Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อานุภาพ ในการสวด อิติปิโส หรือบทสวดสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

Posted By มหัทธโน | 09 เม.ย. 63
81,551 Views

  Favorite

ที่มาของอิติปิโสฯ หรือบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

บทสวดนี้ มีที่มาจากบท "ธชัคคสูตร" 

ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง 

ธชัคคสูตร คือ พระสูตรที่แสดงถึงยอดธง

ธชัคคสูตรเป็นสูตรใหญ่ นิยมสวดทั้งสูตรเฉพาะภายในวัด เช่น สวดประจำพรรษาในพระอุโบสถเพราะใช้เวลามาก ถ้าจะสวดทำบุญตามบ้าน หรือแม้ในพระบรมมหาราชวัง ก็ไม่สวดเต็ม ตัดสวดเฉพาะบทอิติปิโสฯ หรือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ซึ่งเป็น หัวใจของพระสูตรนี้ 

ถือว่า เป็นบทมงคล เพราะเป็นการถอดแบบจากพุทธพจน์โดยตรง เป็นความจริงอันเป็นสัจจะ  

ที่มา : สำนักพิมพ์เสบียงบุญ แหล่งรวมหนังสือเพื่อธรรมทาน
สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Sabiangbunpublishing/posts/1730623153893838/

 

เป็นดั่งยอดธงชัย สำหรับมวลหมู่เทวดา ในสงครามเทวดากับอสูร

ในพระไตรปิฏก พระพุทธองค์ทรงเล่าถึง พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ

 

เป็นดั่งธงชัย ที่เหนือกว่าธงชัยขององค์จอมเทพทั้งหลาย เพราะบริสุทธิ์ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงขจัดความหวาดกลัว ความขยาด ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าได้ 
 

ธชัคคสูตร จากที่มา : พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถาวรรค

 

ที่มา : เทวาสุรสังคามสูตร สืบค้นจากhttps://bit.ly/39XMK6W

 

ในครานั้น เมื่อสงครามเทวดากับอสูร ได้ประชิดกันขึ้นในเทวโลก ครั้งนั้น เหล่าเทวดาก็มีความสะดุ้งหวาดกลัวต่อพวกอสูรไม่น้อย

 

ถึงกับท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพเจ้า 3 ชั้นฟ้า ให้ประชุมเทพยดาทั้งสิ้น แล้วจัดทำธงชัยประจำทัพทั้ง 4 ทิศ เป็นสัญญาณต่อต้านพวกอสูร โดยเทวบัญชาว่า

 

“ ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ในขณะทำสงครามกับเหล่าอสูร ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า อันจะทำให้เสียกำลังรบ อาจเกิดมีแก่บางท่านได้

 

ดังนั้น ถ้าคราวใดเกิดมีความกลัวขึ้น ขอให้ทุกท่านจงมองดูชายธงของเรา แล้วความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าของท่านจะหายไปได้ หรือถ้าไม่มองชายธงของเรา ก็จงมองดูชายธงของท้าวปชาบดี ของท้าววรุณ หรือของท้าวอีสานะ องค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อท่านทั้งหลายได้มองดูชายธงแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยามเกล้าจักหายไป


ภิกษุทั้งหลาย

ถึงเทวดาที่มองดูชายธงของท้าวเทวราชทั้ง ๔ พระองค์นั้น บางครั้งก็หาย บางครั้งก็ไม่หาย คือ หายบ้าง ไม่หายบ้าง หรือ หายแล้วก็กลับกลัวอีก

 

ข้อนั้น เพราะอะไร ภิกษุทั้งหลาย เพราะท้าวสักกะเทวราช ท้าวปชาบดี ท้าววรุณ และท้าวอีสานะ ผู้เป็นเจ้าของธงชัยนั้น ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีกิเลส จึงยังกลัว ยังหวาดเสียว ยังสะดุ้ง ยังหนีอยู่

 

ก็เมื่อจอมเทพ จอมทัพ ยังกลัว ยังสะดุ้ง ยังหนีอยู่แล้วอย่างไร ชายธงของท้าวเธอจึงจะบำบัด ความกลัว ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ที่ทำให้เสียขวัญถึงแก่หนี ไม่คิดสู้เขาเสมอไปได้เล่า

 

ที่มา : เทพคืออสูร อสูรคือเทพ ว่าด้วยความสับสนในสถานะของสองเผ่าพันธ์
สืบค้นจาก https://bit.ly/2XlrRQz



ภิกษุทั้งหลาย

ส่วนพระรัตนตรัย ที่ท่านทั้งหลายคารวะนับถือปฏิบัติอยู่นั้น ทรงคุณ ทรงอานุภาพ เหนือท้าวเทวราชเหล่านั้น เหนือธงชัยของท้าวเทวราชเหล่านั้น

 

ดังนั้น เมื่อท่านทั้งหลาย จะอยู่ในป่าก็ตาม อยู่ที่โคนไม้ก็ตาม หรือจะอยู่ในเรือนว่างก็ตาม หากความกลัวหรือความหวาด ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ก็ดี บังเกิดขึ้น

 

ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า “ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เป็นต้น เมื่อท่านทั้งหลายระลึกด้วยดีแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าเหล่านั้นจักหายไป. 

 

ที่มา : Shutterstock

 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19)  ทรงให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า


"[พระสูตร]นี้แสดงทางธรรมปฏิบัติก็คือ ให้เจริญพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในป่า ก็จะทำให้ความกลัวต่าง ๆ หายไปได้ ก็เป็นพระสูตรที่สอนให้เจริญพุทธานุสสติเป็นต้น นั้นเอง"

 

อานิสงส์การสวด

 --  บทสวดนี้เป็นการรวมเอาถ้อยคำสำคัญ ๆ มาของพระพุทธองค์  ซึ่งเชื่อว่าทำให้ใจสงบ เมื่อมีใจสงบก็ย่อมมีสติ มีปัญหาอะไรก็ย่อมแก้ไขได้ไม่ยาก

     ยิ่งสวดเป็นประจำสม่ำเสมอ จึงมักมีสติปัญญาดี นิ่งสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจเข้มแข็ง ปัญญาดี หลับสบาย มีสมาธิ

    และแน่นอนเมื่อสติปัญญาดี การตัดสินใจถูกต้องแม่นยำ ผลที่ได้จึงมักจะประสบพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต

 

ที่มา : เรื่องย่อมงคลสูตรคำฉันท์
สืบค้นจาก https://bit.ly/39TYhnO


 

 --  เสริมสร้างอนุสติ ช่วยทำลายความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า หรือความขลาดกลัวต่ออารมณ์ที่สร้างขึ้นมาหลอนใจ

     ยามลำพัง อาจกลัวเสียงต่าง ๆ หรือแม้แต่เงาตนเอง เป็นต้น อาจหลอนด้วยอารมณ์อันเกิดกับจิต  

    โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปอยู่ต่างถิ่น หรือในสถานที่ที่ไม่ คุ้นเคย โดยน้อมเอาคุณของพระรัตนตรัยมาสร้างเสริมกำลังใจให้เกิด ความอาจหาญแกล้วกล้าในการต่อสู่อันตรายและอุปสรรคนานาประการ

 

 -- สิ่งที่ทุกคนประจักษ์ตรงกัน เมื่อสวดหลายจบ คือความรู้สึกสว่าง อบอุ่นใจ และเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บังเกิดขึ้นรอบตัว

    แม้ไม่ทราบคำแปลเลยก็ตาม ยิ่งถ้าทราบคำแปลด้วยก็จะยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสและมีความแน่วแน่ยิ่งขึ้น 

 

 --   ช่วยคุมครองป้องกันอันตรายจากที่สูง หรืออันตรายทางอากาศ เช่น อันตรายจากการขึ้นต้นไม้สูง อันตรายจากการเดินทางที่ต้องผ่านหุบเขาเหวผาสูงชัน อันตรายจากสิ่งที่ตกหล่นมาจากอากาศ 

     และในปัจจุบันยังนิยมใช้สวดเพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากการเดินทางโดย เครื่องบิน

 

 -- เนื่องจาก บทสวดนี้ มีพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพครบถ้วน จึงช่วยให้จิตใจมีกำลังเข้มแข็งต่ออุปสรรคใด ๆ ที่เผชิญ 

    เป็นคนมีเสน่ห์และเป็นที่รัก มีผลในการช่วยต่อชะตา ให้อายุยืนยาว เทวดารักษา ป้องกันภูติผีปีศาจ นิมิตร้ายใด ๆ และแคล้วคลาดจากโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ และจากอุบัติเหตุ   

 

 -- บางคนเชื่อกันว่า เป็นเหมือนเกราะเพชร คุ้มครองป้องกันภัยให้ผู้สวดอีกด้วย พระหลาย ๆ รูปนิยมนำมาสวด เพื่อเป็นยันต์เกราะเพชร และแนะนำให้ลูกศิษย์สวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภัย 

 

ที่มา : ShutterStock


ควรสวดที่รอบ กี่จบ ? เพราะเหตุใด

ควาสวดทุกวันๆ ถึงแม้ว่า จะรู้สึกว่าจิตของเรา ไม่มีสมาธิก็ตาม เป็นการปลูกฝังความเคยชิน ความเป็นมงคลก็จะค่อย ๆ ฝังลงในส่วนลึกของจิตใต้สำนึก

 

นั่นคือ จะสวดกี่จบกี่รอบก็ได้ เชื่อกันว่า ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะการสวดมนต์เป็นการฝึกสมาธิที่ดีแบบหนึ่ง ทำให้มีสมาธิดีขึ้น และถือว่าเป็นการทำกุศล สร้างบารมี อีกแบบหนึ่ง
บางคนสวดวันละ 108 จบ บางคนสวด 9 จบ หรือ 3 จบ ตามแต่สะดวก 

 

หลวงพ่อพุธ ฐานิโยเมตตาสอนว่า

ความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเพียงผลพลอยได้ เพราะฉะนั้น อิติปิโส สวดทุกวันๆ แม้แต่เพียงวันละจบก็ยังมีผล

ยิ่งถ้ายึดมั่นในการสวด พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เจริญเมตตาพรหมวิหาร และรักษาศีล ๕ ด้วย ต่อให้เป็นฆราวาสก็ยังสามารถที่จะทำอะไรดี ๆ ได้เหมือนพระ บางทีอาจจะดีกว่าพระเสียด้วยซ้ำไป

 

ท่าน ว วชิรเมธี เมตตาให้ธรรมะว่า 

สิ่งสำคัญในการสวดมนต์ คือ สติและความตั้งใจสวด   ไม่ว่าจะสวดสั้น สวดยาว สวดย่อ หรือสวดเต็ม ก็ได้บุญด้วยกันทั้งนั้น 


เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจและมีสติระหว่างสวดเป็นหลัก 

ถ้าสวดอย่างมีสมาธิ บทเดียวก็ได้บุญมาก 
แต่ถ้าสวดแต่ปาก ทว่าใจฟุ้งซ่าน สวดยาวนานแค่ไหนก็คงได้บุญ แต่ไม่เทียบเท่าการสวดแบบมีสติ มีสมาธิระหว่างสวด

 

ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่สวดมนต์ไม่ควรไปยึดติดว่าเท่านั้นจบ เท่านี้จบ แต่สวดให้จบแต่ละบทด้วยความตั้งใจที่เต็มร้อย แม้เพียงบทเดียวก็นับว่าได้บุญอย่างยิ่งแล้ว 

และเหนืออื่นใด สิ่งที่ไม่ควรลืมทุกครั้งเวลาสวดมนต์ก็คือ ควรพยายามทำความเข้าใจด้วยเสมอไป 

 

เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า 

การสวดมนต์นับเป็นช่องทางหนึ่งของการบรรลุธรรม กล่าวอย่างสั้น ๆ ก็คือ “สวดเป็นก็เห็นธรรม”

 

ที่มา : Shutterstock

 

คำแปล บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา
(เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น)
อะระหัง
(เป็นผู้ไกลจากกิเลส)
สัมมาสัมพุทโธ
(เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง)
วิชชาจะระณะสัมปันโน
(เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ)
สุคะโต
(เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี)
โลกะวิทู
(เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง)
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
(เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า)
สัตถา เทวะมนุสสานัง
(เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)

พุทโธ
(เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม)
ภะคะวาติ.
(เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้)
 

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
(พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว)
สันทิฏ​ฐิโก
(เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง)
อะกาลิโก
(เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล)
เอหิปัสสิโก
(เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด)
โอปะนะยิโก
(เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว)
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิ​ญญูหีติ.
(เป็นสิ่งที่ผู้รู้ พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ ฯ)
 

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
(สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว)
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
(สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว) 
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
(สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว)
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
(สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว)
ยะทิทัง
(ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ)
จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
(คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ)
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
(นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า)
อาหุเนยโย
(เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา)
ปาหุเนยโย
(เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ)
ทักขิเณยโย
(เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน)
อั​ญชะลีกะระณีโย
(เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี)
อะนุตตะรัง ปุณญักเขตตัง โลกัสสาติ.
(เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow