Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวทางคัดลายมือตามแบบตัวอักษรของกระทรวงศึกษาธิการ

Posted By Plook Teacher | 30 ม.ค. 61
377,809 Views

  Favorite

การที่จะสอนให้เด็กหนึ่งคนสามารถเขียนหนังสือให้สวยและสามารถรวมเป็นประโยคได้ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ขอเพียงแค่คุณครูหมั่นเอาใจใส่ฝึกฝนนักเรียนอยู่สม่ำเสมอ วันนี้เราจึงมีแนวทางคัดลายมือตามแบบตัวอักษรของกระทรวงศึกษาธิการ มาฝากกัน เพียงแค่ทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ เด็ก ๆ ที่โรงเรียนจะสามารถเขียนภาษาไทยได้สวยงาม มาลองนำไปปรับใช้กันค่ะ

 

จุดมุ่งหมายของการคัดลายมือ
        1. เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมือ ตา ให้คล่องแคล่วในการเขียน
        2. เพื่อเขียนตัวอักษรไทยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ อย่างประณีต สะอาดเป็นระเบียบ ชัดเจน รวดเร็ว และอ่านเข้าใจง่าย
        3. เพื่อให้เกิดความชำนาญจากการคัดไปสู่การเขียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
        5. เพื่อให้เกิดสมาธิการทำงาน มีวินัยในตนเอง รับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้สำเร็จ

 

ภาพ : shutterstock.com

 

ลักษณะการนั่งที่ถูกวิธี
ก่อนฝึกคัดลายมือต้องฝึกให้นักเรียนนั่งอย่างถูกวิธีก่อนฝึกคัดลายมือ ดังนี้
        1. นักเรียนต้องหันหน้าเข้าหาโต๊ะ การนั่งเอียงอาจทําให้หลังคด
        2. แขนทั้ง 2 ข้างวางอยูบนโต๊ะ ประมาณ 3 ใน 4 ของความยาวระหว่างศอกกับข้อมือพาดไว้กับขอบโต๊ะ หากไม่ทําเช่นนี้ อาจทําให้กระดูกสันหลังคด
        3. กระดาษต้องวางไว้หน้าผู้เขียน การวางกระดาษไม่ตรง ทําให้ผู้เขียนต้องเอียงคอ สายตาทํางานมาก อาจทําให้กระดูกสันหลังคด
        4. ส่วนล่างของกระดาษทํามุมกับขอบโต๊ะ 30 องศา
        5. แขนของมือที่เขียนต้องทํามุมที่เหมาะสมกับตัวอักษร ข้อศอกต้องไม่กางออกหรือแนบตัวมากเกินไป
        6.การวางมือ ฝ่ามือควํ่าลง มืองอ ทํามุม 45 องศากบข้อมือ นิ้วกลาง รองรับดินสอหรือปากกา นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจะประคองดินสอ หรือปากการ่วมกับนิ้วกลาง มือจะพักอยู่บนนิ้วนางและนิ้วก้อย
        7. จับดินสอหรือปากกาพอเหมาะ ไม่แน่นเกินไป นิ้วที่จับโค้งเล็กน้อย
        8. ในขณะที่คัดลายมือ แขน มือ และนิ้วมือจะต้องเคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กัน
        9. การเคลื่อนไหวของดินสอหรือปากกาในขณะที่คัดแบ่งออกเป็นหน่วย ๆ แต่ละหน่วยมีระยะ หยุดเป็นระยะ ไม่เคลื่อนไหวติดต่อกันโดยตลอด

 

ตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ได้้ดัดแปลงรูปแบบตัวอักษรของขุนสัมฤทธิ์วรรณกร เพื่อทำเป็นแบบฝึกหัดคัดลายมือสำหรับใช้กับนักเรียนโรงเรียนประถมทั้วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2520

 

สถาบันภาษาไทย

 

วิธีการคัดพยัญชนะไทยแบบหัวกลมตัวมน
        1. สัดส่วนของพยัญชนะ กำหนดเป็น 4 ส่วน ดังนี้

 

สถาบันภาษาไทย


        2. หัวกลมมีขนาด 1 ส่วน
        3. หัวของ ข ช เป็นหัวขมวดหยักหน้าบน และ ฅ ฆ ซ ฑ เป็นหัวหยัก - หัวโค้งหน้ามน
        4. เส้นที่ลากจากหัวตรงในแนวดิ่ง ยกเว้น ค ฅ จ ฐ ฒ ด ต ล ศ ส เป็นเส้นโค้งเฉียง
        5. เส้นบนโค้งมน มีขนาด 1 ส่วน
        6. เส้นล่างตรงแนวเดียวกับเส้นบรรทัด หรือเป็นเส้นโค้งเล็กน้อย
        7. หาง ป ฝ ฟ เป็นเส้นตรงยาวไม่เกิน 3 ส่วน
        8. หางอักษรอื่นเป็นเส้นโค้งหงาย ยาวไม่เกิน 3 ส่วน
        9. ส่วนล่างของ ฎ ฏ ฐ เลยตัวอักษรลงมา 2 ส่วน และกว้างเท่าตัวหลัง
        10. เชิญ ญ อยู่ในส่วนที่ 1 ล่าง และกว้างเท่าตัวหลัง
        11. ไส้ ษ อยู่ในส่วนที่ 2
        12. ขนาดของตัวอักษรโดยทั่วไปมีความกว้างเป็นครึ่งหนึ่งของความสูงไม่รวมหางและชิงยกเว้น ข ฃ ช ซ กว้างเป็นครึ่งหนึ่งของตัวอื่น ๆ และตัวอักษรที่เหมือน 2 ตัวติดกัน ได้แก่ ฌ ญ ฒ ณ ตัวหน้ากว้างครึ่งหนึ่งของความสูง ตัวหลังกว้างครึ่งหนึ่งของตัวหน้า
        13. สระ ไ- ใ- โ- สูงเลยตัวอักษรขึ้นไปไม่เกิน 3 ส่วน
        14. สระ -อุ -อู อยู่ใต้ตัวอักษร ไม่เกิน 3 ส่วน
        15. สระและเครื่องหมายบนทุกตัวอยู่ที่ส่วน 2 และ 3
        16. ส่วนขวาสุดของสระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายต่าง ๆ อยู่ตรงกับเส้นขวาสุดของพยัญชนะที่เกาะ ยกเว้นถ้าอยู่กับพยัญชนะที่มีหาง ได้แก่ ป ฝ ฟ ให้เขียนสระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายเยื้องมาข้างหน้าไม่ทับหางพยัญชนะ
        17. สระ อี ลากขีดลงแตะปลายสระ  - ิ - ี
        18. สระ - ื เขียนเหมือนสระ - ี เพิ่ม 1 ขีดด้านใน - ี - ื
        19. สระ - ื มีวรรณยุกต์ให้ใส่วรรณยุกต์ไว้ตรงกลาง - ื อ่ เช่น อื่อ


ขั้นตอนการฝึกคัดและเขียน
        1. ก่อนฝึกเขียนให้นักเรียนฝึกเขียนเส้นพื้นฐาน 10 แบบ จนชำนาญ
        2. ครูสาธิตการเขียนอักษรไทยตัวเต็มบรรทัดทีละตัวลงบนกระดานดำ
        3. นักเรียนทุกคนคัดและเขียนตัวอักษรแต่ละตัวตามครู ตัวละ 1 หน้ากระดาษ ลงในแบบฝึกเขียน (แบบ ข) บรรทัดที่เป็นเส้นประใช้สำหรับเขียนหางตัวอักษร และเชิงตัวอักษร
        4. นักเรียนฝึกคัดและเขียนอักษรไทยทุกตัวในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 1) จนชำนาญ ครูผู้สอนฝึกให้นักเรียนเขียนตัวอักษรไทยแต่ละตัว ๆ ละ 1 หน้ากระดาษ ลงในแบบฝึกเขียน(แบบ ข 2) ครูผู้สอนสังเกตพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนว่า อักษรแต่ละตัวนั้น นักเรียนเว้นช่องไฟถูกต้องหรือไม่ และคัดตัวละกี่ครั้งจึงจะสวยงามถูกต้อง
        5. เมื่อนักเรียนฝึกคัดและเขียนในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 2) จนชำนาญแล้ว ครูผู้สอนฝึกให้นักเรียนเขียนตัวอักษรเรียงตามลำดับทุกตัวลงในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 3) โดยครูสังเกตการณ์เว้นช่องไฟความเป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม ถูกตามหลักเกณฑ์การเขียน และประเมินผลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ของนักเรียนทุกคนเป็นเวลา 1 เดือน
        6. เมื่อนักเรียนฝึกคัดและเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 2) จนชำนาญแล้วให้ฝึกเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 2)
        7. เมื่อนักเรียนฝึกคัดและเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 2) จนชำนาญแล้วให้ฝึกเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 3) 3/1
        8. เมื่อนักเรียนฝึกคัดและเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 3) จนชำนาญแล้วให้ฝึกเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 4)
        9. เมื่อนักเรียนฝึกคัดและเขียนผสมอักษรเป็นข้อความในแบบฝึกเขียน (แบบ ข 4) จนชำนาญแล้วให้เขียนผสมอักษรเป็นข้อความในสมุดคัดไทยบรรทัดปกติ
        10. ให้การบ้านนักเรียนคัดลายมือทุกวัน วันละ 10 บรรทัด
        11. ประกวดคัดลายลายมือในชั้นเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
        12. ให้ครูผู้สอนจัดเก็บแบบฝึกการคัดและเขียนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการฝึกจนประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นหลักฐานในการเปรียบเทียบพัฒนาการทักษะด้านการัดและการเขียน และเป็นหลักฐานในการนิเทศติดตามของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

 

หลักการเขียนเส้นพื้นฐานตัวพยัญชนะไทย

        1. การเขียนเส้นดิ่ง

แบบฝึกหัดเขียนเส้นดิ่ง

       

        2. การเขียนเส้นตั้ง

แบบฝึกหัดเขียนเส้นตั้ง

 

        3. การเขียนเส้นทแยงลง

แบบฝึกหัดเขียนเส้นทแยงลง

 

        4. การเขียนเส้นทแยงขึ้น

แบบฝึกหัดเขียนเส้นทแยงขึ้น

 

        5. การเขียนเส้นทแยงขึ้นและทแยงลงต่อเนื่องกัน

แบบฝึกหัดเขียนเส้นทแยงขึ้นและทแยงลงต่อเนื่องกัน

 

        6. การเขียนเส้นแนวนอน

แบบฝึกหัดเขียนเส้นแนวนอน

 

        7. การเขียนเส้นโค้งคว่ำ

 

แบบฝึกหัดเขียนเส้นโค้งคว่ำ

 

        8. การเขียนเส้นโค้งหงาย

แบบฝึกหัดเขียนเส้นโค้งหงาย

 

        9. การเขียนเส้นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา

แบบฝึกหัดเขียนเส้นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา

 

        10. การเขียนเส้นวงกลมตามเข็มนาฬิกา

แบบฝึกหัดการเขียนเส้นวงกลมตามเข็มนาฬิกา

 

ดาวน์โหลด : ฟอนต์จากกระทรวงศึกษาธิการ คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด : รวมใบงานคัดไทย คลิกที่นี่ 

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow