Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความหมายและที่มา

Posted By Plookpedia | 08 ก.พ. 60
6,229 Views

  Favorite

ความหมายและที่มา

      ตาลปัตรหรือในบางแห่งใช้ว่า ตาลิ-ปัตร มาจากคำว่า ตาล ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ประเภทปาล์มชนิดหนึ่งมีใบใหญ่รวมกับคำว่า ปัตร แปลว่า ใบตาลปัตร จึงมีความหมายว่าใบตาล แม้ต่อมาภายหลังจะมีการใช้ใบของต้นลานซึ่งเป็นไม้ประเภทปาล์มเช่นเดียวกับต้นตาลก็ยังคงเรียกว่าตาลปัตรเช่นเดิม  ใบตาลนี้ชาวบ้านสมัยก่อนพุทธกาลในอินเดียและลังกานำมาตัดแต่งเป็นพัดโดยใช้เส้นหวายจักหรือตอกไม้ไผ่ประกอบเข้าเป็นกรอบเย็บติดกับขอบใบเพื่อกันใบแตกหรือฉีกใช้พัดโบกลมหรือบังแดด ต่อมาพระสงฆ์ได้นำพัดใบตาลที่ชาวบ้านใช้นี้ไปในเวลาแสดงธรรมด้วย  พัดที่พระสงฆ์ใช้แรกเริ่มคงจะใช้เป็นประจำเหมือนเป็นบริขาร (เครื่องใช้ของพระ) อย่างหนึ่ง เมื่อชาวบ้านเห็นพระใช้ประจำก็คิดทำถวายเพื่อหวังบุญกุศลแต่ด้วยพัดใบตาลนั้นฉีกขาดง่ายเป็นของไม่คงทนจึงคิดหาวัสดุอื่นที่คงทนถาวรกว่าและที่เห็นว่าดีว่างาม เช่น ไม้ไผ่สาน งาสาน ผ้าไหม ผ้าแพร สุดแต่กำลังศรัทธาของตนนำมาประดิษฐ์ตกแต่งให้วิจิตรงดงามถวายแด่พระสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือ พัดใบตาลเดิมจึงเปลี่ยน แปลงไปและเมื่อพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ทำถวายพระบ้างซึ่งในชั้นเดิมคงจะพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงคุ้นเคยและเลื่อมใสเป็นส่วนพระองค์ก่อน ต่อมาจึงพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ (ตำแหน่งยศที่ได้รับพระราชทาน) ทำให้เกิดการถวายตาลปัตรที่งดงามตามสมณศักดิ์ขึ้นกลายเป็นเครื่องยศประกอบสมณศักดิ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า พัดยศ

 

พัดยศ
พัดรองที่ระลึกงามเฉลิมพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร พ.ศ. ๒๔๓๕ 
ด้านหนึ่งปักตรารูปอาร์มอีกด้านหนึ่งปักอักษรข้อความชื่องาน


      ในปัจจุบันตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้และเราพบเห็นเป็นปกตินั้น คือ ตัวพัดมีลักษณะเป็นวงกรอบคล้ายรูปไข่เรียกว่า พัดหน้านาง ด้านบนมนและกว้างกว่าด้านล่างเล็กน้อย พื้นพัดมักทำด้วยผ้าชนิดต่าง ๆ อาจปักตกแต่งให้สวยงามที่ตรงกลางกรอบพัดด้านล่างมีด้ามยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร  ตาลปัตรชนิดนี้ปัจจุบันยังเรียกอีกอย่างว่า พัดรอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพัดขึ้นด้วยโครงไม้ไผ่ ใช้ผ้าแพรอย่างดีหุ้มทั้ง ๒ ด้านขลิบด้วยผ้าโหมด (ผ้าชนิดหนึ่งใช้กระดาษเงินกระดาษทองพันเส้นไหมทอกับไหมสี) พระราชทานพระสงฆ์ใช้แทนพัดใบตาลที่มีลักษณะงองุ้มและให้เรียกว่า พัดรอง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสมัยที่นิยมสร้างพัดรองกันมากที่สุดโดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ปัจจุบันมักทำพัดรองถวายพระสงฆ์เป็นที่ระลึกการจัดงานทั้งงานที่เป็นมงคลต่าง ๆ และงานศพ พื้นพัดจึงมักปักตกแต่งเป็นรูปสัญลักษณ์ของงานหรือปักอักษรข้อความที่เกี่ยวกับงานนั้น ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow