Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Home > Dhamma >

การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย

Posted By Plookpedia | 11 พ.ค. 60
9,165 Views

  Favorite

การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย

      ปริศนาคำทายสามารถจัดหมวดหมู่ด้วยเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ การแบ่งโดยใช้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์ เช่น แบ่งปริศนาของไทยออกเป็น ปริศนาคำทายภาคกลาง ปริศนาคำทายภาคเหนือ ปริศนาคำทายภาคอีสาน และปริศนาคำทายภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์ที่นิยมใช้ในการจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทายอีก ๒ อย่าง คือ เนื้อหาและรูปแบบ 

การจัดหมวดหมู่ตามเนื้อหา

      เนื้อหาของปริศนาคำทายสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดประเภทปริศนาคำทายได้ เนื้อหาของปริศนาคำทายก็คือสิ่งที่ปริศนากล่าวถึงดังที่ปรากฏอยู่ในคำเฉลย เนื้อหาปริศนาคำทายของไทยมีหลากหลาย อาทิ เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น พืช สัตว์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น ร่างกายมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เนื้อหาเกี่ยวกับพืช

  • อะไรเอ่ยต้นเท่าขาใบวาเดียว (เฉลย : ต้นกล้วย)
  • อะไรเอ่ยเรือนปั้นหยาสีเขียว เด็กดำนอนกางมุ้งขาว (เฉลย : น้อยหน่า)

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

เนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์

  • อะไรเอ่ยสี่ตีนยันพื้นธรณี สองมือขยี้หน้าผาก มีลูกมากไม่เหมือนแม่ (เฉลย : แมลงวัน)
  • อะไรเอ่ยสองขาเดินมาหลังคามุงจาก (เฉลย : ไก่)

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

เนื้อหาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ

  • อะไรเอ่ยเช้า ๆ เข้าถ้ำค่ำออกมาเรียงราย  (เฉลย : ดาว)
  • ไอ้ไหรหาสูงเทียมเขาเขียว กินคนเดียว เมาหมดทั้งเมือง (เฉลย : ราหูอมจันทร์)

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

เนื้อหาเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์

  • อะไรเอ่ยกอไผ่เต็มกอหาข้อไม่พบ (เฉลย :  ผม)
  • อะไรเอ่ยอยู่ในวังท่านไม่สั่งไม่ออกมา (เฉลย :  น้ำมูก)

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

เนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้

  • อะไรเอ่ยนกกะปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย (เฉลย : ตะเกียงน้ำมัน)
  • อะไรเอ่ยตัวยาวเกือบวามีฟันซี่เดียว กินดินเป็นอาจิณ (เฉลย : จอบ)

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

การจัดหมวดหมู่ตามรูปแบบ

      นอกเหนือจากการจัดหมวดหมู่ของปริศนาคำทายตามเนื้อหาแล้วปริศนาคำทายสามารถจัดกลุ่มได้โดยอาศัยรูปแบบเป็นเกณฑ์หากพิจารณาตามรูปแบบจะพบว่าปริศนาคำทายสามารถจัดแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ๒ กลุ่ม โดยพิจารณาจากลักษณะตัวปริศนา คือ ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำและปริศนาที่ไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำ ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำสามารถแยกย่อยได้เป็นปริศนาร้อยแก้วหรือที่มักเรียกกันว่า "ปริศนาอะไรเอ่ย" และปริศนาร้อยกรอง เช่น โคลงทาย ผะหมี ส่วนปริศนาที่ไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำนั้น ได้แก่ ปริศนารูปภาพ  

ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำ

ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำนั้นสามารถแยกย่อยได้เป็น ๒ ประเภท ตามลักษณะของถ้อยคำที่ผูกเป็นปริศนา คือ ปริศนาร้อยแก้วและปริศนาร้อยกรอง

๑) ปริศนาร้อยแก้ว
      ปริศนาร้อยแก้ว หมายถึง ปริศนาที่ผูกขึ้นด้วยภาษาร้อยแก้วธรรมดา ในบางครั้งอาจมีเสียงสัมผัสคล้องจองกันบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนข้อบังคับของการแต่งคำประพันธ์อย่างปริศนาร้อยกรอง ปริศนาร้อยแก้วโดยทั่วไปมักมีคำขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" ต่อมาจึงมีผู้เรียกปริศนาร้อยแก้วที่มีคำขึ้นต้นนี้ว่า "ปริศนาอะไรเอ่ย" ตัวอย่างเช่น 

  • อะไรเอ่ย  สี่ตีนเดินมา  หลังคามุงกระเบื้อง (เฉลย : เต่า)
  • อะไรเอ่ย  ต้นเท่าลำเรือ  ใบห่อเกลือไม่มิด (เฉลย : ต้นมะขาม)

      จะเห็นว่ามีส่วนที่บรรยายปริศนานั้นเป็นภาษาร้อยแก้วธรรมดาเข้าใจง่ายแต่มีเสียงสัมผัสสระระหว่างคำว่า "มา" กับ "คา" และ "เรือ" กับ "เกลือ" ตามลำดับ นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้วปริศนา อักษรไขว้ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มปริศนาร้อยแก้วได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะคำบอกใบ้ในปริศนาอักษรไขว้ มักเป็นภาษาร้อยแก้ว 

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

๒) ปริศนาร้อยกรอง

      ปริศนาร้อยกรอง หมายถึง ปริศนาที่ตัวปริศนาเขียนด้วยคำประพันธ์ไทยรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ปริศนาร้อยกรองที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี ๓ กลุ่มด้วยกันคือ ผะหมี โคลงทาย และโจ๊ก
ผะหมี
      "ผะหมี" เป็นคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาจีนซึ่งแสดงให้เห็นต้นกำเนิดของการละเล่นชนิดนี้ว่ามาจากวัฒนธรรมจีนคำว่า "ผะ" แปลว่า ตี ส่วนคำว่า "หมี" แปลว่า ปริศนา รวมความแล้วผะหมีหมายถึงการตีความปริศนาเพื่อไขไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง ปริศนาผะหมีมีต้นกำเนิดมาจากปริศนา "เต็งหมี" หรือปริศนาโคมไฟในวัฒนธรรมไทยคำว่า "ผะหมี" ใช้หมายถึงทั้งตัวบทปริศนาและวิธีการเล่นทายปริศนาในขณะที่ในวัฒนธรรมจีนนั้นจะใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าปริศนาผะหมีของไทยนั้นเป็นการประยุกต์รูปแบบการเล่นตอบปริศนาของจีนให้เข้ากับวัฒนธรรมทางภาษาของไทย กล่าวคือยังคงใช้วิธีการปฏิบัติแบบจีนคือมีการเขียนปริศนาคำทายลงบนแผ่นกระดาษเพื่อติดให้ผู้ชมแข่งกันทายและมีการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ที่สามารถตอบได้แต่แทนที่จะเขียนปริศนาเป็นภาษาจีนด้วยคำประพันธ์แบบจีนคนไทยก็ปรับการละเล่นดังกล่าวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยโดยแต่งบทปริศนาด้วยคำประพันธ์ไทยในรูปแบบต่าง ๆ และนำลักษณะเด่นของคำในภาษาไทยมาเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างตัวคำตอบของปริศนา

 

ปริศนาคำทายของไทย
การเล่นทายโจ๊กปริศนาที่ จ.ชลบุรี


      ปริศนาผะหมีของไทยแต่ละบทจะมีคำตอบเป็นชุด ส่วนใหญ่จำนวนคำตอบมักสอดคล้องกับจำนวนวรรคของคำประพันธ์ที่นำมาใช้แต่งปริศนา กล่าวคือหากปริศนาแต่งด้วยคำประพันธ์ ๑ บท ซึ่งมี ๔ วรรค ชุดคำเฉลยก็จะประกอบด้วยคำเฉลย ๔ คำเฉลย คำเฉลยเหล่านี้มีลักษณะเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันเป็นต้นว่า ขึ้นต้นด้วยพยางค์หรือคำเดียวกันดังในตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้  
ปริศนาบทนี้แต่งด้วยกลอนสักวาและคำเฉลยทั้งหมดขึ้นต้นด้วยคำว่า "ชัก"


สักวาท่าละครชนิดหนึ่ง  (ชักแป้งผัดหน้า)
การเล่นดึงกันไปมาน่าสนุก  (ชักเย่อ)
เปิดน้ำขับล้างได้หลังถ่ายทุกข์  (ชักโครก)
อาการกระตุกตาตั้งทั้งดิ้นงอ  (ชักดิ้นชักงอ)
ประเพณีแบบลบองของภาคใต้  (ชักพระ)
เป็นหนี้ไว้แล้วไม่ยอมจ่ายคืนหนอ  (ชักดาบ)
ทำโอ้เอ้อืดอาดให้ญาติรอ  (ชักช้า)
สำนวนส่อบงการสั่งเบื้องหลังเอย (ชักใย)
  (สามารถ  ศักดิ์เจริญ ๒๕๔๓ ข : ๘๐)


นอกจากนี้แล้วลักษณะเด่นอื่น ๆ ของชุดคำเฉลย ได้แก่ คำเฉลยที่ลงท้ายด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน เช่น ราคี โยคี อัคคี สามัคคี คำเฉลยเป็นคำผัน เช่น ขา ข่า ข้า หรือเป็นคำผวนดังตัวอย่างต่อไปนี้


สาว หนึ่งบริสุทธิ์แล้วสะอาดตา 
(สาว-ขี ผวนได้เป็น  สีขาว)
สาว หนึ่งทั่วกายา  จุดแต้ม 
(สาว-เดือ ผวนได้เป็น  เสือดาว)
สาว หนึ่งวากย์วาจา  กร้าวหยาบ 
(สาว-หาม  ผวนได้เป็น  สามหาว)
สาว  หนึ่งยามยลแย้ม  เบิ่งได้ไกลตา 
(สาว-ตา-ยาย  ผวนได้เป็น  สายตายาว)
  (สามารถ  ศักดิ์เจริญ ๒๕๔๓ ก : ๒) 


      ปริศนาบทนี้แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพมีลักษณะเด่นคือคำเฉลยขึ้นต้นด้วยพยางค์เดียวกันและต้อง "ผวนคำ" หรือสลับเสียงสระและพยัญชนะท้ายของพยางค์ในคำจึงจะได้คำเฉลยที่แท้จริงของปริศนาจากตัวอย่างปริศนาทั้งสองบทที่ยกมามีข้อสังเกตว่าจำนวนพยางค์ของคำเฉลยนั้นอาจไม่เท่ากันและบางส่วนของคำเฉลยอาจปรากฏอยู่ในตัวปริศนา เช่น มีคำว่า "ดิ้น" และ "งอ" ในปริศนาวรรคที่คำตอบคือ "ชักดิ้นชักงอ" และมีคำว่า "ตา" ในปริศนาวรรคที่คำเฉลยคือ "สาวตายาย" ซึ่งต้องผวนเป็น "สายตายาว" ลักษณะทั้งสองประการนี้ไม่พบในปริศนาร้อยกรองที่เรียกว่า "โจ๊ก"
โคลงทาย
      โคลงทาย คือ ปริศนาที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลง โคลงที่เป็นคำถามเรียกว่า "โคลงทาย" และโคลงที่เป็นคำเฉลยเรียกว่า "โคลงแก้" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าการเล่นโคลงทายเริ่มมีขึ้นเมื่อใดแต่คงจะมีมาแล้วก่อนการก่อตั้งหอพระสมุดวชิรญาณในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพ.ศ. ๒๔๒๙ คณะกรรมการหอพระสมุดฯ ได้นำโคลงทายมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วชิรญาณสัปดาห์ฉบับละ ๒ บทและเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเขียนโคลงแก้ส่งเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ต่อไปนี้คือตัวอย่างหนึ่งของโคลงทายและโคลงแก้  


      (โคลงทาย)  
สามชายแนบสนิทด้วย   นารี

   ใช่บุตรใช่สามี          ร่วมท้อง

      เข็ญใจไพร่ผู้ดี          มีทั่ว กันนา
             บุรุษใดแนบน้อง       ช่วยชี้เฉลยความ


                 (โคลงแก้)        
สามชายซึ่งแนบน้อง     นารี
อันออกบอกวาที          ที่ตั้ง
                   ใช่ชายชาติชาตรี          ตรงเหมาะ  แล้วพ่อ
                     ชายพกชายสะไบทั้ง    อีกไซร้ชายกระเบน    
               (วิภา สิริสวัสดิ์  ๒๕๒๖ : ๒๔) 


      ลักษณะคำเฉลยของโคลงทายบทนี้คล้ายคลึงกับผะหมีคือขึ้นต้นด้วยคำว่า "ชาย" เหมือนกัน ได้แก่ ชายพก ชายสไบ และชายกระเบน อย่างไรก็ตามโครงสร้างของโคลงทายต่างจากผะหมีในแง่ที่คำเฉลยแต่ละคำนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับปริศนาวรรคใดวรรคหนึ่งโดยเฉพาะเหมือนอย่างผะหมี นอกจากนี้โคลงทายต้องแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงเพียงอย่างเดียวและในการทายนั้นจะต้องทายโดยแต่งเป็นโคลงเช่นกันโดยโคลงทายบางบทอาจจะมุ่งถามปัญหาที่เป็นความรู้ทั่วไปและต้องการคำเฉลยเพียงคำเฉลยเดียว
โจ๊ก

      โจ๊กเป็นศัพท์ที่ใช้กันในแถบจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ เช่น จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทราเพื่อเรียกปริศนาร้อยกรองชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะโดยรวมคล้ายปริศนาผะหมี ความเป็นมาของการเรียกปริศนาชนิดนี้ว่า "โจ๊ก" นั้นมีการสันนิษฐานกันไว้หลายแนวทางแต่ที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือคำอธิบายของ อธึก  สวัสดีมงคล ผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของจังหวัดชลบุรีซึ่งได้อธิบายไว้ว่า คำว่า "โจ๊ก" มาจากคำว่า "โจ๊กเกอร์" (joker) ซึ่งหมายถึงตัวตลก มูลเหตุมีอยู่ว่าในสมัยของพระครูวุฒิกรโกศลซึ่งเป็นนักคิดปริศนาอันดับหนึ่งของจังหวัดชลบุรีได้มีการจัดทายปริศนาร้อยกรองซึ่งเดิมในสมัยนั้นเรียกว่า การทายปัญหากวีหรือการทายปริศนากวีในการนี้มีผู้ที่ช่วยทำหน้าที่ปลดแผ่นปริศนาและแจกของรางวัลคนหนึ่งซึ่งชอบแต่งตัวให้ดูตลกและชอบทำท่าทางหยอกล้อกับคนทาย คนทายจึงเรียกผู้ช่วยคนนี้ว่า "ตัวโจ๊ก" ต่อมาตัวโจ๊กนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเล่นทายปริศนาร้อยกรอง เมื่อชาวบ้านจะไปดูหรือไปร่วมเล่นทายปริศนาดังกล่าวก็มักจะพูดสั้น ๆ ว่า "ไปดูโจ๊ก" หรือ "ไปทายโจ๊ก"

 

ปริศนาคำทายของไทย
การเล่นทายโจ๊กปริศนาในงานบุญกลางบ้าน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

 

      กล่าวกันว่าโจ๊กมีพัฒนาการมาจากผะหมีและโคลงทายตามคำบอกเล่าของพระพิมลธรรม (ชอบ  อนุจารีเถระ) ราชบัณฑิตซึ่งเป็นชาวชลบุรีว่าการเล่นทายปริศนาดังกล่าวในจังหวัดชลบุรีมีมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ ในระยะแรก ๆ การเล่นทายโจ๊กมีลักษณะคล้ายกับการเล่นทายปริศนาผะหมี อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมากลุ่มนักคิดปริศนาหรือ "นายโจ๊ก" ในนาม "ชมรมโจ๊กพนัสนิคม"๑ ได้ร่วมกันจัดระบบและวางรูปแบบของโจ๊กออกเป็น ๙ ประเภท ตามลักษณะเด่นของชุดคำตอบที่เรียกกันว่า "ธง" หรือ "ธงคำตอบ" นอกจากนี้ยังมีปริศนาอีกประเภทคือ "โจ๊กภาพ" ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ตัวปริศนาจะเป็นรูปภาพ ต่อไปนี้เป็นการจัดประเภทโจ๊กปริศนาตามลักษณะเด่นของชุดคำเฉลย    
      ๑) โจ๊กพ้องคำเดี่ยว คือ ปริศนาที่คำเฉลยเป็นคำพยางค์เดียวและมีการพ้องเสียงซึ่งอาจจะเป็นเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ และ/หรือเสียงพยัญชนะท้าย เช่น จน จีน จาน เจียน  
      ๒) โจ๊กพ้องคำหน้า คือ ปริศนาที่คำเฉลยจะขึ้นต้นด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน เช่น น้ำหมึก น้ำหมาก น้ำมัน น้ำมนต์ 
      ๓) โจ๊กพ้องคำหลัง คือ ปริศนาที่คำเฉลยจะลงท้ายด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน เช่น หลังคา คงคา หญ้าคา ขื่อคา 
      ๔) โจ๊กพ้องคำกลาง มีลักษณะเด่นคือคำเฉลยจะมีพยางค์กลางหรือคำกลางพ้องกัน เช่น หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ งูสามเหลี่ยม เขาสามมุข 
      ๕) โจ๊กคำผัน  ส่วนใหญ่มักจะมีคำเฉลย ๓ คำเฉลย คำเฉลยทั้งสามเป็นการผันคำตามรูปเขียน ได้แก่ รูปสามัญ เอก และโท เช่น เสือ เสื่อ เสื้อ
      ๖) โจ๊กคำผวน มีลักษณะสำคัญคือคำเฉลยจะขึ้นต้นด้วยพยางค์เดียวกันและจะต้องมีการผวนคำหรือการสลับเสียงสระและพยัญชนะท้ายของพยางค์ ในคำเฉลยที่ได้ในชั้นแรกเพื่อนำไปสู่คำตอบที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น  ปายัน-ปัญญา ปานู-ปูนา ปากาก-ปากกา ปากีก-ปีกกา 
      ๗) โจ๊กสุภาษิตคำพังเพย เป็นปริศนาที่เมื่อนำคำเฉลยทั้งหมดมารวมกันแล้วจะได้เป็นสุภาษิตคำพังเพยหรือคำกล่าวที่ติดปาก ตัวอย่างเช่น น้ำ-นิ่ง-ไหล-ลึก และ ขี่- ช้าง-จับ-ตั๊กแตน 
      ๘) โจ๊กคำพันหลักแบบลูกโซ่ มีลักษณะเด่นคือพยางค์ท้ายของคำเฉลยที่นำหน้าจะเป็นคำเดียวกับพยางค์หน้าของคำเฉลยที่ตามมา ทำให้ชุดคำเฉลยมีความเกี่ยวเนื่องกันคล้ายกับลูกโซ่ ตัวอย่างเช่น  เงินเดือน - เดือนยี่ - ยี่ห้อ - ห้อเลือด และ พ่อขุน - ขุนแผน - แผนที่ - ที่รัก
      ๙) โจ๊กคำตัดคำต่อ เป็นปริศนาที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มและลดรูปพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ของคำเฉลยในชุดคำเฉลย ซึ่งนำไปสู่คำที่มีความหมายใหม่ เช่น ขนม-ขน-นม-ขม 
      ในการตั้งปริศนาที่เรียกว่า "โจ๊ก" นี้จะต้องไม่มีคำหรือพยางค์ของคำเฉลยปรากฏอยู่ในตัวปริศนาซึ่งศัพท์ท้องถิ่นเรียกว่าจะไม่มีการ "ทับบาท" และได้เพิ่มกฎเกณฑ์ในเรื่องความประณีตในการสร้าง "ธงคำตอบ" โดยเพิ่มข้อบังคับให้ธงคำตอบต้องมีจำนวนพยางค์เท่ากันและในกรณีที่คำเฉลยมีมากกว่า ๑ พยางค์ มักเพิ่มลักษณะการสัมผัสอักษรเข้าไปด้วยดังในตัวอย่างนี้ 


ขงเบ้งเพ่งชอบดู            (ดวงดาว)
  ยักษ์ราหูจู่ชอบอม           (ดวงเดือน)

รวยล้นคนชอบชม         (ดวงดี)
สมมือคนดลชอบคิด        (ดวงแด)
        (ประสิทธิ์   ประสิว)


      โจ๊กปริศนาบทนี้แต่งด้วยคำประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑ คำเฉลยขึ้นต้นด้วยคำเดียวกันหรือเรียกว่าโจ๊กพ้องคำหน้า ลักษณะพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปคือนอกจากคำเฉลยจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดวง" เหมือนกันทั้งหมดเหมือนอย่างในปริศนาผะหมีแล้ว คำเฉลยในชุดนี้มีจำนวนพยางค์เท่ากันทั้งหมดคือ ๒ พยางค์ และพยางค์ที่ ๒ ของคำตอบยังขึ้นต้นด้วยเสียงพยัญชนะต้นเดียวกัน คือ เสียง /ด/  ดังนั้น คำเฉลยที่ ๒ จึงเป็น "ดวงเดือน" แทนที่จะเป็น "ดวงจันทร์" และคำเฉลยสุดท้ายจึงเป็น "ดวงแด" แทนที่จะเป็น "ดวงใจ" ลักษณะข้อบังคับต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ทำให้ "โจ๊ก" มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจาก "ผะหมี"

ปริศนาที่ไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำ

      ปริศนาบางอย่างนั้นตัวปริศนาไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำผู้สร้างปริศนาอาจสื่อปริศนาด้วยสิ่งอื่น ได้แก่ วัตถุสิ่งของ ท่าทาง และรูปภาพ ปริศนาที่สื่อด้วยรูปภาพถือว่าเป็นกลุ่มที่พบเป็นจำนวนมากในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับปริศนาท่าทางและปริศนาสิ่งของนั้นมีอยู่จำกัดมาก ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะปริศนารูปภาพ 

 

ปริศนาคำทายของไทย
โจ๊กภาพ "กุมภกรรณ" ของเสนีย์  ผดุงมาตรวรกุล

 

      ภาพปริศนานี้เป็นภาพหม้อน้ำและในหม้อน้ำมีปืน ปริศนานี้ถามว่าภาพดังกล่าวนี้หมายถึงใครคำเฉลยคือ "กุมภกรรณ"ตัวละครในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นน้องชายของทศกัณฐ์ ภาพหม้อน้ำนั้นสื่อคำว่า "กุมภะ"  ซึ่งแปลว่า "หม้อน้ำ" ส่วนภาพปืนนั้นตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "gun" ซึ่งอ่านออกเสียงว่า "กัน" เมื่อออกเสียงรวมกันจึงได้เป็นคำว่า "กุมภะ-กัน" เสียงอ่านนี้พ้องกับชื่อของ "กุมภกรรณ" บางครั้งปริศนารูปภาพอาจไม่ได้สื่อปมอย่างตรงไปตรงมาต้องมีการตีความและมีการผวนคำจึงจะนำไปสู่คำเฉลยที่ถูกต้อง ดังในตัวอย่างนี้

 

ปริศนาคำทายของไทย
โจ๊กภาพ "คู่สร้างคู่สม" ของเสนีย์  ผดุงมาตรวรกุล

 

      ในปริศนานี้นอกจากจะต้องตีความรูปผลส้ม ๒ ผล และหวี ๒ อันแล้ว ยังต้องอาศัยการผวนคำจึงจะนำไปสู่คำเฉลย ส้ม ๒ ผล คือ "คู่ส้ม" หวี ๒ อัน สื่อถึง "คู่สาง" ("สาง" เป็นภาษาถิ่นเหนือหมายถึง "หวี") เมื่อรวมแล้วจะได้ "คู่ส้มคู่สาง" ซึ่งยังไม่มีความหมายอะไร ต้องอาศัยการผวนคำจึงจะทำให้ได้ทราบคำเฉลย กล่าวคือ "คู่ส้มคู่สาง" ผวนคำแล้วได้คำว่า "คู่สร้างคู่สม" นอกจากชมรมโจ๊กพนัสนิคมแล้วยังมีนักคิดปริศนาหรือ "นายโจ๊ก" ที่รวมตัวกันจัดตั้งชมรมอนุรักษ์และเผยแพร่การละเล่นทายโจ๊กปริศนา ได้แก่ ชมรมอนุรักษ์และเผยแพร่การละเล่นทายโจ๊กชลบุรี ชมรมโจ๊กวัดกำแพง ชมรมโจ๊กพัทยา อีกทั้งยังมีนักออกปริศนาที่มิได้สังกัดชมรมอีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow