Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศัพท์เกี่ยวกับ TCAS ที่ ม. 6 ต้องรู้

Posted By Plook TCAS | 01 ส.ค. 61
25,222 Views

  Favorite

ศัพท์เกี่ยวกับ TCAS ที่ ม. 6 ต้องรู้ ศัพท์ภาษาที่เด็ก TCAS  เค้าคุยกัน ไม่รู้ได้แล้ว มีอะไรบ้าง


คำแรกเลย ไม่รู้จักไม่ได้

TCAS

ย่อมาจาก  Thai University Central Admission System อ่านว่า ที-แคส คือระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ระบบ TCAS มีทั้งหมด 5 รอบด้วยกัน หน่วยงานที่ดูแลและพัฒนา ระบบ TCAS คือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ที่เราเรียกกันว่า ทปอ. 
รอบที่ 1 Portfolio 
รอบที่ 2 โควตา มีการสอบ
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
รอบที่ 4 Admissions
รอบที่ 5 รับตรงอิสระ
น้อง ๆ สามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับ TCAS ได้ที่ tcas.cupt.net 

TCAS คือชื่อระบบรวมทั้งหมด ทั้งรับตรง/โควตาและแอดมิชชั่น 

 

GAT/PAT

คือข้อสอบวัดความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาชีพ คะแนนนำไปใช้เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัย จัดสอบโดย สทศ. 
GAT การทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป แบ่งเป็น 2 พาร์ท
พาร์ทที่ 1 ความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา 50 % หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GAT ไทย,  GATเชื่อมโยง 
พาร์ทที่ 2 ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ 50 % หรือที่เรียกว่า GAT อังกฤษ, GAT อิ้ง

PAT การทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ มี 7 ประเภท ได้แก่
PAT 1 คณิตศาสตร์
PAT 2 วิทยาศาสตร์
PAT 3 วิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 สถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 ศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 ภาษาต่างประเทศ
ภาษาต่างประเทศแบ่งย่อย ๆ อีก 7 ภาษา
PAT 7.1 ฝรั่งเศส
PAT 7.2 เยอรมัน
PAT 7.3 จีน
PAT 7.4 ญี่ปุ่น
PAT 7.5 อาหรับ
PAT 7.6 บาลี
PAT 7.7 เกาหลี

 

O-NET 

O-NET (Ordinary National Educational Test)  คือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ทดสอบความรู้ของน้อง ๆ ป. 6 ม. 3 และ ม. 6 เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษา และที่สำคัญสำหรับน้อง ๆ ม. 6 คะแนน O-NET ยังใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่ออีกด้วย จัดสอบโดย สทศ. 

O-NET ม. 6 มี 5 รายวิชา
01 ภาษาไทย
02 สังคมศึกษา
03 ภาษาอังกฤษ
04 คณิตศาสตร์
05 วิทยาศาสตร์

 

9 วิชาสามัญ 

การทดสอบ9 วิชาสามัญ เพื่อนำคะแนนที่ได้ใช้ในการยื่นเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาระบบ TCAS รอบต่าง ๆ จัดสอบโดย สทศ. 

9 วิชาสามัญ ประกอบไปด้วย 
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษา
- อังกฤษ 
- คณิตศาสตร์ 1
- คณิตศาสตร์ 2
- วิทยาศาสตร์ทั่วไป
- ฟิสิกส์
- เคมี 
- ชีววิทยา

ชื่อมันคือ วิชาสามัญ ที่เรียก 9 วิชาสามัญ เพราะมี 9 วิชา หากบางที่เรียก 7 วิชาสามัญ แปลว่าเค้าใช้ 7 วิชา 
 

GPAX

คือเกรดเฉลี่ยสะสมทุกวิชาที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตร
- เกรดเฉลี่ยสะสม 4 ภาคเรียน คือ ม. 4 และ ม. 5
- เกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียน คือ เกรด ม. 4, ม. 5 และ ม. 6 เทอม 1
- เกรดเฉลี่ยสะสม 6 ภาคเรียน คือ เกรด ม. 4, ม. 5 และ ม. 6

 

GPA

คือเกรดเฉลี่ยสะสมรายวิชาทั้งเทอม เช่น GPA วิทยาศาสตร์ หมายถึงรวมเฉพาะแค่วิชาวิทยาศาสตร์ จะรวมวิทย์ 4 เทอม หรือวิทย์ 6 เทอม ก็รวมมาเฉพาะวิทย์นะคะ

**เกรด GPAX, GPA พวกนี้ ทางโรงเรียน ทางอาจารย์ประจำชั้นของเรา รวมให้ ไปขออาจารย์ได้ค่ะ

 

กสพท

ย่อมาจาก กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ของกลุ่มคณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จากทุกสถาบันทั่วประเทศที่เข้าร่วม ถือเป็นช่องทางหลักของคนที่จะเข้าเรียนสายแพทย์ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกดังนี้ วิชาเฉพาะแพทย์ จัดสอบโดย กสพท, 9 วิชาสามัญ ใช้ทั้งหมด 7 วิชา, และคะแนน O-NET ต้องผ่านเกณฑ์ 60% 

 

โควตา/รับตรง

เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยหรือคณะเปิดรับสมัครนักศึกษาเอง เกณฑ์การคัดเลือกทางคณะ/มหาวิทยาลัยจำกำหนดเอง อย่างเช่น TCAS รอบที่ 1 – 2 ที่มหาวิทยาลัยเปิดรับเอง ยกเว้นรอบที่ 3 ที่จะสมัครผ่านระบบกลางของ ทปอ. 

 

แอดมิชชั่น

เป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เป็นระบบแอดมิชชั่นที่อยู่ภายใต้ระบบ TCAS อีกที  เป็นรอบหนึ่งของระบบ TCAS ซึ่งจะอยู่ในรอบที่ 4 เลือกสมัครได้ 4 สาขาวิชาแบบมีลำดับ สมัครและคัดเลือกโดย ทปอ. 

 

เคลียริงเฮาส์

เคลียริงเฮาส์ คือระบบที่ใช้ยืนยันสิทธิ์ ในคณะ/สาขาวิชาที่เราสอบติด โดยระบบ TCASทั้ง 5 รอบ จะมีการเคลียริงเฮาส์หลังการคัดเลือกเสร็จสิ้น น้อง ๆ มีสิทธิ์สอบติดได้หลายที่ แต่เลือกยืนยันสิทธิ์ได้ 1 ที่เท่านั้น หลังจากนั้นก็จะถูกส่งรายชื่อเพื่อตัดสิทธ์ในรอบต่อ ๆ ไป

 

เทียบเท่า

นักเรียนเทียบเท่า คือผู้ที่มีวุฒิการศึกษาเท่า ๆ กับวุฒิ ม. 6  เช่น ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือ การศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือ เทียบเกรดจากต่างประเทศ สิทธิ์ต่าง ๆ ของเด็กเทียบเท่าก็จะเท่า ม. 6 ทุกอย่าง สมัครสอบ TCAS ได้ สมัครสอบ O-NET, GAT/PAT 9, วิชาสามัญ ได้ เข้ามหาวิทยาลัยได้เหมือนเด็ก ม. 6

 

เด็กซิ่ว

คือ นิสิต นักศึกษา ที่มาสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีกรอบ โดยใช้วุฒิ ม. 6 หรือ เทียบเท่า ในการสมัคร ในกรณีที่เรียนอยู่ ปี 1 ไม่ต้องลาออก สอบติดก่อนแล้วค่อยไปลาออก กรณีปี 2 ขึ้นไป ต้องลาออกก่อน แล้วจึงมาสมัครสอบใหม่ได้ เด็กซิ่วสามารถสอบใหม่ได้ทุกรอบ แล้วแต่คุณสมบัติของแต่ละโครงการ คะแนน GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ ก็สามารถสอบใหม่ได้ 

 

ดรอปเรียน

เด็กบางกลุ่มที่เรียนจบ ม. 6 หรือเทียบเท่าแล้ว แต่ยังไม่ต่อมหาวิทยาลัยในปีนั้น รอสอบเข้าปีหน้า อย่างนั้นก็คือดรอปเรียนไว้ สิทธิ์ต่าง ๆ ในการเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังมีเหมือนเดิม ใช้วุฒิ ม. 6 หรือเทียบเท่า สมัครได้ 

 

ค่าน้ำหนัก

คือการแบ่งสัดส่วนองค์ประกอบในการคำนวณคะแนน วิชาละเท่าไหร่ ทำให้เราได้เห็นว่าเราควรเน้นทำคะแนนวิชาไหน

ตัวอย่าง 

คณะนิเทศศาสตร์ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ ค่าน้ำหนักในช่องไฮไลท์สีเหลือง ใช้คะแนน GAT 40%, PAT 1 60% รวมเป็น 100% เต็ม เลขเปอร์เซอร์เป็นตัวที่บอกว่าวิชานี้จะนำคะแนนไปคำนวณในสัดส่วนเท่าไหร่ อย่างในตัวอย่าง ค่าน้ำหนักของ PAT 1 เยอะกว่า GAT หมายความว่า สาขาวิชานี้เน้น PAT 1 ค่าน้ำหนักนั้น ได้คะแนนเท่าไหร่ก็มีสิทธิ์ยื่นสมัคร

 

เกณฑ์ขั้นต่ำ

คือคุณสมบัติที่น้องต้องทำคะแนนให้ผ่านเกณฑ์ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าที่กำหนด หากได้ต่ำกว่าที่กำหนดก็ถือไม่ผ่านคุณสมบัติ ทางมหาวิทยาลัยก็จะไม่รับพิจารณา

ตัวอย่าง 
คณะนิเทศศาสตร์ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ เกณฑ์ขั้นต่ำในช่องไฮไลท์สีแดง 85=40 คือ GAT ไม่ต่ำกว่า 40% ของคะแนนเต็ม, 71=25 คือ PAT 1 ไม่ต่ำกว่า 25% ของคะแนนเต็ม การคิดคะแนนขั้นต่ำ

GAT เต็ม 300 เกณฑ์ขั้นต่ำ 40% = ต้องได้ 120 คะแนนขึ้นไป
PAT 1 เต็ม 300 เกณฑ์ขั้นต่ำ 25% = ต้องได้ 75 คะแนนขึ้นไป

 

คะแนนสูง-ต่ำ

คือคะแนนของนักเรียนที่สอบติดในแต่ละสาขา คะแนนสูงสุดคือคะแนนของคนที่มีคะแนนสูงที่สุดของของสาขา คะแนนต่ำสุดคือคะแนนของคนสุดท้ายที่ติดในสาขานั้น 

เราจำเป็นต้องเช็คคะแนนสูงต่ำ เพื่อนำมาเทียบกับคะแนนตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสมัคร ในระบบ TCAS 

ไม่ใช่ทุกรอบที่จะประกาศคะแนนสูงต่ำให้นักเรียนได้ทราบ แค่มีรอบที่ 4 แอดมิชชั่น เท่านั้นที่ประกาศ เนื่องจากเป็นการเลือกแบบมีลำดับ การเทียบสถิติจึงเป็น คะแนนสูงต่ำในรอบที่ 4 นี้ น้อง ๆ สามารถเช็คได้ในเว็บไซต์ของ ทปอ. 

สำหรับในรอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน TCAS หากมีการเลือกแบบลำดับ ทางมหาวิทยาลัยก็จะต้องประกาศคะแนนสูงต่ำด้วยเช่นกัน

 

องค์ประกอบคะแนน

คือสัดส่วนการใช้คะแนนในการคัดเลือก อย่างเช่น รอบที่ 4 แอดมิชชั่น องค์ประกอบที่ใช้คือ GPAX หรือ เกรด 6 เทอม 20%, คะแนน O-NET 30% และคะแนน GAT/PAT 50% ซึ่งแต่ละคณะจะกำหนดสัดส่วนคะแนนไว้ไม่เท่ากัน 
ตัวอย่าง 

ทันตแพทยศาสตร์
GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% PAT 1 10% PAT 2 20%

เภสัชศาสตร์
GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% PAT 2 40 %

การกำหนดใช้คะแนนสอบวิชาต่าง ๆ เพื่อนำมาคัดเลือก เค้าจะเรียกว่า องค์ประกอบคะแนน

 

ระเบียบการสมัคร

เป็นรายละเอียดการเปิดรับสมัครทั้งหมด จะมีบอกคุณสมบัติ เกณฑ์การคัดเลือก เงื่อนไจ กำหนดการต่าง ๆ น้อง ๆ ที่ไม่ใส่ใจในการอ่านระเบียบการ อาจจะทำให้พลาดจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น รับเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่กำหนด, รับเฉพาะ ม. 6 ไม่รับเด็กซิ่ว, รับ ม. 6 และเทียบเท่า แต่ใช้คะแนนปีล่าสุดเท่านั้น อะไรแบบนี้

 

สทศ.

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ โดยที่หน้าที่ของสทศ. คือพัฒนาข้อสอบเพื่อวัดและประเมินมาตรฐานการศึกษา วัดความรู้ความสามารถของผู้เข้าสอบแต่ละคน สำหรับการสอบวัดผลในระดับชั้น ม. 6 นั้น คะแนนเพื่อนำไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS ด้วย  คะแนนที่จัดสอบโดย สทศ. คือ O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ การสมัครสอบวิชาเหล่านี้ น้อง ๆ ก็ต้องเข้าไปสมัครในเว็บไซต์ของ สทศ. www.niets.or.th

 

ทปอ. 

ย่อมาจาก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ดูแลและพัฒนาระบบ TCAS

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow