Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมเกร็ดน่ารู้ และพระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 สังฆราชาผู้สมถะ เมตตา ใฝ่วิปัสสนากัมมัฏฐาน

Posted By มหัทธโน | 26 มิ.ย. 60
31,408 Views

  Favorite

 

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถือเป็นวันสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ชาติด้านวงการพระพุทธศาสนา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดสถาปนา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีพระนามเรียกขานว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก"

 

โดยงานประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จะเกิดขึ้นในช่วงเย็น แต่นับตั้งแต่ช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงวันที่่ 12 กุมภาพันธ์ 60

 

ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการยกย่องทั้งในฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสที่รู้จักว่า พระองค์ทรงเป็นสังฆราชาที่พุทธศาสนิกชนสามารถ “กราบ” ได้อย่างสนิทใจ

 

ที่มาภาพ : เพจต้นโพธิ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.60

 

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 

- สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” 
 

- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพร อมฺพโร)” ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 3 ของวัด ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ
พระองค์แรก คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
องค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 

- ขั้้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 มีความแตกต่าง ตรงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความเห็นพ้องแก้ไข “มาตรา 7” ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เพื่อถวายคืน “พระราชอำนาจ” ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นของพระมหากษัตริย์     

นั่นหมายความว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และมิได้ยึดโยงกับ “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” เป็นสำคัญ
 

แต่กระนั้น การสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกก็ยังคงความเหมาะสม และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยสาเหตุไม่ได้มีข้อครหาใด ๆ มาทำให้เสื่อมพระเกียรติสกลมหาสังฆปริณายก ผู้เป็นประมุขของคณะสงฆ์ไทย และยังคงให้ความสำคัญกับอาวุโสทางสมณศักดิ์อยู่เหมือนเดิม 
 

วัตรปฏิบัติหรือปฏิทาของสมเด็จพระสังฆราชทรงดำเนินไปด้วยความ “สมถะ-เรียบง่าย”  ไม่มี “รถยนต์ส่วนตัว” บางครั้งเมื่อทรงรับกิจนิมนต์ก็ยังเดินทางด้วยแท็กซี่ และมักทรงเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับสหธรรมิกตามวัดต่าง ๆ เสมอมา โดยทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัดรถยนต์ถวายรับส่ง พระองค์ทรงปฎิบัติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย


- พระองค์ทรงเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร โดยปัจจุบันเจ้าประคุณสมเด็จยังคงทรงเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อีกด้วย
 

- พระองค์โปรดสนทนาธรรม กับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่ม ทรงเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งต่างเป็นพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ ว่ากันว่า โดยช่วงนั้น จะทรงฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และโปรดปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ
 

- เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมหามุนีวงศ์ ทรงเคยร่วมธุดงด์ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2503 ที่วัดถ้ำขาม หลังเทือกเขาภูพาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระมหามุนีวงศ์และพระมหาสาครร่วมธุดงค์ปฏิบัติธรรมในสถานที่ด้วยกัน ครั้งนั้นได้ศึกษาธรรมะ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่หลุย หลวงตามหาบัวและเกจิจำนวนหลายองค์

 

- ทรงเป็น “สัทธิวิหาริก” หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ศิษย์” ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่งวัดราชบพิธฯ ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย

 

- ทรงคุ้นเคยงาน ทั้งในมหาเถรสมาคมและในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงรับสนองงานสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ พระองค์ก่อน ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ควบกับกรรมการมหาเถรสมาคม

 

- ทรงได้รับการยกย่องว่า ซื่อสัตย์ เด็ดขาด ตรงไปตรงมา (ตงฉิน) ดั่งเช่นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อน จึงเชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถบังคับบัญชาสังฆมณฑล ได้อย่างน่าไว้วางใจ
 

ภาพ : เพจต้นโพธิ์
สืบค้นจาก https://www.facebook.com/tonbhodhi/photos/a.1417390871810106.1073741828.1417365285145998/1857368674478988/?type=3&theater เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.60

 

-  หลากคำสอนที่ลูกศิษย์จำขึ้นใจ คือ

อยู่ให้เขาเบาใจ ยามจากไปให้เขาอาลัยถึง

ไม่ใช่อยู่ให้เขาหนักใจ จากไปให้เขาไล่ส่ง

 

อย่าทำเป็นตากระทู้ หูกระทะ เปรียบเทียบถึงหูกระทะที่มีหู แต่ไม่ได้ยิน

ส่วนตากระทู้ คือ ต้นไม้มีตาเป็นปุ่มๆ แต่มองไม่เห็น

 

จงตาดู หูฟัง นำแบบอย่างที่ดีงามมาปฏิบัติ

เขาสอนก็ฟัง เขาทำก็ดู เรียนรู้แล้วปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นสัตบุรุษ

ฃแต่ถ้าเขาสอนก็ไม่จำ เขาทำก็ไม่ดู เรียนรู้ก็ไม่ปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นควาย

 

- แม้ในเดือนมิถุนายนจะมีพระชันษา 90 ปี แต่พระพลานามัยแข็งแรง ทรงเคร่งครัดเรื่องการฉัน เน้นผักผลไม้ เนื้อปลา เน้นหลักที่ว่า ข้าว 1 คำ เคี้ยวนาน 36 ครั้ง ไม่เป็นภาระกับกระเพาะ ลำไส้ และพระองค์ทรงเดินจงกรมรอบพระอุโบสถทุกเช้ามืด ทุกวันไม่เคยว่างเว้น 

 

- ทรงไม่ขอรับทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ  แต่หากใครมีจิตสาธารณกุศลก็จะนำเข้ามูลนิธิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปใช้ในสาธารณกุศลเช่น สร้างโรงพยาบาลหรือจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ เป็นต้น

 

 

อัตโนประวัติและชาติภูมิ 

      
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) นามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต

 

ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

 

ภาพ : เพจต้นโพธิ์
สืบค้นจาก https://www.facebook.com/tonbhodhi/photos/a.1431981807017679.1073741840.1417365285145998/1859216547627534/?type=3&theater เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.60


       
ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
       
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ (ในขณะนั้น) เคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
       
เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก
       
ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
       
ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
       
ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ และปัจจุบัน พ.ศ. 2560 เจ้าประคุณสมเด็จมีอายุ 90 ปี 69 พรรษา

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow