การให้นมลูก สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรคำนึงถึงคือ การให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี และได้รับปริมาณน้ำนมที่เหมาะสม สำหรับคุณแม่ที่มีปริมาณน้ำนมน้อย ต้องปั๊มนมให้ลูก สามารถศึกษาเทคนิคการปั๊มนมและการให้นมลูกจากขวดได้จากบทความนี้ เทคนิค การปั๊มนม สำหรับคุณแม่มือใหม่
ส่วนคุณแม่ที่มีปริมาณน้ำนมเพียงพอ สามารถให้ลูกเข้าเต้าได้ สามารถศึกษาวิธีการและขั้นตอนการให้นมลูกจากเต้าได้ดังต่อไปนี้
คุณแม่ควรดูแลเต้านมให้อุ่นก่อนการให้นมลูกด้วยการดื่มน้ำอุ่น และใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นมาประคบเต้านมทุกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลเวียนได้ดี นอกจากนี้คุณแม่ควรรับประทานอาหารกระตุ้นน้ำนม และดื่มน้ำมาก ๆ ควบคู่กันไปด้วย
วิธีเอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธีคือ อุ้มลูกให้ตะแคงแนบชิดแม่ ให้ลำตัวกับศีรษะลูกอยู่แแนวตรง ใช้มือแม่หรือหมอนช่วยรองรับตัวของลูกไว้ให้รู้สึกมั่นคง ใช้นิ้วเขี่ยปากลูกเบา ๆ เมื่อลูกอ้าปากกว้าง ให้อุ้มลูกเข้าหาเต้า เมื่อลูกอ้าปากงับเต้านมให้สังเกตว่าลูกอมลึกดีหรือไม่ จากนั้นคอยสังเกตเสียงกลืนของลูก หากลูกหยุดดูดนม หรือหยุดดูดเป็นครั้งคราว ให้ลองเปลี่ยนท่าให้นม คุณแม่ควรให้ลูกกินนมเต้าแรกจนเกลี้ยงเต้า (สังเกตจากเต้านมจะนิ่มลง) จึงเปลี่ยนให้ลูกมากินอีกข้างตามลำดับ
การให้นมลูกจากเต้าใช้เวลาค่อนข้างนาน ต้องใช้ความอดทนของคุณแม่ค่อนข้างมาก ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกสถานที่ให้นมที่ค่อนข้างสงบ ไม่มีคนพลุกพล่านอยู่ด้านนอก เลือกนั่งเก้าอี้ที่สบาย เพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย สามารถพุ่งความสนใจไปที่ลูกได้ อีกตัวช่วยหนึ่งคือ หมอนให้นม คุณแม่สามารถหาหมอนนี้มารองตัวลูกระหว่างการให้นมได้ จะช่วยแบ่งเบาความเมื่อยล้าจากการอุ้มลูกได้อีกทางหนึ่ง
ถึงแม้น้ำนมจะยังไม่ไหล หรือไหลน้อย คุณแม่ก็ควรให้ลูกเข้าเต้าให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้เพื่อฝึกคุณแม่ให้อุ้มท่าเข้าเต้าให้ไวที่สุด คุณแม่จะได้รู้สึกคุ้นเคย และเป็นการหัดลูกให้รู้ว่าเมื่อถูกอุ้มในท่านี้คือช่วงเวลาที่ต้องกินนม เป็นต้น
ในช่วงแรกเกิด ลูกวัยทารกมีกระเพาะอาหารค่อนข้างเล็ก และนมแม่ย่อยไว ทำให้ลูกหิวค่อนข้างบ่อย เมื่อลูกแสดงอาการหิวต่าง ๆ เช่น เริ่มร้อง ทำปากขมุบขมิบ หันซ้ายหันขวา คุณแม่สามารถให้ลูกเข้าเต้าได้เลย ซึ่งความถี่ในการให้นมในช่วงแรกอาจอยู่ที่ 1-2 ชั่วโมง และความถี่นี้จะมีมากขึ้นเมื่อลูกเริ่มโตและปรับตัวได้
ก่อนการให้นมทุกครั้ง คุณแม่สามารถใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดหัวนมเพื่อทำความสะอาดก่อนได้ แต่ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์หรือเช็ดถูทำความสะอาดมากเกินไป เพราะอาจทำให้หัวนมแห้งหรือแตก จนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บ ส่งผลให้น้ำนมไหลน้อยได้
*กรณีคุณแม่หัวนมแตก แนะนำให้ใช้น้ำนมเล็กน้อยมาถูเบา ๆ เพื่อลดการอักเสบ
ขณะที่ลูกดูดนม คุณแม่อย่าลืมสังเกตว่าลูกดูดนมอย่างไร วิธีที่ถูกต้องคือ ปากลูกต้องอ้ากว้าง ริมฝีปากบานออกเหมือนปากปลา แนบกับเต้านมแม่ ลูกจะอมลานนมด้านล่างเกือบมิด เห็นลานนมเหนือริมฝีปากลูกเล็กน้อย คางลูกจะอยู่ชิดเต้านมแม่ และแม่จะไม่เจ็บหัวนมเวลาให้นมลูก