Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วันสารทเดือนสิบ ประเพณีแห่งความกตัญญูกตเวที

Posted By มหัทธโน | 23 ก.ย. 57
90,936 Views

  Favorite

วันสารทเดือนสิบ  

 

ภาพ : https://wadsana2712.files.wordpress.com/2012/06/n03.jpg

การทำบุญวันสารทเดือนสิบ ประเพณีสารทเป็นประเพณีที่คนไทยทั่วทุกภาคให้ความสำคัญ  ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า วันชิงเปรตนั้นในเดือนสิบ(กันยายน) มีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง

       ครั้งแรก  วันแรม  1 ค่ำ  เดือนสิบเรียกว่า  วันรับเปรต

       ครั้งที่สอง  วันแรม  15  ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า  วันส่งเปรต

การทำบุญทั้งสองครั้งเป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้วโดยอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิเป็นคติของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา

     

ในวันแรม  1  ค่ำเดือน 10  ชาวบ้านจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า วันชิเปรต เป็นวันที่ยมบาลเปิดนรกปล่อยเปรต  พวกเปรตซึ่งกำลังผอมโซหิวโหยมากดังคำพังเพยว่า "อดอยากเหมือนเปรตเดือนสิบ จะกลับมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ เพื่อมาขอเสื้อผ้าอาหาร ขอส่วนบุญกุศลต่างๆ ที่ญาติจะอุทิศทำบุญให้ และจะต้องรีบกลับไปเมืองนรกเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือ วันส่งเปรต จะมีประเพณีมีความสำคัญที่เราจะทำบุญ “ปุพพเปตพลี”  หรือ ที่ทั่วไปมักเรียกกันว่าพิธีทอดผ้าบังสุกุล เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

 ดังนั้นถ้าลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ปู่ย่าตายายก็จะอดอยากหิวโหยอัตคัดขัดสนสิ่งของเครื่องใช้ ได้รับความทุกข์ยาก และก่นด่าสาปแช่งลูกหลานที่ไม่รู้จักกตัญญูรู้คุณของบรรพบุรุษ ให้ได้รับความเดือดร้อนชีวิตไม่เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย

ดังนั้นในอดีตลูกหลานจึงต้องยึดมั่นถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญยิ่ง เป็นกิจกรรมที่คนไทยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลมากน้อยจะขาดเสียมิได้  
 

ทางภาคใต้วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวพื้นเมืองเรียก "วันฉลองหมรับ หรือเป็น "วันสารท อันเป็นวันสุดท้ายของการทำบุญครบสมบูรณ์ตามประเพณี วันนี้จึงมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระ และทำพิธีบังสุกุลกระดูกเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไปถือเป็นวันสุดท้ายของงานบุญใหญ่ ใครมีอาหารมีสิ่งใดที่จะทำบุญก็มาทำให้หมดในวันนี้จึงถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่งเป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปเมืองนรก ที่ต้องกลับลงนรก คือเพราะเศษกรรมนั้น ยังไม่หมดสิ้น ยังต้องได้รับผลกรรมสืบไปอยู่ จึงจะเปลี่ยนภพภูมิลงได้
 

 พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตนเพื่อร่วมพิธีตั้งเปรตและชิงเปรตอาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่งฝ่ายมารดาครั้งหนึ่งจึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบ อาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิดได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น
 

ขนมเดือนสิบจัดขึ้นโดยเฉพาะใช้ในโอกาสทำบุญเดือนสิบที่จำเป็นมี  5  อย่าง คือ

  1. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนเสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม

  2. ขนมพอง  เป็นสัญลักษณ์แทนแพ  สำหรับญาติผู้ล่วงลับใช้เดินทาง

  3. ขนมกง ( ขนมไข่ปลา )  เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

  4. ขนมเจาะรู หรือขนมเจาะหู หรือขนมเบซำ  เป็นสัญลักษณ์แทนเงินสำหรับใช้จ่าย

  5. ขนมบ้า  เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า  สำหรับใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์

 

 ********************************************************************

ประเพณีที่มา

ประเพณีสารทในพระพุทธศาสนา พบว่า มีกำเนิดจากความเชื่อเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้ว่า

 พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทำบุญอุทิศให้กับเปรตที่เป็นญาติของพระองค์เอง
  ครั้งหนึ่ง.. เปรตผู้เป็นญาติทั้งหลายจึงแสดงเสียงเสียงโอดครวญน่าสะพรึงกลัวก่อกวนพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธจึงได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระศาสดา และนิมนต์คณะสงฆ์ไปรับมหาทาน ที่พระราชนิเวศน์เพื่อทำพิธีอุทิศส่วนกุศลแก่หมู่ญาติของพระองค์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายผ้าและไทยธรรมต่างๆ และทรงอุทิศพระราชกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
 

   ในครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร เห็นว่าหมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วนั้น อันได้ไปเกิดเป็นเปรต มีสภาพเช่นไร และหลังจากได้รับผลบุญที่อุทิศไปให้แล้วนั้นมีสภาพเป็นเช่นไร
 

   และในขณะที่พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกนั้น มีสระโบกขรณีที่เต็มไปด้วยดอกปทุมอันสวยงามได้บังเกิดขึ้น ทันใดเมื่อบรรดาเปรตเหล่านั้นได้ดื่มกินน้ำ ก็สามารถบรรเทาความกระหาย ครั้นเมื่อได้อาบน้ำนั้น พลันให้ได้มีผิวพรรณเหลืองอร่ามดุจทองคำเนื้องาม ร่างกายที่ผิดปรกติพิกลพิการไม่สมประกอบ กลับคืนดังคนปกติ ครั้นเมื่อได้รับอาหาร คาว-หวานอันเป็นทิพย์ ก็ทำให้ร่างกายที่ผ่ายผอมนั้นกลับสมบูรณ์มีน้ำมีนวลขึ้น

   จึงเป็นที่มาของการอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวด


  แต่ว่า เปรตเหล่านั้นก็ยังมิได้มีเครื่องห่อหุ้มร่างกายพระเจ้าพิมพิสารจึงได้กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า  เมื่อเป็นเช่นนี้ควรจะทำประการใด

  พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า ให้ถวายผ้าสบง จีวร และผ้านิสีทนะแด่พระภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว ทรงรีบรับสั่งให้บริวารจัดหาผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้ารองนั่ง มาถวายแด่คณะพระภิกษุซึ่งมีพระบรมศาสดาเป็นประมุข จากนั้นแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงอุทิศผลบุญนี้แก่หมู่เปรต
 

  ครั้นเมื่อเปรตทั้งหลายได้รับผลบุญแล้วเปล่งสาธุการออกมา จึงได้พากันเข้าไปอยู่ในวิมาน และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้เห็นอานิสงส์ของการทำทานและอุทิศส่วนกุศลผลบุญแก่หมู่ญาตินี้แล้วทรงมีความอิ่มเอม ยินดี เลื่อมใสและศรัทธาในการทำทานนี้มากยิ่งนัก

 

ในครั้งนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาอันปรากฏใน “ติโรกุฑฑสูตร” ตอนหนึ่งว่า ..

“อทาสิ เม อกาสิ เม ญาติมิตฺตา สขา จ เม เปตานํ ทกฺขิณํ ทชฺชา ปุพฺเพ กตมนุสฺสรํ ฯ”

” บุคคลมาระลึกถึงอุปการะที่ท่านผู้นี้ได้ทำให้แก่ตน ในกาลก่อนว่า ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนของเรา ควรให้ทักษิณาทานเพื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว”

โดยความหมายนั้นคือ.. “เราควรระลึกถึงบุญคุณผู้ที่เคยมีอุปการคุณ อันได้แก่ บิดา มารดา หรือญาติมิตรผู้ล่วงลับ และควรได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่หมู่ญาติมิตรนั้นๆ โดยการให้ทักษิณาทาน”
 

 

 

 

 

 

เชื่อกันว่า
เหล่าสัตว์นรกที่ได้เห็นพี่น้องลูกหลานของตน ทำบุญให้ทานรักษาศีลห้า ศีลแปด ตลอดจนได้บวชลูกหลานไว้ในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ต่างก็พากันยินดีชื่นชมโสมนัส ครั้นแล้วต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการและประสาทพรแก่ลูกหลาน ขอให้มีความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า

 

ตัวอย่างอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาลได้แก่

-- พระสารีบุตรเถระได้สร้างกุฎี 4 หลังถวายแก่สงฆ์พร้อมทั้งข้าวและนํ้า แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่เปรตที่เคยเป็นมารดา

-- นางติสสาอุบาสิกา ได้ถวายภัตตาหารและผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุ 8 รูปแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่นางเปรต เป็นผลให้ผู้ที่ได้รับส่วนบุญพ้นจากความเป็นเปรตได้

ปัจจุบันก็ได้มีกำเนิดและพัฒนาการมาจากความเชื่อในเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายนี้ด้วยเหมือนกัน
 

 ********************************************************************

ประเพณีปฏิบัติ

   ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท และขนมอื่น ๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น

ในวันงาน ชาวบ้ายจัดแจงนำข้าวปลา อาหาร และข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ทายก ทายิกา ไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่นไปฝากซึ่งกันและกันยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกลหรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน

    บางท้องถิ่นทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
 

 ********************************************************************

 

ความเชื่อและคติทางพุทธศาสนา

   วันสารท เป็นวันที่ถือเป็นคติและเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้และเชื่อว่า

  หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้วญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข

อีกประการหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลักในช่วงเดือน 10 นี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก
 

เมื่อพิจารณาจากมุมมองของพระพุทธศาสนาแล้ว ถือเป็นประเพณีที่มุ่งเน้นเรื่องกรรมและการทำบุญทำกุศล ปฎิบัติภาวนา เพื่ออุทิศส่วนกุศล  เป็นหลักซึ่งแจงได้  ดังนี้คือ

1) คติความเชื่อเรื่องบุญ เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา เพื่อความสุขของตัเอง และเพื่อทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย

2) คติความเชื่อเรื่องการบูชา เช่น การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ และการปฏิบัติ แต่การบูชาตามคติความเชื่อแบบโบราณก็ยังปรากฏอยู่เพราะมีการฆ่าสัตว์ คือ ไก่ ปลา และหมู เป็นเครื่องเซ่นไหว้ด้วย

3) คติความเชื่อเรื่องความกตัญญู คือ การปรนนิบัติบิดามารดา ครูอาจารย์ ยอมรับคำสั่งสอน และตอบแทนผู้มีพระคุณ ด้วยปัจจัยสี่

4) คติความเชื่อเรื่องสังคหวัตถุ คือ ในประเพณีสารทนี้จะมีการแบ่งปันกันของคนในครอบครัวและชุมชน

 

วันเวลา

 การกำหนดทำบุญวันสารท มีความคลาดเคลื่อนกันบ้างในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น

--  ภาคกลาง กำหนดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

-- ภาคใต้ กำหนดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันรับตายาย และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันส่งตายาย

-- ชาวมอญ กำหนดวันขึ้น 15 ค่ ำ เดือน 11

   อย่างไรก็ตาม สารทไทยโดยทั่วไป ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เนื่องจากนับถัดจากวันสงกรานต์ ตามจันทรคติจนถึงวันสารทจะครบ 6 เดือน พอดี

 

 ********************************************************************

 

การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

จากสมัยพุทธกาล การที่พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกอุทิศบุญกุศลให้บรรพบุรุษที่เป็นเปรตนั้น กลายเป็นที่มาของการอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวด แต่แท้ที่จริงแล้ว การอุทิศส่วนกุศลที่เรียกว่าปัตติทานมัยนั้น เดิมทีไม่ต้องใช้น้ำเลย ฉะนั้น การอุทิศส่วนกุศล จะมีน้ำด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น

แต่การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ไปเกิดเป็นเปรตนั้น บุญนั้นจะต้องเกิดจากทานเท่านั้น และเปรตที่จะได้รับส่วนบุญนี้ก็เฉพาะ ปรทัตตูปชีวิเปรต คือ เปรตที่อาศัยทานที่คนอื่นให้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อย่างนี้

 

ซึ่งการที่พวกเปรตจะได้รับส่วนบุญนั้น ต้องประกอบครบถ้วนด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ

1. การอุทิศของผู้ให้

2. การอนุโมทนาของเปรต

3. ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) เป็นผู้ทรงศีล

 
คำอธิษฐานอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง เม คะรุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คะรุปัชฌายาจะริยา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ สัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

 

 ********************************************************************

 

กิจกรรมวันสารท

 การตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ การตักบาตรที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่นได้แก่

-- ตักบาตรขนมกระยาสารท

          ขนมกระยาสารทเป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งจะขาดเสียมิได้ด้วยมีความเชือที่ว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้

--  ตักบาตรน้ำผึ้ง

          เป็นที่นิยมในบางท้องถิ่นเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นชาวไทยมอญ ที่นิยมตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง เนื่องจากมีเรื่องเล่าตามพุทธประวัติว่า "ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษา ณ ป่าปาริไลยก์ เพียงพระองค์เดียว แต่มีผู้ถวายอุปัฏฐากเป็นช้างปาริเยยกะ เป็นผู้คอยถวายน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และลิงเป็นผู้หาผลไม้มาถวาย วันหนึ่งลิงได้นำน้ำผึ้งมาถวาย การถวายน้ำผึ้งจึงเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"

-- ฟังธรรมเทศนา

-- ถือศีลภาวนา

-- ปล่อยนกปล่อยปลา

 ********************************************************************

 

เรียบเรียงจากที่มา

-- http://www.school.net.th/library/create-web/10000/sociology/10000-10526.html

-- http://www.mcu.ac.th/site/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=843
-- http://www.oknation.net/blog/nidnhoi/2011/09/06/entry-2

-- https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=315330711938083&id=198016710336151

 -- http://wadsana2712.files.wordpress.com/2012/06/n03.jpg

-- http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2009/04/Y7703633/Y7703633.html

-- http://www.meditation888.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%8C/ 

http://www.academia.edu/3640773/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7_%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%AA_%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A8%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97

 

 

แหล่งข้อมูล
ศึกษาคติทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในประเพณีสารทเดือนสิบ (แซนโฎนตา) ของจังหวัดสุรินทร์ (๒๕๕๔) สืบค้นจาก http://www.mcu.ac.th/site/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=843 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 60
ทำไมต้องทำบุญวันสารท(แรม1-15ค่ำ เดือน10) สืบค้นจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/nidnhoi/2011/09/06/entry-2 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 60
วัดป่าบุญล้อม สืบค้นจาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=315330711938083&id=198016710336151 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 60
กระทู้พันทิพ เรื่อง การอุทิศส่วนกุศล โดยเป็นประธานกฐินปีละวัด สืบค้นจาก http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2009/04/Y7703633/Y7703633.html
สืบค้นจาก http://www.academia.edu/3640773/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7_%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%AA_%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A8%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 60 การศึกษาเปรียบเทียบประเพณีสารทเดือนสิบกับแนวคิดเรื่องกรรมและการอุทิศส่วนกุศลในพุทธศาสนานิกายเถรวาท
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow