การดิ้นรนแสวงหาปัจจัย 4 มาประทังชีวิต และการดิ้นรนแสวงหานั้นหากไม่ได้ดังปรารถนาก็เป็นทุกข์ ครั้นได้มาแล้วแต่ต้องหลุดมือไปหรือพลัดพรากไปก็เป็นทุกข์
2.2 ทุกขสมุทัย (The Cause of Suffering)
หมายถึงสาเหตุของความทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า วงจรแห่งความทุกข์ของสัตว์โลกนั้นเกิดจากตัณหา (Craving) 3 ประการ คือ
1) กามตัณหา ความอยากได้
2) ภวตัณหา ความอยากมี และ
3) วิภวตัณหา ความอยากเป็น เมื่อรู้จักต้นตอของความทุกข์หรือปัญหาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ละหรือสลัดทิ้ง
2.3 ทุกขนิโรธ (The Cessation of Suffering)
หมายถึง การกำจัดความทุกข์หรือการจัดการกับปัญหา โดยวิธีการปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้กระทำให้แจ่มแจ้ง เพื่อบรรลุมรรคผล และนิพพาน
2.4 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (The Path leading to the Cessation of Suffering)
หมายถึง ข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์หรือบรรลุเป้าหมายพระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ชาวโลกดำเนินชีวิตตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการ ประกอบด้วย
2.4.1 สัมมาทิฏฐิ
มีแนวคิดและทฤษฎีที่ถูกต้องและเที่ยงตรงในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจ
2.4.2 สัมมาสังกัปปะ
มีความดำริชอบประกอบด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง รวมทั้งไม่ออกนอกกรอบคุณงามความดีหรือทำนองคลองธรรม
2.4.3 สัมมาวาจา
มีวาจาสุภาษิต คือการเจรจาต่อรองที่สร้างสรรค์ ไม่หลอกลวง หรือโกหกมดเท็จระหว่างกัน
2.4.4 สัมมากัมมันตะ
มีการงานที่สะอาดและซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประพฤติในสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อตนเองและสังคม
2.4.5 สัมมาอาชีวะ
มีการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ค้าขายสิ่งที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
2.4.6 สัมมาวายามะ
มีความมานะอดทนและสู้ชีวิต รวมทั้งไม่งอมืองอเท้าคอยรอรับส่วนบุญจากผู้อื่นอุทิศให้ ที่สำคัญต้องพยายามลดละ และเลิกอบายมุขทุกชนิด
2.4.7 สัมมาสติ
มีสติสัมปชัญญะในการดำรงชีวิต และรู้เท่าทันต่อโลกและสังคม ไม่เป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ จนมีหนี้สินล้นพ้นตัว
2.4.8 สัมมาสมาธิ
มีจิตใจที่หนักแน่นและมั่นคงไม่กลับไปกลับมาในการกระทำ รวมทั้งมีจุดยืนหรืออุดมการณ์อย่างชัดเจน
..................................................................
วันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้ยกระดับสู่วันสำคัญสากล ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา เมื่อสหประชาชาติ ในคราวประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 54 วาระการประชุมที่ 174 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล
การที่สหประชาชาติมีมติรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลนั้น ด้วยเหตุผลว่า
“พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ของโลก มีหลักคำสอนที่เป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติตลอดระยะเวลากว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา และจะยังมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต”
และภายหลังสหประชาชาติให้การรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล ชาวพุทธทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและรวมตัวกันจัดกิจกรรมกันอย่างยิ่งใหญ่ โดยมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก และมีการหมุนเวียนจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชาโลกอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
....................................................................................
วิสาขบูชากับปัญหาสังคมโลก เป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะโลกยุคใหม่มีปัญหามากมายทั้งปัญหาทางธรรมชาติ และปัญหาทางสังคม
4.1 ปัญหาทางธรรมชาติ (Natural Problems) เป็นปัญหาที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุถล่ม ฝนแล้ง น้ำท่วม และหิมะตก เป็นต้น
4.2 ปัญหาทางสังคม (Social Problems) เป็นปัญหาที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น ความยากจน ยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชั่น มลพิษ โลกร้อน อาชญากรรม สงครามทางการเมือง และเศรษฐกิจ เป็นต้น
ปัญหาทั้งสองประเภทดังกล่าว เกิดจากกระบวนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่ง หรือเจริญก้าวหน้าทางวัตถุหรือเทคโนโลยีเป็นประการสำคัญ เป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุลหรือยั่งยืน จึงเกิดผลกระทบด้านนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
......................................................................
สังคมโลกมีปัญหาวิสาขบูชามีคำตอบอย่างไร ในฐานะที่วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติให้การรับรอง จะสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมโลกอย่างยั่งยืนได้โดยวิธีใดหรือไม่อย่างไร?
การแก้ปัญหาสังคมโลกในยุคโลกไร้พรมแดนหรือโลกาภิวัตน์ (Globalization) นั้นต้องสร้างกลไกหรือการกระทำให้มนุษย์มีจิตใจและปัญญาที่เป็นสากล 3 ประการ คือ
5.1 มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่เป็นสากล
หมายถึงมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และศาสนาล้วนแต่รักสุขและเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่ควรเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ควรเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน บนหลักการแห่งมนุษยชน และมนุษยธรรม
5.2 ความเป็นจริงที่เป็นสากล
หมายถึงการละชั่วประพฤติดี หรือการมีศีลธรรมต้องถือว่าเป็นความจริงที่เป็นสากลของสังคมโลก ดังคำกล่าวที่ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ” ศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่เป็นสากล
5.3 ความรักความเมตตาที่เป็นสากล
หมายถึงมนุษย์ทุกคนในสังคมโลกล้วนต้องการความรักความเมตตาและหรือความปรารถนาดีต่อกันด้วยกันทั้งสิ้น การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง
การแก้ปัญหาสังคมโลกเพื่อสถาปนาสันติภาพอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นด้วยการจัดระเบียบจิตใจและสังคมให้เกิดความสมดุล ซึ่งหลักธรรมพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาคือ ศีล 5 หากสังคมโลกมีศีล 5 ประดับกายและวาจา
การกระทบกระทั่งระหว่างกันจะคลี่คลายและหมดไปในที่สุดเพราะศีลเป็นกลไกในการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและปลอดภัยสังคมที่มีศีลจึงเป็นสังคมแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง
สันติภาพจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้นำโลกยุคใหม่มีความสนใจในเรื่องของศาสนามากน้อยเพียงใด หากสามารถนำหลักการทางศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ โลกจะบังเกิดสันติสุขและสันติภาพอย่างถาวร ดังคำกล่าวที่ว่า โลกร่มเย็นดับเข็ญได้ด้วยศาสนา ศีลธรรมย่อมนำพา ปวงประชาสุขเจริญ แหล่งใดไม่เสริมศาสน์ศีลพินาศธรรมห่างเหิน แหล่งนั้นย่อมยับเยินสุขจำเริญบ่ห่อนมี…
จึงขอให้วันวิสาขบูชาโลก จงดลบันดาลให้มวลมนุษยชาติจงปราศจากทุกข์เข็ญทางกายและใจ ตลอดไปชั่วกาลนาน
บทความ โดย
รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง