“เมืองที่มีปฏิวัติ รัฐประหารกันบ่อยที่สุด”
.
เมื่อพระพุทธศาสนาได้ แผ่เข้าไปในจิตตนคร โดยอุปถัมภ์สนับสนุนของคู่บารมีของนครสามีซึ่งเป็นคู่ปรับสำคัญของคู่อาสวะและสมุทัยดังที่ได้เล่าแล้ว
สมุทัยได้แสดงตนเป็นศาสดาประกาศศาสนาขึ้นบ้าง เพราะเกรงว่าพุทธศาสนาจะดึงคนออกไปให้พ้นอำนาจตนคือให้ไปสู่โลกุตตรภูมิ จึงตั้งศาสนาขึ้นแข่ง คอยแนะนำคนให้ดำเนินไปสู่ภูมิสามที่อยู่ในอำนาจตนเท่านั้น ดังที่เรียกมาแล้วว่ามารศาสนา ซึ่งก็ได้ผล เพราะประชาชนได้ พากันนับถือกันทั้งเมืองก็ว่าได้ แต่ก็มักนับถือคู่กันไปกับพุทธศาสนา ข้อนี้ทำให้สมุทัยผิดหวัง เพราะไม่อาจทำลายพุทธศาสนาลงไปได้
ทั้งดูเหมือนพุทธศาสนาจะเจริญขึ้น ประชาชนสนใจปฏิบัติในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันมากขึ้น และทางการปกครอง ฝ่ายของคู่บารมีก็เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ดำรงตำแหน่งน้อยใหญ่มากขึ้น เช่น ศีล หิริโอตตัปปะ อินทรียสังวร สติ สัมปชัญญะ สันโดษ
.
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ศีลเข้าคุมไตรทวารของจิตตนคร หิริโอตตัปปะเข้าเป็นนครบาล อินทรียสังวรเข้าคุมระบบสื่อสารทั้งชั้นนอกชั้นใน สติสัมปชัญญะเข้าคุมอิริยาบถหรือการจราจรของเมือง สันโดษเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ปันส่วนทรัพย์สินเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นเหตุให้พรรคพวกและสมุนน้อยใหญ่ของสมุทัยต้องร่นถอยลดน้อยลงไปกว่าเดิม
แต่สมุทัยก็หายินยอมโดยง่ายไม่ ใช้เล่ห์เพทุบายและอำนาจกำลังต่าง ๆ ยึดเอาที่มั่นต่าง ๆ กลับคืนมา แม้ยึดมาไม่ได้ทั้งหมดก็ส่วนหนึ่งหรือครั้งคราวหนึ่ง
.
ฉะนั้น จิตตนครจึงเป็นนครที่มีการแย่งอำนาจสับเปลี่ยนอำนาจการปกครองในหน่วยต่าง ๆ กันมากที่สุด
บางทีสับเปลี่ยนกันทุกวัน วันละหลายครั้งก็มี จุดต่าง ๆ ที่ทุกฝ่ายต้องการยึดไว้เป็นของตนแต่ฝ่ายเดียวก็คือ ไตรทวารของเมือง หน้าที่นครบาล ระบบสื่อสารทั้งหก การจราจร และอำนาจการปันสวน หรือพิกัดรายได้ต่าง ๆ เป็นต้น และจุดสำคัญก็คือนครสามี แต่ทุกฝ่ายก็ไม่สามารถจะยึดไว้ หรือจะปฏิบัติหน้าที่ปกครองอยู่เพียงฝ่ายเดียวได้ คู่บารมีมีคู่อาสวะเป็นคู่ปรับกัน ซึ่งนครสามีก็ได้รับรองให้อยู่เป็นฝายในด้วยกันทั้งสอง
สมุทัยกับพรรคพวกฝ่ายหนึ่ง ศีลเป็นต้นซึ่งเป็นพวกคู่บารมีอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เผชิญหน้ากันอยู่ในจุดต่าง ๆ ทั้งสองฝ่าย ตลอดถึงศาสนาก็เป็นที่นับถือกันทั้งสองฝ่าย ถ้าจะเทียบกับบ้านเมืองในโลก ก็น่าจะเรียกได้ ว่าเป็นบ้านเมืองที่มีการปฏิวัติรัฐประหารมากและบ่อยครั้งที่สุด มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายเจ้าหน้าที่กันบ่อยที่สุด จนในที่สุดก็ดูเหมือนแบ่งเมืองกันปกครอง โดยแบ่งเขตกันปกครอง หรือแบ่งเวลากันปกครองในเขตเดียวกันนั่นแหละ เช่น ไตรทวารของเมือง ศีลเข้าปกครองรักษาบางส่วน โลภโกรธ หลง หัวโจกใหญ่ของสมุทัยยึดปกครองไว้บางส่วน หรือส่วนเดียวกันศีลรักษาบางเวลา โลภ โกรธ หลงเข้าครองบางเวลา แบ่งกันไปแบ่งกันมาดังนี้
.
อาศัยที่จิตตนครเป็นเหมือนอย่างเมืองลับแลดังกล่าว ใคร ๆ จึงไม่ค่อยจะรู้เรื่องภายในของจิตตนคร ต่างจากเรื่องของบ้านเมืองในโลกที่มีการออกข่าวให้รู้กันอยู่เสมอ จะมีการปฏิวัติรัฐประหารกันสักครั้งก็รู้กันทั่ว ส่วนในจิตตนครมีทุกวันก็ไม่มีใครรู้ใครสนใจกัน
.
เรื่องของบ้านเมืองในโลกควรเป็นที่สนใจพอสมควร แต่เรื่องของจิตตนครควรเป็นที่สนใจอย่างยิ่ง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกคนควรรู้อารมณ์ตน รู้ให้ทันเวลามากเพียงใดก็ยิ่งดี ความรู้ทันเท่านั้นที่จะทำให้อารมณ์ดับ อารมณ์ทั้งหลายเกิดแล้วดับได้ เร็วเพียงใด ก็จะทำให้ใจอันเป็นที่รองรับอารมณ์นั้นพ้นจากความซัดส่ายฟูขึ้นแฟบลงได้เร็วเพียงนั้น ได้มีความสงบสุข ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของอารมณ์ทั้งหลายหรือมาร
.
บางส่วนจาก “จิตตนคร นครหลวงของโลก”
บทพระนิพนธ์ในองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก