Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประเพณีสงกรานต์ในภาคต่างๆ

Posted By Plookpedia | 07 มี.ค. 60
7,316 Views

  Favorite

ประเพณีสงกรานต์ในภาคต่างๆ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สงกรานต์เป็นประเพณีโบราณ มีการกำหนดงาน ๓ วัน วันแรกคือ วันมหาสงกรานต์ วันต่อมาคือ วันเนา และสุดท้ายคือ วันเถลิงศก คนไทยในทุกภูมิภาค ส่วนใหญ่มีแนวปฏิบัติตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์เหมือนๆ กัน จะมีแตกต่างกันไปบ้างเฉพาะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ซึ่งแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันดังนี้
 

 

 

การทำบุญตักบาตรในเทศกาลสงกรานต์


ภาคกลาง  

นับแต่โบราณมา เมื่อใกล้จะถึงวันสงกรานต์ซึ่งถือกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนถึงวันงาน ทุกบ้านจะมีการทำความสะอาดบ้านเรือน พร้อมทั้งจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เพื่อการทำบุญ และมีการจัดทำขนมไว้ล่วงหน้าเป็นการเฉพาะ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ คือ การกวนกะละแม และข้าวเหนียวแดง ซึ่งเป็นขนมประจำเทศกาลสงกรานต์ ขนมทั้ง ๒ อย่างนี้ ในสมัยก่อน จะมีเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

เมื่อถึงวันสงกรานต์ ประชาชนแต่ละครัวเรือนจะตื่นกันแต่เช้ามืด จัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อนำไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ในวันนี้ ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใส โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว เพราะจะได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันอย่างเสรี

ภายหลังการทำบุญตักบาตร หรือเลี้ยงพระจะมีการบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการอุทิศผลบุญไปให้ ผลบุญทั้งหลาย ที่อุทิศไปนั้น จะส่งผลให้ผู้ล่วงลับได้รับความสุขแห่งบุญนั้น การกระทำนี้แสดงถึงความกตัญญูที่ลูกหลานมีต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ ที่ล่วงลับไปแล้ว

ในวันสงกรานต์ยังมีกิจกรรมในทางบุญอย่างอื่นอีก เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อขนทรายเข้าวัด ให้ทางวัด ได้นำทรายไปใช้ในการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมเสนาสนะภายในวัด การก่อพระเจดีย์ทรายในสมัยโบราณ ไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอนว่า จะต้องทำกันในวันสงกรานต์ จะเป็นวันใดวันหนึ่งก็ได้ และสถานที่ประกอบพิธีการจะทำในบริเวณวัด ลานวัด วัดบางแห่งที่อยู่ใกล้แม่น้ำ อาจก่อพระเจดีย์ทรายกันที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำก็ได้ เมื่อก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้นแล้ว ก็มักตกแต่ง ด้วยราชวัติ ฉัตร ธง ที่ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ ให้ดูสวยงาม บางทีมีการประกวดแข่งขันกันเป็นที่สนุกสนาน
 

 
เด็กๆ ช่วยกันก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งเป็นกิจกรรมในทางบุญ ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้คนขนทรายเข้าวัด 
(ภาพโดย นางสุรีย์ พึ่งฉ่ำ)


ส่วนมูลเหตุที่มีการก่อพระเจดีย์ทรายนั้น  ไม่มีหลักฐานความเป็นมาที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งนัก ได้กราบทูลเชิญเสด็จพระพุทธองค์ให้เสด็จไปทางเรือขนาน พระเจ้าปเสนทิโกศลและประชาชนที่รู้ข่าว ต่างชวนกันก่อพระเจดีย์ทรายขึ้น ที่หาดทรายริมฝั่งน้ำบ้าง ก่อในแพที่ปล่อยลงน้ำบ้าง พร้อมกับประดับองค์พระเจดีย์ด้วยราชวัติ ฉัตร ธง ให้มีสีสันต่างๆ ดูสวยงาม เพื่อให้เป็นพุทธบูชา

อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง มีอุบาสก ผู้ที่เลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ลงเรือแล่นไปในเวลากลางคืน ซึ่งคืนนั้น เป็นคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ส่องสว่าง ทำให้เห็นหาดทรายที่ริมฝั่งน้ำในยามแสงจันทร์สาดส่องเป็นประกายระยิบระยับ อุบาสกผู้นั้น นึกถึงแสงฉัพพรรณรังสีอันเป็นรัศมีที่แผ่ซ่านออกจากพระวรกาย ของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติ ยึดพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ จึงจอดเรือ ที่หาดทรายริมฝั่งน้ำนั้น และได้นำทรายนั้น ก่อพระเจดีย์ขึ้นเป็นพุทธบูชา

ประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายมีหลายอย่าง ในสมัยก่อนหากมีการสร้างวัด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ทั้งวัด หรือบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะบางส่วนก็ตาม ชาวบ้านหรือผู้อุปถัมภ์วัดก็จะจัดให้มีการก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นในวัด เรียกกันว่า พระทรายบรรดาศักดิ์ การก่อพระเจดีย์ทรายแบบนี้ จะทำติดต่อกันหลายครั้ง ด้วยเจตนาที่จะนำทรายนั้นไปใช้ในการผสมปูน ก่อสร้างอาคาร เสนาสนะ หรือถมพื้นลานวัด และเมื่อสร้างวัดหรือบูรณะวัดนั้นเสร็จสิ้นแล้ว การก่อพระเจดีย์ทรายแบบนี้ จึงจะเลิกไป
 

 

 

 

การทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าของวันสงกรานต์


การก่อพระเจดีย์ทรายอีกแบบหนึ่งเรียกว่า พระทรายเตียงยก เป็นการก่อพระเจดีย์ทรายกันในเขตบ้านหรือลานบ้าน ซึ่งมีวิธีการทำ ๒ แบบ แบบหนึ่งนิยมทำกันที่ริมรั้วบ้าน โดยปักเสาต้นหนึ่งไว้ที่ริมรั้วบ้าน ปูกระดานบนเสานั้น ทำนองยกพื้นให้สูงขึ้นเสมอรั้ว แล้วก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นไว้ โดยปักฉัตร ธงทิวที่ทำด้วยกระดาษสีให้ดูงดงาม แล้วทิ้งไว้เช่นนั้น ทำนองเดียวกับศาลพระภูมิ การก่อพระเจดีย์ทรายดังกล่าวนี้ น่าจะก่อขึ้นไว้เป็นเครื่องบูชาสำหรับบ้าน เพื่อให้บ้านเกิดสวัสดิมงคล คุ้มกันภัยอันตรายให้แก่บ้าน เช่นเดียวกับศาลพระภูมิ พระทรายเตียงยกอีกแบบหนึ่งส่วนใหญ่เป็นของหลวง ซึ่งจะก่อกันในวัง หรือในเขตพระราชฐาน โดยก่อพระเจดีย์ทรายบนเตียงไม้ ทำเป็น ๔ ขาเตี้ยๆ กว้างยาวประมาณศอกเศษ (ประมาณ ๑๕ นิ้ว ถึง ๒๐ นิ้ว) เมื่อก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นบนเตียงนั้นแล้ว มีการตกแต่งด้วยราชวัติ ฉัตร ธง ที่ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ ดูงดงามตระการตา แล้วยกไปถวายพระที่วัด การก่อพระเจดีย์ทรายแบบนี้ มีจุดมุ่งหมายเดียวกับการก่อพระเจดีย์ทรายที่วัด คือ ประสงค์ให้ทางวัดได้ใช้ทรายเป็นประโยชน์นั่นเอง 
 

 

 

 

การสรงน้ำพระพุทธรูป


การก่อพระเจดีย์ทรายอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า พระทรายน้ำไหล โดยทำแพหยวกขึ้นก่อน เพื่อเป็นฐานรองรับ แล้วก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นบนแพนั้น ตกแต่งด้วยธงทิวกระดาษสีต่างๆ ให้งดงาม พระเจดีย์ทรายที่ก่อบนแพหยวกนี้ เชื่อกันว่า ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนบาป หรือสิ่งชั่วร้ายที่ทำมาตลอดปี มูลเหตุที่ปั้นเป็นรูปเจดีย์ หรือรูปองค์พระก็เพื่อให้เกิดผลเป็นการบุญ เมื่อทำเสร็จแล้วจึงยกแพหยวกนั้นไปลอยในแม่น้ำ ด้วยมีความเชื่อว่า เป็นการล้างบาป ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ไหลไปกับสายน้ำ และยังมีความเชื่อว่า ถ้าลอยในช่วงเวลาที่น้ำขึ้นจะทำให้มีอายุยืน ถ้าลอยในช่วงเวลาน้ำลงจะทำให้อายุสั้น พระทรายน้ำไหลนี้ บางทีก็ไปก่อพระเจดีย์กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ โดยประดับตกแต่งให้สวยงาม เสร็จแล้วทิ้งไว้เช่นนั้น ปล่อยให้กระแสน้ำซัดทรายให้ทลายหมดไปเอง
 

 

 

 

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรดน้ำสงกรานต์ แก่พระอาจารย์อาวุโส ที่เคยถวายพระอักษรภาษาบาลี สันสกฤต ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๕๓


การทำบุญที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกอย่างหนึ่ง คือ การปล่อยนกปล่อยปลา ซึ่งคนไทยถือเป็นการกุศลสำคัญอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนิยมปล่อยสัตว์อื่นๆ อีก เช่น โค กระบือ ทั้งนี้ เพราะมีความเชื่อกันว่า การให้ชีวิต หรือให้อิสรภาพแก่สัตว์ผู้ทุกข์ยาก หรือถูกกักขัง จะส่งผลให้ชีวิตของตนมีความสุขความเจริญ ทำกิจการใดก็ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง จะประสบความสำเร็จ

กิจกรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การรดน้ำขอพรจากบุพการี หรือผู้ใหญ่ที่นับถือ มักทำกันในตอนบ่ายภายหลังการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระแล้ว โดยจะสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน ทั้งพระพุทธรูปที่วัดและพระพุทธรูปที่บ้าน ซึ่งในเบื้องต้น จะนำดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระก่อน ต่อจากนั้นจึงใช้น้ำอบไทย หรือน้ำหอม ประพรมที่องค์พระพุทธรูปนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ชีวิตประสบความร่มเย็น เกิดความสุขสวัสดี ทั้งแก่ตนเอง และบุคคลในครอบครัว บางแห่งมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของวัดแห่ไปตามถนนรอบๆ หมู่บ้าน เพื่อให้คนที่ไม่ได้ไปวัด มีโอกาสสรงน้ำพระพุทธรูปกันอย่างทั่วถึง

เมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มานั่งในสถานที่ซึ่งจัดไว้เป็นที่ประกอบพิธี เพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำอบน้ำหอมรดใส่มือ พระสงฆ์ก็จะให้พร เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนการรดน้ำบุพการีหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เช่น บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่นับถือ ลูกหลานจะเชิญมานั่งในที่ที่จัดไว้ แล้วใช้น้ำอบ หรือน้ำหอมรดใส่มือ หรือรดทั้งตัว ในระหว่างที่รดน้ำ ผู้ใหญ่ก็จะให้พรแก่ลูกหลาน แล้วจึงผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยใช้ของใหม่ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ ทั้งนี้ การสรงน้ำพระและการรดน้ำผู้ใหญ่ นอกจากจะปรารถนาให้บังเกิดสิริมงคล และเกิดความสุขแล้ว ยังน่าจะหมายถึง เป็นการชำระล้างมลทิน ขับไล่สิ่งอัปมงคลของปีเก่าให้หมดไป เพื่อให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และสดใสในวันปีใหม่ นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือต่อสิ่งสำคัญ ผู้มีพระคุณ ผู้อาวุโส เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี และแสดงออกถึงความกตัญญู ความรัก ความสามัคคี เมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำรดน้ำแล้ว หนุ่มสาว เด็กโต และเด็กเล็ก ก็จะเล่นสาดน้ำกันเองอย่างสนุกสนาน ประเพณีเล่นสาดน้ำแก่กันนั้น มุ่งหมายให้เกิดความสามัคคี มีความเป็นกันเอง สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
 

 

 

 

 

 

 

การละเล่นมหรสพพื้นบ้านในเทศกาลสงกรานต์ 
(ภาพโดย นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร)


การละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ของภาคกลางนิยมเล่นกันในตอนเย็นภายหลังจากเสร็จพิธีต่างๆ ตามประเพณีแล้ว โดยทั่วไป มักเป็นการละเล่นพื้นเมือง หรือเรียกว่า กีฬาพื้นเมือง ก็ได้ เช่น ชักเย่อ ขี่ม้าส่งเมือง มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย (ลูกช่วง) วิ่งเปี้ยว ลิงชิงหลัก และยังมีมหรสพต่างๆ เช่น การแสดงลิเก ลำตัด รำวง ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชื่อมความสามัคคี และเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นการสืบสานมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

ภาคใต้  

เรียกวันสงกรานต์ว่า วันว่าง ประเพณีวันว่างมีธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนประเพณีสงกรานต์ของภาคอื่นๆ จะแตกต่างกัน ก็เฉพาะมีข้อกำหนดว่า ตลอดเวลา ๓ วัน ของเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ทุกคนต้องทำตัวให้ว่าง ละ และวางกายใจให้เว้นจากภารกิจการงานทุกอย่าง ไม่จับจ่ายใช้สอยเงินทอง ไม่ออกไปหาผักหญ้า ข้าวปลา ไม่ลงโทษเฆี่ยนตีคน หรือสัตว์ ไม่กล่าวคำเท็จและคำหยาบคาย ที่สำคัญคือ ต้องทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสตลอดทั้ง ๓ วัน ดังนั้น ก่อนถึงกำหนดวันตามประเพณี ทุกบ้านเรือนต้องมีการจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ไว้ให้พร้อม และพอใช้สำหรับ ๓ วันด้วย
 

 

 

 

ประเพณีห่มพระ ณ ถ้ำคูหาภิมุข จ.ยะลา ในเทศกาลสงกรานต์ ของภาคใต้ 
(ภาพโดย นายอาหามะ สารีมา)


ในสมัยโบราณก่อนถึงกำหนดวันว่าง มักจะมีคณะเพลงบอก คือ คณะนักขับร้องทำนองกลอนสด ออกตระเวนไปตามบ้านเรือนทั่วทุกครัวเรือน เพื่อขับร้องบทกลอนทำนองเพลงบอก แจ้งกำหนดวันว่างของปีนั้นว่า ตรงกับวันใด เดือนใดของปี ซึ่งถือว่า เป็นวันปีใหม่ และอาจบอกรายละเอียดว่า วันใดเป็นวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ หรือบอกคำทำนายว่า ปีใหม่จะมีฝนตกปริมาณมากน้อยตามฤดูกาลหรือไม่ พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์หรือไม่ มีนาคให้น้ำกี่ตัว บางทีคณะเพลงบอกอาจขับร้องบอกเล่าตำนานสงกรานต์ และบอกด้วยว่า ในปีนั้น นางสงกรานต์คือใคร ทรงอาวุธประเภทใด ภักษาหารคืออะไร เสด็จมาในอิริยาบถใด และด้วยพาหนะอะไร ลงท้ายอาจมีการสรรเสริญให้พรเจ้าของบ้านอีกด้วย

เมื่อถึงวันต้นของเทศกาลสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันส่งเจ้าเมืองเก่า หรือวันเจ้าเมืองเก่า ด้วยมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ในวันนี้ เทวดาผู้คุ้มครองรักษาเมือง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าเมืองจะเดินทางขึ้นไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ส่วนชาวบ้านก็จะทำความสะอาดบ้านเรือนของตน รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังนิยมประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลอยเคราะห์ ทั้งนี้ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ที่มีอยู่ ลอยน้ำตามเจ้าเมืองเก่าไป และมักมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญในวันนี้ด้วย โดยให้มีความหมายเหมือนการล้างมลทิน หรือล้างสิ่งไม่เป็นมงคลให้หมดไป ความสะอาดบริสุทธิ์ ความสดใส และสิ่งอันเป็นมงคลทั้งหลายจะได้บังเกิดขึ้นในวันปีใหม่
 

 

การก่อพระเจดีย์ทราย และตกแต่งให้ดูสวยงาม
(ภาพโดย นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร)


วันที่สองของเทศกาล คือวันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันว่าง หมายถึง เป็นวันที่ปราศจากเทวดาคุ้มครองรักษาบ้านเมือง ชาวบ้านจึงงดการทำงานทุกอย่าง และพากันไปตักบาตร ทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทำบุญอัฐิ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว เสร็จจากการทำบุญเลี้ยงพระ ก็มีพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำบิดามารดาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ พิธีการรดน้ำขอพรบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือจะแตกต่างจากภาคอื่นๆ ตรงที่ลูกหลานจะจัดเตรียมผ้าใหม่ เพื่อมากราบไหว้ขอขมา และขอพรไปพร้อมกัน จากนั้นจะพร้อมใจกันอาบน้ำ สระผมให้บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ก่อน แล้วให้นุ่งห่มผ้าใหม่ที่จัดเตรียมให้ พิธีรดน้ำนี้เรียกว่า สระหัววันว่าง

ในวันที่ ๑๕ เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่ หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า วันเบญจา เป็นวันต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้มาปกปักรักษาดูแลเมืองแทนเทวดาองค์เดิมที่กลับขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว ในวันนี้ ชาวบ้านมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับใหม่อย่างสวยสดงดงาม และยังคงนำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด นอกจากกิจกรรมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการปล่อยนกปล่อยปลา ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำกัน รวมทั้งการละเล่นพื้นเมือง และมหรสพต่างๆ เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ

ภาคเหนือ 

วันสงกรานต์ของภาคเหนือมีกำหนดวันเหมือนภาคอื่น คือ วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน แต่มีรายละเอียดของกิจกรรม และมีชื่อเรียก ที่แตกต่างกันไปบ้าง กล่าวคือ วันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันต้นของปีใหม่ หรือวันมหาสงกรานต์ เรียกว่า วันสังขารล่อง หมายถึง เป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่า หรือวันส่งท้ายปีเก่า เป็นวันที่ปีเก่าผ่านไป อายุสังขารของแต่ละคนก็ได้ล่วงเลยผ่านพ้นไปอีก ๑ ปี ในวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะตื่นแต่เช้า ทำความสะอาดบ้านเรือน ปัดกวาดหยากไย่ แผ้วถางลานบ้านจนสะอาดเอี่ยม จะเรียกว่า เป็นวันสาธารณสุขวันหนึ่งก็ได้ วันนี้ในตอนเช้าจะมีการยิงปืน หรือจุดประทัด เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดไป จากนั้น จะชำระล้างร่างกาย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ หากมีเวลาว่างก็จะพากันไปเที่ยวตามที่ต่างๆ และเริ่มมีการเล่นรดน้ำสาดน้ำกัน
 

 

การชำระล้างร่างกายในวันสังขารล่อง 
(ภาพโดย นายพิทวัส ผู้ภักดี)


วันที่สองของเทศกาลสงกรานต์ เรียกว่า วันเนา เป็นวันที่ชาวบ้านต่างก็จัดเตรียมอาหารคาวหวาน และสิ่งของต่างๆ เพื่อจะใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด และแจกให้แก่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ในวันนี้ถือว่า เป็นวันที่ต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีอารมณ์ขุ่นเคือง โกรธ ห้ามกล่าวคำหยาบ ด้วยมีความเชื่อว่า จะทำให้เกิดอัปมงคล ทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เจริญรุ่งเรืองไปตลอดทั้งปี ในสมัยก่อนวันเนาเป็นวันที่ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวและเด็ก จะร่วมใจกันขนทรายจากริมแม่น้ำเข้าไปกองไว้ที่ลานวัด และเล่นสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน การขนทรายเข้าวัดเป็นประเพณี ที่น่าจะมีจุดประสงค์เหมือนกับการก่อพระเจดีย์ทรายของภาคอื่นๆ คือ มุ่งหมายให้ทางวัดได้มีทรายไว้ใช้ก่อสร้าง หรือบูรณะเสนาสนะ เมื่อขนทรายเข้ามาในลานวัดแล้ว ก็จะลอมทรายขึ้นก่อเป็นพระเจดีย์ เรียกว่า พระเจดีย์ทราย หรือพระทราย เมื่อก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นแล้วก็มักจะตกแต่งด้วยธงทิว ข้าวตอก ดอกไม้สีต่างๆ เป็นการประกวดประขันกันไปด้วย

วันที่สามของเทศกาลสงกรานต์ เรียกว่า วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณี ตอนเช้า ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระที่วัด ถวายทานพระเจดีย์ทรายที่ก่อไว้ในวันก่อน ทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ เสร็จแล้วจึงสรงน้ำพระพุทธรูป หรือพระพุทธเจดีย์ หรือพระบรมธาตุ และพระสงฆ์
 

 

การเล่นน้ำตามประเพณีสงกรานต์ของภาคเหนือ 
(ภาพโดย นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร)


ในการสรงน้ำพระพุทธรูป หรือพระพุทธเจดีย์ หรือพระบรมธาตุของภาคเหนือ ใช้รางรดน้ำหรือท่อน้ำต่อไปยังองค์พระพุทธรูป หรือพระพุทธเจดีย์ หรือพระบรมธาตุ เมื่อจะสรงน้ำจึงเทน้ำอบหรือน้ำหอมที่จะใช้สรงลงในราง ให้ไหลตกไปเปียกพระพุทธรูปโดยตรง หลังจากเสร็จพิธีสรงน้ำพระแล้ว บางคนจะนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ ตามความเชื่อที่ว่า จะช่วยให้มีอายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีชีวิตเจริญรุ่งเรือง

เมื่อเสร็จจากการทำบุญและกิจกรรมอื่นๆ ที่วัดแล้ว ยังมีพิธีอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ดำหัว บางทีเรียกว่า รดน้ำดำหัว คือ การรดน้ำดำหัว บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เคารพนับถือ อาจจัดทำกันที่บ้าน หรือสถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ การดำหัวในเทศกาลสงกรานต์นั้น มีความหมายลึกซึ้งมาก เป็นการแสดงความเคารพ ความรัก ความกตัญญู ความสามัคคี รวมไปถึงการได้ขออโหสิกรรมต่อบุพการี เพราะอาจได้กระทำสิ่งที่ล่วงเกินจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกตน พร้อมกันนั้นก็ขอพรจากท่าน เพื่อให้มีความสุขความเจริญ

ในการดำหัวนั้นนิยมนำสิ่งของต่างๆ ไปมอบให้ผู้ใหญ่ด้วย เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เสื้อผ้า อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่จะหาได้ ตามฐานะ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำ ที่เรียกกันว่า น้ำขมิ้นส้มป่อย เป็นน้ำที่ปรุงขึ้นใช้เฉพาะในการดำหัวเท่านั้น ประกอบด้วย น้ำสะอาดผสมกับน้ำอบหรือน้ำหอม น้ำฝักส้มป่อย ดอกคำฝอย ดอกไม้หอม เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ และอาจใส่น้ำพระพุทธมนต์ผสมลงไปด้วย เพื่อให้น้ำนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น เมื่อมอบสิ่งของเครื่องดำหัว ที่จัดเตรียมไปให้ผู้ใหญ่แล้ว ก็เทน้ำใส่มือท่านและกล่าวคำขออโหสิกรรม พร้อมกับขอพร เมื่อผู้ใหญ่รับสิ่งของแล้ว ก็จะกล่าวอโหสิกรรม และอวยพรให้มีความสุขความเจริญตลอดปีใหม่ พร้อมกับใช้มือจุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่มือหรือใส่หัวให้แก่เรา ในระหว่างวัน บรรดาหนุ่มสาวและเด็กก็จะเล่นสาดน้ำกันเองอย่างสนุกสนานตลอดวัน
 

 
 

ขบวนแห่สงกรานต์ 
(ภาพโดย นางสาวมาลี กฤตพรพิพัฒน์)


พิธีกรรมในเทศกาลสงกรานต์ของภาคเหนือ ยังมีต่ออีก ๒ วัน ในวันที่สี่ เรียกว่า วันปากปี ถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำบุญใจบ้าน หรือสะดือบ้าน คือ บริเวณที่ตั้งเสาใจบ้านหรือเสากลางหมู่บ้าน และในตอนสายของวันนี้ ชาวบ้านจะไปชุมนุมกัน ที่ใจบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เพื่อทำพิธีบูชาท้าวจตุโลกบาล เรียกว่า พิธีแปลงบ้าน และส่งเคราะห์บ้าน จบพิธีด้วยการจุดประทัด ยิงปืน โห่ร้อง เป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรือสิ่งที่เป็นอัปมงคลให้ออกไปจากหมู่บ้าน จากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แล้ว จึงเสร็จพิธี ถือว่าเป็นการส่งเคราะห์บ้าน หรือบูชาเคราะห์ปีใหม่ ตามความเชื่อว่าผู้บูชาในวันปากปีจะได้รับความคุ้มครองตลอดปี และในวันที่ห้าของเทศกาลสงกรานต์ คือ วันปากเดือน ถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ คือ เดือนแรกแห่งปี ในวันนี้มีการส่งเคราะห์ต่างๆ ตามแบบที่นิยมกันมาแต่โบราณ มีวิธีการปฏิบัติหลายอย่างแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละคน ที่เหมือนกัน คือ ระหว่างเทศกาลจะมีการละเล่นต่างๆ ที่นิยม และเป็นที่รู้จักกันมาก คือ การเล่นรดน้ำปีใหม่ หรือดำหัว การละเล่นมหรสพ และการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ

ภาคอีสาน  

ภาคอีสานมีประเพณีสงกรานต์เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ของประเทศ กำหนดงาน ๓ วัน คือ วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน แต่เฉพาะจังหวัดที่ใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชา จะออกเสียงเรียกวันสงกรานต์ตามภาษาเขมรว่า ตรดสงกรานต์ ซึ่งหมายถึง ตรุษสงกรานต์ ในสมัยโบราณก่อนถึงวันตรดสงกรานต์จะมีผู้รู้ในท้องถิ่น เดินประกาศแก่ชาวบ้านทั่วไปให้ทราบกำหนดวันสงกรานต์ พร้อมทั้งชื่อนางสงกรานต์ เกณฑ์ธัญญาหาร เกณฑ์พิรุณศาสตร์ และเกณฑ์กาลโยค เป็นการบอกพยากรณ์เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และจำนวนนาคให้น้ำในปีนั้นๆ เพื่อให้ชาวบ้านทุกชุมชนได้เตรียมตัว ที่จะเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ในคำประกาศวันตรดสงกรานต์นั้น ยังบอกข้อห้ามด้วย เช่น ในวันตรดสงกรานต์ ห้ามทำงาน ให้ทำบุญ ให้เล่นสนุกสนาน เพื่อต้อนรับความสวัสดีมีโชคชัย หากผู้ใดฝ่าฝืน จะประสบภัยพิบัตินานาประการ เช่น เข้าป่าจะถูกเสือกัด ลงน้ำจะถูกจระเข้กิน ประกอบกิจการงานอันใดก็จะเกิดอุบัติเหตุ มือขาด แขนขาด หรืออาจถึงตายได้
 

 
 

ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ในแม่น้ำโขง


เมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือน และจัดเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ เมื่อถึงกำหนดวันสงกรานต์ ก็จะจัดทำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดตลอด ๓ วัน หลังการเลี้ยงพระจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์ แล้วทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ เรียกว่า ซักอนิจจา หรือ ชักอนิจจา จากนั้น จึงมีการละเล่นมหรสพพื้นบ้านต่างๆ ในบริเวณลานวัดนั้น อย่างสนุกสนานตลอด ๓ วัน บางครอบครัวเมื่อเสร็จจากการทำบุญ จะนำอาหารคาวหวานและสิ่งของต่างๆ ไปเยี่ยมอวยพรบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่ตนนับถือ ซึ่งการไปเยี่ยมอวยพรจะมีการเล่นสาดน้ำกันเองในกลุ่มหนุ่มสาว เด็ก และอาบน้ำ หรือรดน้ำบิดามารดา ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ รวมทั้งให้เปลี่ยนผ้านุ่งห่ม หรือผ้าใหม่ที่จัดเตรียมไปให้ด้วย บางหมู่บ้านระหว่างเทศกาลสงกรานต์จะมีการเล่น เรือมตรด หรือรำตรุษ คือ การละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่ง มีขบวนดนตรี ประกอบด้วย โทน ๑ คู่ ซอ ๑ คัน ขลุ่ย ๑ เลา และเครื่องให้จังหวะมีกรับ และฉิ่ง ผู้เล่นมีทั้งหญิงและชาย ขบวนเรือมตรดจะเดินร้องรำตามจังหวะดนตรีผ่านไปตามหมู่บ้าน เนื้อร้องมักกล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของวันตรุษสงกรานต์ และอวยพรให้แก่เจ้าของบ้านและคนทั่วไป เป็นการร้องบอกบุญ ยกย่องชมเชยเจ้าของบ้าน นอกจากนั้นจะมีการก่อพระเจดีย์ทราย หรือขนทรายเข้าวัด และปล่อยนกปล่อยปลาเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ วันสุดท้ายของเทศกาลจะทำบุญหมู่บ้าน โดยการปลูกปะรำพิธีกลางหมู่บ้าน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์ในตอนเย็น รุ่งเช้ามีการทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั่วหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล เป็นการต้อนรับโชคชัย ในวันขึ้นปีใหม่
 

 

ขบวนแห่ในเทศกาลสงกรานต์ (ภาพโดย นายจิตร  จีระฉัตร)


วันสงกรานต์ไม่ได้มีความหมายเพียงเป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยเท่านั้น ยังเป็นวันที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ที่มีต่อบรรพบุรุษ บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่ตนนับถือ ความมีสัมมาคารวะต่อวุฒิบุคคลผู้เป็นที่เคารพยกย่อง แสดงออกถึงจิตใจอันเปี่ยมด้วยไมตรี ความรัก ความสามัคคี การขออภัย การให้อภัย ความผูกพัน ความเอื้ออาทรเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ การเคารพนับถือซึ่งกันและกันในหมู่คณะ เครือญาติ และบุคคลในวงสังคมเดียวกัน ทั้งยังเป็นวันรวมญาติพี่น้องและลูกหลานที่ไปอยู่แดนไกล แล้วเดินทางกลับบ้านเกิด และพร้อมใจกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งการทำบุญ สร้างกุศล อุทิศผลบุญแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่มีการละเล่นมหรสพที่สนุกสนาน สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในโอกาสต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ สงกรานต์จึงจัดว่า เป็นประเพณีสำคัญ ที่มีความผูกพัน กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างมาก ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยทางราชการกำหนดให้ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และ วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันครอบครัว อีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow