Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความรู้จัก ขั้นตอน พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร

Posted By มหัทธโน | 27 ต.ค. 60
8,429 Views

  Favorite

พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร

การเก็บพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร เป็นพิธีที่กระทำขึ้นหลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว โดยประกอบพิธี ณ พระจิตกาธาน เมื่อเสด็จขึ้นพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระบรมราชสรีรางคาร ทรงสรงพระบรมอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์ เจ้าพนักงานแจงพระบรมอัฐิ โดยเชิญพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคาร เรียงเป็นลำดับให้มีลักษณะเหมือนรูปคน หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก จากนั้นหันพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารที่แจงไว้มาทางทิศตะวันออกเรียกว่า แปรพระบรมอัฐิ แล้วจึงถวายคลุมด้วยผ้า

 

ภาพ : กระปุกดอทคอม สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/162595 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 60



การเก็บพระบรมอัฐิจะเลือกเก็บแต่ละส่วนของพระสรีระอย่างละเล็กน้อย โดยจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตขึ้นรับพระราชทานพระบรมอัฐิไปสักการบูชา แล้วทรงประมวลพระบรมอัฐิบรรจุพระโกศ หลังจากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ ไปยังพระที่นั่งทรงธรรม ทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย

ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญลงบรรจุในพระผอบโลหะปิดทองประดิษฐานบนพานทองสองชั้นคลุมผ้าตาดพักรอไว้บนพระเมรุมาศ

หมายเหตุ : พระบรมราชสรีรางคาร คือ เถ้าถ่านที่ปะปนกับพระบรมอัฐิชิ้นเล็กชิ้นน้อยของพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระบรมราชกุมารีที่เผาแล้ว ซึ่งอาจเรียกว่า พระสรีรางคาร ตามลำดับพระอิสริยยศของพระบรมวงศ์ และเรียกว่า อังคารสำหรับสามัญชน

 

สถานที่บรรจุพระบรมอัฐิ

พระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ไทยจะประดิษฐานอยู่สองที่ คือ
1. หอพระธาตุมณเฑียร 
เป็นหอประดิษฐานพระบรมอัฐิ ตั้งอยู่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ จะมีพระวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 3 พระองค์รวมไปถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย โดยพระวิมานกลางจะเป็นพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 รวมไปถึงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกผู้เป็นพระราชบิดาในรัชกาลที่ 1

2. พระวิมานทองกลาง 
พระที่นั่งองค์กลางชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 8 รวมไปถึงพระมเหสีตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขึ้นมาทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระบรมราชวงศ์จักรีชั้นสูงหลายพระองค์ ส่วนในส่วนพระที่นั่งจักรีฯ  นั้น ทางด้านชั้นบนพระที่นั่งองค์ตะวันตกก็เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระอัฐิของพระบรมวงศ์บางพระองค์อีกด้วย

โดยพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประมวลลงในพระโกศทองคำลงยา อัญเชิญจากพระเมรุมาศ มาประดิษฐานบนบุษบกแว่นฟ้า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

สถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร  

การบรรจุพระบรมราชสรีรางคารเป็นขั้นตอนสุดท้าย ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชบุพการี และสมเด็จพระบรมราชินี


เกิดขึ้นครั้งแรกในคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมการลอยพระบรมราชสรีรางคาร และโปรดให้เชิญพระบรมราชสรีรางคารมาประดิษฐาน ณ รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราชภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จึงกลายเป็นธรรมเนียมในการเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระสรีรางคารไปประดิษฐานในสุสานหลวงหรือสถานที่ควรแทน โดยเจ้าหนักงานจะเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากสถานที่ที่พักไว้ แล้วจั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศไปยังสถานที่บรรจุอันเหมาะสม

รายชื่อวัดที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 

รัชกาลที่ 1 ประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร 
รัชกาลที่ 2 ประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร
รัชกาลที่ 3 ประดิษฐาน ณ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 4 ประดิษฐาน ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร 
รัชกาลที่ 5 ประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 6 ประดิษฐาน ไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และวัดบวรนิเวศวิหาร
รัชกาลที่ 7 ประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
รัชกาลที่ 8 ประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรวิหาร

รัชกาลที่ 9 ประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

 

ผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร

สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้ออกแบบผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่  เพื่อใช้ทรงพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานในพระถ้ำศิลาที่ฐานชุกชีพระประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิต มหาสีมาราม และที่ฐานองค์พระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
 

ผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ในหลวง รัชกาลที่ 9
ภาพ : กระปุกดอมคอม สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/162595 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 60

 

ผอบองค์นี้แบ่งส่วนประกอบเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1) ส่วนที่เป็นฐาน
ซึ่งส่วนฐานจะมีชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำรองรับชั้นลูกแก้ว มีลวดและท้องไม้สลับคั่นระหว่างชั้นลูกแก้ว โดยลวดลายลูกแก้วหรือชั้นเกี้ยวตามโบราณราชประเพณีจะใช้ออกแบบเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในลวดลายประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ 

2) ส่วนตัวผอบ
ตัวผอบเป็นทรงดอกบัวบานมีลักษณะทรงกลม ลักษณะพิเศษของผอบองค์ใหม่มีกลีบบัวขนาดเล็กรองรับสลับกันไป 

ส่วนกลีบบัวของผอบมีจะขนาดเล็กกว่าองค์ เดิมและมีเส้นเดินรอบกลีบด้านในกลีบเพื่อให้เกิดน้ำหนักและมิติของงานสลักดุน ตรงกลางกลีบบัวจะทำเป็นสันขึ้นมา เมื่อเวลาแสงตกกระทบจะทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงาม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว 

3) ส่วนที่เป็นฝา
ส่วนฝาเป็นลักษณะยอดทรงมัณฑ์ มีชั้นหน้ากระดานถัดขึ้นไป ถัดขึ้นมาใช้เป็น ชั้นบัวคว่ำ 3 ชั้น ลักษณะบัวคว่ำชั้นแรกจะมีขนาดใหญ่ ชั้นถัดไปจะลดหลั่นไปตามสัดส่วนและรูปทรง โดยจะมีการสลักดุนเหมือนกับกลีบบัวที่ตัวผอบเพื่อให้เกิดมิติของแสงเงาเพื่อให้เกิดความสวยงาม ถัดจากชั้นกลีบบัวจะเป็นปลียอด และชั้นบนสุดจะเป็นลูกแก้ว หรือเม็ดน้ำค้าง โดยมีรูปแบบทรงกลมและส่วนปลายจะเรียวแหลมเล็กน้อยลักษณะเป็นดอกบัวตูม

ผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารใช้วัสดุโลหะเนื้อเงินมาทำการขึ้นรูปเทคนิควิธีการเกี่ยวกับการจัดสร้างพระโกศทองคำ เป็นวิธีการแบบช่างโบราณโดยการกลึงหุ่นแบ่งเป็นส่วนฐาน ส่วนตัวผอบ และส่วนฝาผอบ หลังจากกลึงเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคน เมื่อได้พิมพ์ยางซิลิโคนแล้ว จะนำเรซิ่นมาเทในพิมพ์ยางซิลิโคน เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะได้หุ่นเพื่อการเคาะขึ้นรูป โดยนำโลหะเงินมาหลอมรีด ให้เป็นรูปทรงส่วนฐานตัวผอบและฝา จากนั้นช่างจะนำมาสลักดุนตามแบบและลวดลายที่ออกแบบไว้จนสำเร็จออกมา แล้วจึงนำแต่ละส่วนประกอบเข้าด้วยกันจนสำเร็จเป็นผอบเชิญพระบรมราชสรีรางคาร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow