Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมคำสอนลึกซึ้ง ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รวบรวมจากบูรพาจารย์ศิษยานุศิษย์ ตอน 1

Posted By มหัทธโน | 17 ม.ค. 62
39,270 Views

  Favorite

 

การตำหนิติเตียนผู้อื่น 

ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น
นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย
จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน


การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง
เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์

จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน
งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย

ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว
แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง 


-------------------------------------------------------------------

ต้นหาย กำไรสูญ 

ต้นหาย กำไรสูญ เปรียบเสมือนคนเราบางคนที่ตั้งอกตั้งใจทำการทำงาน
จะประกอบการค้าขาย หรือทำกิจการงานอะไรก็ดี
ตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว และแก่เฒ่าแก่ชราในที่สุด
และถึงพร้อมด้วยความร่ำรวยสมบูรณ์พูนสุข
สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างหลักฐานได้อย่างมั่นคง
ตลอดจนสร้างเกียรติยศ สร้างชื่อเสียง จนได้ลาภได้ยศ
ได้สรรเสริญ ประสบความสำเร็จในชีวิตทางโลก ทุกสิ่งทุกอย่าง

แต่คนบางคนที่กล่าวถึงเหล่านี้ เมื่อถึงกาลเวลาอันสมควร
ซึ่งที่จริงก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับทรัพย์สมบัติในทางโลก
ที่ได้สร้างสมมามากแล้ว ก็ควรจะหยุด
เพื่อรีบสร้างสมสิ่งที่เป็น “อริยทรัพย์” ในบั้นปลายของชีวิต
ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้บ้าง

แต่เขาเหล่านั้นก็หาได้มีความหยุด ความยั้ง ความละ 
ความปล่อย ความวาง ในทรัพย์สมบัติที่หามาได้เหล่านั้นไม่
มุ่งหน้าที่จะคิดอ่านประกอบกิจการงาน ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ
โดยไม่คำนึงถึงว่า สักวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว ความตายก็จะต้องมาถึงเข้าอย่างแน่นอน
ในที่สุดร่างกายของเขาก็ถึงซึ่งความแตกดับจริง ๆ และย่อยยับสูญหายไป 
ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนหามาได้ไว้ในโลกนี้ให้กับคนอื่นทั้งหมด
ไม่สามารถที่จะนำเอาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นติดตามตนไปได้แม้แต่นิดเดียว

โดยที่ตนเองมิได้ประกอบคุณงามความดี
ในทางสร้างสมในสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ให้มากเท่าที่ควรเลย
ซึ่งตนเองก็มีโอกาสและโชคดีอย่างดีที่สุดแล้ว
แต่ก็มิได้กระทำลงไป จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดในชีวิตของเขา
เปรียบเสมือน “ต้นหาย กำไรสูญ” 


“ต้น” ก็คือร่างกายและทรัพย์สมบัติที่หามาได้ทั้งหมด
“กำไร” ก็คือบุญกุศลหรือสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ 


แทนที่จะได้ก็ไม่ได้ และถ้าใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปในทางที่ไม่ดี 
ผิดศีลผิดธรรมอีกด้วยแล้ว หรือยึดในทรัพย์สมบัติที่หามาได้นั้นมากเกินไป
ก็ยิ่งจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ต้นก็หาย กำไรก็สูญ ชีวิตนี้ก็ขาดทุน 

(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)

-------------------------------------------------------------------

ที่มา : ประมวลภาพ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” โดยคุณสาวิกาน้อย
สืบค้นจาก https://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42852 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 62


วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก 


ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก 
มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง 
ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย 

ฉะนั้น ต้องให้เข้าใจว่า ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว
ต้องเก็บใส่ตู้ ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้ 
หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา 

กำหนดรู้เท่ามหาสมบัติมหานิยม 
อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น
เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศกลางหาว 
ดาวนักขัตฤกษ์ สารพัดสิ่งทั้งปวง


อันเจ้าสังขารคืออาการจิต 
หากออกไปตั้งไว้ บัญญัติไว้ว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้ 
จนรู้เท่าแล้วเรียกว่า กำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย 
เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว 
จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค
หากมรรคพอแล้ว นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง
หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง


เพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่ 
ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก
ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก
เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ จึงจะรู้เฉพาะตัว 
คือมาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของอสุภะ เปื่อยเน่า แตกพังลงไป
ตามสภาพความเจริญของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ 
ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้มาปฏิบัติพิจารณาพึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้


อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน
จึงจะเห็นข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบาย
ก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น 
เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ในกาย วาจา จิต ของทุกคน 

(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)

-------------------------------------------------------------------

คติพจน์ 

คำที่เป็นคติอันหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กล่าวอยู่บ่อยๆ 
เพื่อเป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษย์ยานุศิษย์ ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน
เพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดแห่งสมบัต​ิทั้งปวง 


เมื่อท่านอธิบายตจปัญจกกัมมัฏฐานจบลง
มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า
“แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ 
แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย
คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม 
ภพทั้งสามเป็นเฮือน (เรือน) เจ้าอยู่” 
ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ
ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจให้เข้าใจทางถูกและละเลิกลัทธินั้น
ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวคำเป็นคติขึ้นว่า
“เหลือแต่เว้าบ่เห็นบ่อนเบาหนัก 
เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย (ร้าย)”
 ดังนี้

(จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)
-------------------------------------------------------------------

ภูริทตฺตธมฺโมวาท 

ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงาน
ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย
ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี

อุปมาดั่งดอกประทุมชาติอันสวยๆ งามๆ
ก็เกิดจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก 

-------------------------------------------------------------------

ที่มา :ประมวลภาพ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” โดย คุณสาวิกาน้อย
สืบค้นจาก https://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42852 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 62


การพัฒนาตน 

คนเราทุกคนใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ
ใหญ่แต่ความสำคัญตน

แต่ความรู้-ความฉลาดเท่านั้น 
ที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งกายและใจโดยถูกทาง
ตลอดจนให้ผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย
นั่นไม่ค่อยเจริญเติบโตด้วย และไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตด้วย

จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง
โดยไม่เลือกเพศ-วัย-ชาติ-ชั้นวรรณะ อะไรเลย 

-------------------------------------------------------------------

คนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม 

คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน
จึงกลายเป็นคนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม
ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
แม้คนจะมีจำนวนมาก และแสดงธรรมให้ฟังทั้งพระไตรปิฎก
จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา มันสลัดออกเกลี้ยงไม่มีเหลือ
ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน
เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมาฉันนั้น 
-------------------------------------------------------------------

คุณธรรมความดี 

ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน
ความยิ่งใหญ่ คือ ความไม่ยั่งยืน
ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือ ชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู
ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ 
แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น 


-------------------------------------------------------------------

ขันธะวิมุตติ 

“ใครผิดถูก ดีชั่ว ก็ตัวเขา
ใจของเรา เพียงระวัง ตั้งถนอม
อย่าให้ อกุศล วนมาตอม
ควรถึงพร้อม บุญกุศล ผลสบาย
เห็นคนอื่น เขาชั่ว ตัวก็ดี
เป็นราคี ยึดขันธ์ ที่มั่นหมาย
ยึดขันธ์ต้อง ร้อนแท้ เพราะแก่ตาย
เลยซ้ำร้าย กิเลสกลุ้ม เข้ารุมกวน” 


(ถอดความจากลายมือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow