Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

10 คำถาม เบิกทาง สร้างนักเกษตร แห่งรั้วนนทรี

Posted By Plook TCAS | 16 มิ.ย. 63
5,737 Views

  Favorite
เกษตร ม.เกษตรศาสตร์

 

        หากพูดถึงศาสตร์แห่งการเกษตร ภาพคณะแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวของทุกคนน่าจะเป็นคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รากลึกที่เป็นรากฐานการพัฒนาการเกษตรของไทย ให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเศรษฐกิจที่มั่นคงของประเทศ วันนี้พี่นัทมี 10 คำถามของน้อง ๆ ที่มีหัวใจเกษตร มาไขข้อข้องใจกัน ผ่านการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.สุดสายสิน แก้วเรือง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเราจะได้รู้จักศาสตร์การเกษตร ศาสตร์แห่งแผ่นดิน มากยิ่งขึ้น

 

ผศ.ดร.สุดสายสิน แก้วเรือง
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

1. คณะเกษตร เรียนทำไร่ นา สวน และเลี้ยงสัตว์ ใช่มั้ย ?   

          คำว่า “เกษตร” ทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าคณะเกษตร เรียนทำไร่ ทำนา มีแต่ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ! คณะนี้เป็นวิทยาศาสตร์ หลักสูตรหลักของเราชื่อ “วิทยาศาสตร์เกษตร” คือเรียนเรื่องพืช สัตว์ พืชก็ยังแบ่งเป็นพืชไร่ พืชสวน โรคพืช เรื่องของอาหาร คหกรรมก็อยู่ในนี้ อยู่ในคณะเกษตรเหมือนกัน

          ปริญญาตรีของคณะเกษตรมีทั้งหมด 9 หลักสูตร เป็นหลักสูตรปกติภาษาไทย 8 หลักสูตร และหลักสูตรเกษตรเขตร้อน หลักสูตรนานาชาติ 1 หลักสูตร แต่ในขณะเดียวกันยังมีเกษตรเขตร้อนที่เป็นภาษาไทยด้วย นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า ถ้าลงเรียนเกษตรเขตร้อน จะต้องโดนปฏิบัติเยอะ ลงแปลงเยอะ แต่จริง ๆ แล้ว เข้าใจผิด ! เกษตรเขตร้อนคือให้รู้กว้าง ๆ ว่าการทำการเกษตรของทั้งโลก ทั้งพืช ทั้งสัตว์เป็นอย่างไร และยังเน้นไปอีกด้านหนึ่งคือ เน้นการค้าขาย เป็นธุรกิจเกษตรที่มีอยู่ทั้งโลก ว่าส่งออกและนำเข้ากันอย่างไร มีกักกันพืชกันอย่างไร

          ส่วนถ้าเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์อย่างอื่นทั่ว ๆ ไป จะมีความเข้มข้นในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่าเกษตรเขตร้อน จะต้องเข้าใจพืช เข้าใจสัตว์โดยทางกายภาพ สรีระของมันว่าที่มันโต  โตได้อย่างไร มันกินอะไรเข้าไป กินแร่ธาตุ กินปุ๋ย แล้วเอาไปสร้างอาหารแบบไหน เพราะฉะนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนเคมี ชีวะ พืชศาสตร์ สรีระวิทยา พวกนี้เป็นพื้นฐานที่จะรู้ว่า กระบวนการเจริญเติบโตเป็นแบบนี้ การขยายพันธุ์เป็นแบบนี้ มีข้อเสียอย่างไร เป็นโรคได้อย่างไร เพื่อที่จะแก้ไขให้ได้ เช่น กรณีมีโรคระบาดขึ้นมาทางสัตว์ ทางพืชก็มีโรคระบาดเหมือนกัน จำเป็นจะต้องศึกษาพฤติกรรมการทำลายของแมลงหรือของเชื้อโรคต่าง ๆ ทำลายที่ส่วนไหน มีกลไกอย่างไรในการตั้งรับ จะแก้ จะรักษากันอย่างไร อันนี้เป็นภาพรวมทั้งหมดของคณะเกษตรว่าเรียนอะไร แต่ทุกคนไม่ได้จะต้องเรียนหนักไปในทุกเรื่อง ก็จะแบ่งเป็นหลักสูตรนี้เป็นเรื่องโรค ก็เรียนเรื่องโรคเยอะหน่อย หลักสูตรนี้ด้านการผลิต ก็อาจจะเรียนด้านการผลิตทั่ว ๆ ไปหนักหน่อย

 

อาคารปฏิบัติการเฉพาะทาง

 

2. คณะเกษตร รับแค่เด็กสายวิทย์ จริงหรือ ?

          จริง เราเปิดรับเฉพาะเด็กที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ เพราะเราเคยเปิดรับสายอื่นมาแล้ว แต่พอมาเรียนหนัก ๆ แล้วไปไม่รอด และถึงแม้การเรียนระดับมัธยมปลายสมัยใหม่ไม่มีการแยกสายวิทย์สายศิลป์แล้ว แต่เราจะใช้วิธีกำหนดหน่วยกิตในระดับมัธยมปลายแทน คือต้องเรียนกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คือ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ครบตามหน่วยกิตที่กำหนด เช่น ต้องผ่านกลุ่มวิทยาศาสตร์ 22 หน่วยกิต ต้องผ่านกลุ่มคณิตศาสตร์ 12 หน่วยกิต หรือถ้าเรียนแผนอื่นที่ไม่ใช่วิทย์ – คณิต แต่เก็บหน่วยกิตกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ครบก็สามารถสมัครได้

 

3. คณะเกษตร เข้าร่วม TCAS รอบไหนบ้าง ?

          ถ้าเป็นหลักสูตรปกติ เข้าร่วม TCAS  4 รอบ คือรอบที่ 1 – 4 แต่ถ้าเป็นหลักสูตรนานาชาติ เข้าร่วมครบทั้ง 5 รอบ

 

บรรยากาศการเรียนการสอน

 

4. ชีวิตนิสิต คณะเกษตร 4 ปี ต้องเจออะไรบ้าง ?

          ปี 1 เริ่มจากเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปก่อน ภาษาอังกฤษมีบ้าง มีเรื่องความเป็นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย การปรับตัว วิชาที่ต้องเจอ เช่น Art of living ศิลปะการดำรงชีวิต มีฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จะเรียนประมาณ 20 หน่วยกิต คือ พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์กับศึกษาทั่วไปบางส่วน และจะเรียนรวมกัน โดยยังไม่แยกสาขา (บางสาขาที่แยกตัวตั้งแต่ปี 1 เลย คือ คหกรรม อาหารและโภชณาการ สัตวศาสตร์ เทคโนโลยีระบบเกษตร)

          ปี 2 เริ่มแยกไปตามสาขา เรียนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม มีเคมีอย่างน้อย 2 วิชา สูงกว่านั้นจะเป็นพฤษศาสตร์วิทยา สัตววิทยา สรีระวิทยาของพืชของสัตว์ ในคณะเกษตรมี 9 ภาควิชา จะมี 5 - 6 สาขาวิชาที่ออกแบบมาให้มาเป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถ้าจะเรียนพืช จะต้องรู้อะไรบ้าง ต้องรู้พืช ต้องรู้แมลง ต้องรู้โรคพืช อันนี้ถือว่าเป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพวกที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านการเกษตร

          ปี 3 – ปี 4 เรียนเข้มข้นในวิชาของแต่ละสาขา

 

5. ย้ายสาขาได้หรือไม่ ?

          ถ้าสุดท้ายนิสิตเรียนไม่ไหว สามารถย้ายได้โดยมีเกณฑ์การย้ายคือ ต้องผ่านวิชาที่กำหนด ต้องมีเกรดเฉลี่ยรวมไม่ต่ำกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขา  ยกเว้นคนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนานาชาติไม่สามารถย้ายไปเรียนภาคปกติได้

 

ห้องปฏิบัติการกลางคณะเกษตร

 

6. DNA ของเด็กเกษตร คืออะไร ?

          เด็กเกษตรจะรักพวกพ้อง รักพี่ รักน้อง แต่ละรุ่นจะสอนให้สนิทสนมกลมเกลียวกัน ต้องท่องชื่อเพื่อนให้ได้ ท่องชื่ออาจารย์ให้ได้ แล้วการเรียนจะคละหมู่ sec (หมู่) ทำให้รู้จักเพื่อนต่าง sec ด้วย แล้วพอจบก็จะมีภาพจำว่า ครั้งหนึ่งตอนอยู่ใน sec เขาเป็นอย่างไร สนุกอย่างไร ลำบากอย่างไร

 

7. กิจกรรมที่เป็น Signature ของเด็กเกษตรคืออะไร ?

          เรามีกิจกรรมชื่อ “รู้เรียน รู้เล่น รู้คิด” คือชีวิตหลังจากมัธยมมาเป็นมหาวิทยาลัยนั้น เรียนก็ต้องเรียนหนัก เล่นก็ต้องเล่นเป็น คิดก็ต้องคิดแบบผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ พวกนี้มันต้องถูกสอนให้กับนิสิต นิสิตที่เข้ามาใหม่อาจยังปรับตัวไม่ทัน กิจกรรมนี้ก็จะบอกว่าในแต่ละหลักสูตรเรียนอะไรกัน ต้องรับสถานการณ์อย่างไรที่จะเข้าใจบทเรียนให้ทัน เพราะฉะนั้นต้องเข้าร่วมกิจกรรม

          ผ่านจากกิจกรรมนี้ไป ปี 1 ต้องรู้จักความยากลำบากของเกษตรกร อย่างเช่น เรามีกิจกรรมวิถีเกษตรไทย คือทั้งรุ่นต้องไปทดลองปลูกข้าวในพื้นที่ที่เราจัดให้ แล้วตามด้วยกิจกรรมที่จะต้องดูแล แล้วต่อด้วยกิจกรรมเกี่ยวข้าว นิสิตจะได้เรียนรู้ว่า เกษตรกรมีความยากลำบากเพียงใด จะได้รู้ว่าในอนาคตวันข้างหน้า พวกเขาจะต้องไปช่วยคนเหล่านี้ ในการดูแลพืช ดูแลสัตว์ เพราะฉะนั้นเขาก็ได้ฝึกกระบวนการ วิธีการของเกษตรกร ในกิจกรรมจะมีผู้ใหญ่ มีอาจารย์คอยเข้าไปดู คอยให้กำลังใจ  ถือว่าเป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เรามี  ตอนหลังเรามีนิสิตต่างชาติมาเรียนด้วย เขาก็ได้สนุกกับกิจกรรมพวกนี้ ได้ลงมือทำจริง

 

การฝึกงาน

 

8. จบเกษตร ทำงานอะไร ?

          การทำงานแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 กลุ่ม

1. กลุ่มที่นำความรู้กลับไปลงมือทำเอง มีถึง 20 – 30 %

2. กลุ่มข้าราชการ เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เริ่มหันกลับไปรับข้าราชการมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าเอกชนขาดแคลนบุคลากร คนเข้าเอกชนน้อยลง ข้าราชการมีตั้งแต่ข้าราชการท้องถิ่น อบต. มีกรม กอง ของทางด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว เป็นต้น

3. กลุ่มทำบริษัทเอกชน เช่นทำเมล็ดพันธุ์ ทำปุ๋ย ทำสารเคมี ใช้เครื่องจักร ซึ่งบริษัทมีความต้องการคนที่จบการเกษตรโดยตรง   

          เรียนจบเกษตรไม่ต้องกลัวตกงาน อย่างตอนปี 1 เราจะมีวิชาที่ชื่อว่า orientation คือการเชิญเอกชน เชิญข้าราชการ เชิญเกษตรกร SME ที่ประสบความสำเร็จมาเล่าให้นิสิตฟัง เพื่อให้เขาเข้าใจว่า เกษตรทำอะไรได้กว้างขว้าง  และเพื่อให้รู้ว่า พอจบไปแล้วจะเป็นแบบนี้ ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบจะได้มีเวลา หรือรู้ว่าไม่ถนัดทางด้านนี้ จะได้เฟดตัวเองออกไป เพราะฉะนั้นเราก็เอาข้อเท็จจริงมาให้ดูกัน โดยผ่านผู้ที่มีประสบการณ์จริง

          คณะเกษตรทั้งคณะ จบออกมาได้ประมาณ 350 คน ทั้งประเทศมีสถาบันทางด้านการเกษตรอยู่ประมาณ 50 มหาวิทยาลัย ปีหนึ่งก็จะมีประมาณ 8,000 คน ถามว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง เราก็ไม่ค่อยเห็นว่า บัณฑิตจากสถาบันต่าง ๆ บอกว่าจบไปแล้วไม่มีงานทำ ก็เลยคิดว่าทั้ง 8,000 คน ได้งานทำทั้งหมดใน 3 ประเภทคือ ส่วนตัว ข้าราชการ และเอกชน

 

การฝึกงาน

 

9. Portfolio แบบไหน ชนะใจคณะเกษตร ?

          จริง ๆ พอร์ตถือว่าเป็นแค่ส่วนประกอบ คณะเกษตรเน้นรอบแรก คัดลือกจากเกรดและก็ใจชอบ พอร์ตคือสิ่งที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ว่าเรียนเกษตรอะไรบ้าง  เคยทำอะไรเกี่ยวกับการเกษตรบ้าง เช่น เคยโต้วาทีเกี่ยวกับการเกษตร จุดสำคัญคือ ขอให้เกี่ยวข้องกับการที่บอกว่า “เราชอบเกษตร” นอกจากนี้ เรายังเน้นให้โอกาสแก่บุตรหลานเกษตรกร

 

10. อยากเป็นเด็กเกษตร เตรียมตัวอย่างไร ?

          ขอแนะนำด้านการเตรียมตัวสอบ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างรอบ 3 กับ รอบ 4 ซึ่งใช้วิชาสอบที่ไม่เหมือนกัน รอบ 3 ใช้วิชาสามัญ 5 วิชา ส่วนรอบ 4 ใช้ GAT, PAT, O – Net และ GPAX  ซึ่งน้อง ๆ ต้องเตรียมตัวสอบให้ตรงกับวิชาที่ใช้ และรอบที่เลือก

 

          10 คำถาม ที่ช่วยสร้างความกระจ่างในคณะเกษตร แห่งรั้วนนทรี ใครอยากเข้าคณะนี้ ต้องมีความพร้อมทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ความรักในศาสตร์แห่งแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยศาสตร์พระราชา ศาสตร์ชุมชน และ ศาสตร์สากล  ตลอดจนความพร้อมที่จะช่วยดูแลเกษตรกรไทย  ถ้ามั่นใจในความชัดเจนเหล่านี้แล้ว ได้เวลาลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ เตรียมตัวให้พร้อมตามปณิธานแห่งมหาวิทยาลัย

          “เกษตรศาสตร์ มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของคนในชาติ”

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา
เขียนและเรียบเรียงบทสัมภาษณ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow