Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วันออกพรรษา เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงให้ความสำคัญกับการปวารณา

Posted By มหัทธโน | 24 ต.ค. 61
27,240 Views

  Favorite

 

วันออกพรรษา เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงให้ความสำคัญกับการปวารณา 
กุศโลบายแห่งการปวารณา ละทิฏฐิมานะ ขอโทษ เคารพซึ่่งกันและกัน

“วันออกพรรษา” มักถึงถึงแต่การตักบาตรเทโว แต่น้อยคนจะรู้ว่าเป็น “วันมหาปวารณา” เพราะเป็นวันที่พระภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณาต่อกัน พิธีดังกล่าวถือเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่ทำเฉพาะในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา

 

ออกพรรษา กุศโลบายแห่งการปวารณาตน

วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ตรงกับวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา ๓ เดือน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำการปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าวตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน

 

ความหมาย “ปวารณา”

คำว่า “ปวารณา” พระจะไม่ทราบก็มีนะ เวลานี้มันจะเป็นเพียงพิธีกิริยาออกมาจากความไม่มีธรรมในใจ ไม่มีวินัยในใจแล้วนะ

 

คำว่า สงฺฆมฺ ภนฺเต ปวาเรมิ คือ ปวารณาตน เปิดโอกาสตนแก่สงฆ์ทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้ คือ เปิดเผยเปิดโอกาสให้กัน แนะนำตักเตือนสั่งสอนได้ ผิดพลาดประการใด ได้เห็นก็ดี กิริยาอาการที่ไม่ถูกต้องนั้น ได้ยินก็ดี กิริยาแห่งการแสดงหรือการพูดออกมา หรือได้สงสัยก็ดี เหล่านี้ ให้ตักเตือนสั่งสอน เมื่อทราบแล้วจะได้ปฏิบัติแก้ไขดัดแปลงต่อไป ความหมายว่าอย่างนั้น

 

กำเนิดแต่ครั้งพุทธกาล 

พิธีปวารณานี้มีมาแต่สมัยพุทธกาล เข้าใจว่าเกิดขึ้นเนื่องจากพระภิกษุสมัยนั้นมาอยู่ร่วมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ก็เฉพาะช่วงเข้าพรรษา เมื่อออกพรรษามักจะจาริกแยกย้ายกันไป โดยไม่แน่ใจว่าจะได้พบกันอีกเมื่อใด ดังนั้นก่อนที่จะแยกย้ายจากกันจึงมีการปวารณาแก่กันและกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวกันได้หากมีโอกาสมาพบกันใหม่ในวันข้างหน้า

 

เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงใ้ห้ความสำคัญกับการปวารณา

ถึงกับทรงมีบัญญัติให้พระสงฆ์งดทำอุโบสถหรือพิธีสวดปาฏิโมกข์ เพื่อมาทำปวารณาแก่กันและกันในวันนั้นแทน

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าคำว่ากล่าวตักเตือนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บุคคลมีความเจริญมั่นคงในทางธรรมได้ ในสมัยพุทธกาลมีบุคคลจำนวนไม่น้อยบรรลุธรรมได้ก็เพราะได้รับฟังคำว่ากล่าวตักเตือน ด้วยเหตุนี้จึงทรงถือว่าการว่ากล่าวตักเตือนนั้นเปรียบเสมือนการชี้ขุมทรัพย์เลยทีเดียว

พิธีปวารณามีขึ้นเพื่อย้ำเตือนให้บุคคลเห็นคุณค่าของคำว่ากล่าวตักเตือน โดยไม่เพียงเปิดใจยอมรับคำตักเตือนเท่านั้น หากยังเชิญชวนให้สหธรรมิกชี้แนะว่ากล่าวด้วยแม้เพียงแค่ระแวงสงสัยหรือแค่ได้ยินได้ฟังมาก็ตาม นี้คือท่าทีของผู้ใฝ่ศึกษาหมั่นพัฒนาตน ที่ชาวพุทธทั้งหลายควรมี ไม่จำเพาะพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น

 

คำปวารณาจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เปิดโอกาสไม่ให้มีทิฐิมานะต่อกัน ไม่มีคำว่าชาติชั้นวรรณะ เป็นสังฆะ หรือเป็นพระสงฆ์ศากยบุตรอันเดียวกัน เปิดโอกาสให้กัน

เพราะความรู้เราลำพังคนเดียว ไม่สามารถที่จะรู้รอบได้ในกิริยาความเคลื่อนไหวของตน จึงต้องได้อาศัยผู้อื่นคอยแนะนำตักเตือนสั่งสอน นับแต่ครูบาอาจารย์ลงมาถึงพระเพื่อนฝูงด้วยกัน คอยแนะนำตักเตือนสั่งสอนกัน เปิดโอกาสให้กันเพื่ออรรถเพื่อธรรม ไม่ได้เพื่อทิฐิมานะฐานะสูงต่ำอะไรเลย สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ความเป็นธรรมก็คือ ความเปิดโอกาสเพื่ออรรถเพื่อธรรม คือความถูกต้องดีงามแก่ตน เมื่อท่านผู้อื่นผู้ใดได้เห็นความไม่ดีไม่งามของเราที่แสดงออก ด้วยการได้เห็นได้ยินได้ฟัง ด้วยรังเกียจสงสัยก็ดีนั้นจะได้เตือนเรา ก็จะได้รับไว้ประพฤติปฏิบัติ
 

เรื่องทิฐิมานะนั้นเป็นเรื่องของกิเลส

การเปิดโอกาสตักเตือนซึ่งกันและกันนั้นเป็นเรื่องของธรรม เพราะเราอยู่ด้วยกันหลายคน อาจมีความผิดพลาด จึงต้องเปิดโอกาสให้แนะนำหรือตักเตือนซึ่งกันและกันได้ ให้พากันเข้าใจตามนี้ นี่ละพระโอวาทของพระพุทธเจ้า ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติตามพระโอวาทนี้อยู่ เราทุกคนเท่ากับศาสดาประทับอยู่บนศีรษะของเรา คือพระธรรมพระวินัยซึ่งเป็นองค์แทนของศาสดา เราปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยอยู่นี้เท่ากับเราเทิดทูนศาสดา ประหนึ่งพระองค์ประทับนั่งอยู่บนศีรษะ คือ หัวใจของเราทุกคน ๆ นี่เป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ ธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นความครึความล้าสมัยดังกิเลสที่มันล้ำยุคล้ำสมัย เหยียบย่ำทำลายศาสนาคือธรรมวินัยอยู่เวลานี้ดาษดื่นจนเกิดความสลดสังเวช นี่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย แต่ดาษดื่นในศาสนาทุกวันนี้ มีแต่ของปลอมเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มวัดเต็มวา จึงน่าสลดสังเวช


พวกเราทั้งหลายผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม อย่าให้มีกิริยาอาการอย่างนั้นออกมาทางกายทางใจทางวาจาทุกอย่างเป็นอันขาด

นี่เรียกว่าเทิดทูนพระศาสดาคือหลักธรรมหลักวินัย ด้วยอาการแสดงออกของตนทุกอย่าง ให้พากันจำเอานะ เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านั้น

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ “วันออกพรรษา” ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

 

ShutterStock

 

คำปวารณา

"สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิฯ"

มีความหมายว่า

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี...

 

“เหตุแห่งการปวารณา”

ครั้งหนึ่ง มีภิกษุที่จำพรรษาในแคว้นโกศล ตั้งกติกาว่า จะไม่พูดกัน แต่ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อออกพรรษาแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถาม ทรงติเตียน และทรงอนุญาตการปวารณา คือ การอนุญาตให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ภิกษุจำพรรษาแล้ว ย่อมปวารณากันด้วยเหตุ ๓ ประการคือ

๑. โดยได้เห็น
๒. โดยได้ยิน ได้ฟัง
๓. โดยสงสัย
 

เหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายากสอนยาก ๑๖ ประการ


๑. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก
๒. เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น
๓. เป็นผู้มักโกรธ มีความโกรธครอบงำแล้ว
๔. เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ
๕. เป็นผู้มักโกรธ มักระแวง
๖. เป็นผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
๗. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์
๘. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์
๙. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อนพูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย ความไม่เชื่อฟังปรากฏ
๑๐. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ
๑๑. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์
๑๒. ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ
๑๓. ภิกษุเป็นผู้ริษยา ตระหนี่
๑๔. ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เจ้ามายา
๑๕. ภิกษุเป็นผู้กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น
๑๖. ภิกษุเป็นผู้ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้นถอนได้ยาก

 

ในชีวิตประจำวัน การปวารณามีประโยชน์ต่อผู้มีปัญญาเช่นกัน 

การเปิดใจรับคำว่ากล่าวตักเตือนหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ แม้มิใช่ศีลข้อสำคัญในพุทธศาสนา แต่ก็เป็นธรรมข้อสำคัญสำหรับการมีชีวิตที่ดีงาม ธรรมข้อนี้มีชื่อเรียกว่า “โสวจัสสตา” คือความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พร้อมรับฟังคำชี้แนะว่ากล่าว จัดเป็น ๑ ในนาถกรณธรรม ๑๐ (ธรรมที่ทำให้เป็นที่พึ่งของตนได้) และมงคล ๓๘ หากขาดธรรมข้อนี้แล้วนอกจากจะทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ยากแล้ว ชีวิตยังขาดสิ่งที่เป็นมงคลไปอย่างน้อยก็หนึ่งประการ

 

เหตุใดคนจึงมักไม่ชอบคำว่ากล่าวตักเตือน 

คนทั่วไปไม่ชอบฟังคำว่ากล่าวตักเตือนจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สาเหตุสำคัญก็เพราะถ้อยคำเหล่านั้นกระทบอัตตา อัตตาหรือตัวตนที่เรายึดถือ แต่สำหรับชาวพุทธที่เห็นโทษของอัตตา การที่อัตตาลีบเล็กลงนั้นแหละเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ ดังนั้นจึงไม่พรั่นพรึงต่อคำวิจารณ์ แม้ความไม่พอใจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ใส่ใจกับอาการดังกล่าว  

 

แง่ดีในการปวารณาหรือเสียงวิจารณ์ที่มีต่อผู้ถูกวิจารณ์ หรือผู้ปวารณา 

ข้อดีต่อตัวผู้ปวารณาเอง 

ผู้มีปัญญาย่อมตระหนักดีว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นนอกจากจะช่วยทรมานอัตตาให้คลายพยศลงแล้ว ยังช่วยให้เราเกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น

เพราะในคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นย่อมมีความจริงแฝงอยู่เสมอไม่มากก็น้อย แม้จะออกมาจากปากของผู้ประสงค์ร้ายก็ตาม แต่อาจเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเรา เช่น จุดอ่อนของเรา หรือข้อบกพร่องในงานของเรา  ถ้าเรารู้จักมองและแยกแยะความจริงออกจากความเท็จหรือความเข้าใจผิด เราก็จะได้เรียนรู้บางแง่มุมเกี่ยวกับตนเองที่อาจมองไม่เห็นมาก่อน เมื่อรู้แล้วแทนที่จะเสียใจหรือทดท้อ กลับนำมาปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตน ก็ย่อมเป็นผลดีแก่ตัวเราเอง 

 

ข้อดีต่อมุมมองในการรู้จักผู้วิจารณ์ 

นอกจากความจริงเกี่ยวกับตัวเราแล้ว คำวิพากษ์วิจารณ์ยังเปิดเผยให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับตัวผู้พูดเอง คนบางคนยิ่งว่ากล่าวเรามากเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นว่าเขาเป็นคนอย่างไร จริงใจหรือไม่ น่าคบเพียงใด ถ้าเรารู้จักฟังและแยกแยะก็จะเห็นความจริงว่าใครที่เป็นมิตร และใครที่ไม่ใช่มิตร และควรคบกับเขาแค่ไหน ใกล้แค่คืบหรือห่างเป็นวา

 

สุดท้ายคำวิพากษ์วิจารณ์ยังเปิดใจให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับโลกว่า นินทากับสรรเสริญเป็นของคู่กัน

คนเรามักเคลิบเคลิ้มจนตัวลอยเมื่อได้ยินคำชื่นชม แต่คำต่อว่าจะช่วยดึงเรากลับมาสู่ความจริง และตระหนักว่าธรรมดาของโลกนั้นมีทั้งขึ้นและลง บวกและลบ มีได้ก็มีเสีย มีสำเร็จก็มีล้มเหลว ดังนั้นเมื่อประสบกับสิ่งที่น่ายินดีก็อย่าหลงดีใจจนลืมตัว ให้ระลึกว่าสักวันหนึ่งเราอาจประสบสิ่งตรงข้าม ดังนั้นจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและเตรียมใจไว้เสมอ 

 

จะว่าไปแล้วการปวารณาดังกล่าวไม่ควรเป็นเรื่องของสงฆ์เท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็ควรกระทำต่อกันเช่นกัน ดังนั้นจึงอย่าปล่อยให้ปวารณาเป็นแค่พิธีกรรม แต่ควรผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและชุมชน ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ชีวิตดีงามจึงจะเป็นอันหวังได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow