มือขวาจับภาชนะ มือซ้ายประคอง รินน้ำใส่ภาชนะรองรับ พระสงฆ์สวดบท ยถา...เป็นอาการคุ้นเคยของพระพุทธศาสนิกชนผู้เคยร่วมพิธีประกอบการบุญการ กุศลในทางพระพุทธศาสนา รับรู้โดยทั่วไป ว่าอาการเช่นนี้ เรียก “กรวดน้ำ” กรวดน้ำ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ”
ก็คือการหลั่งน้ำ ตามประเพณีไทยใช้หลั่งลงในภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเวลาประกอบการกุศล เช่น การให้ทานเสร็จแล้ว ตอนที่พระอนุโมทนา คือ สวดบท ยถา วาริวหา ฯลฯ ก็เริ่มกรวดไปหยุดตอนถึง มณิ โชติรโส ยถา ก็นำน้ำที่กรวดแล้วนั้นไปเทลงบนแผ่นดิน
ในตำราเก่าๆ รวบรวมไว้โดยนาค ใจอารีย์ กล่าวถึงจุดประสงค์ของการกรวดน้ำเพื่อแสดงเจตนาบริจาค อย่างแท้จริง และเด็ดขาด ปราศจากความตระหนี่เหนี่ยวแน่น เป็นการบริจาคด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ มิได้หวังผลใดๆ ตอบแทนจากผู้รับบริจาคเลย เหมือนน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน ที่ได้หลั่งออกนั้น
เช่นในเมื่อมีใครมายืมเงินหรือสิ่งของของเราแล้ว เผอิญผู้นั้นไม่ได้ใช้แล้วตายไป เมื่อเราจะสละให้เขาเสียเด็ดขาด ไม่ทวงถามอีกต่อไป เรามักจะกล่าวกันว่า กรวดน้ำคว่ำขันให้เขาไปเสีย แม้จะเป็นการจำใจยอมสละก็ต้องถือว่าเป็นการให้เด็ดขาดไปแล้ว จิตใจไม่มีที่จะคิดเรียกคืนอีก ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ถือว่า วิญญาณของผู้ตายจะเป็นห่วงไม่ได้ไปเกิดไปขาน เดี๋ยวจะมาวนเวียนหลอกหลอนอยู่ ไม่รู้จบ เพราะฉะนั้น จะให้อะไรก็ตาม เมื่อมีการกรวดน้ำแล้วจึงถือว่าให้โดยเด็ดขาด ต่อมาคำว่ากรวดน้ำนี้จะกรวดจริงหรือไม่ก็ตาม เมื่อให้โดยเด็ดขาดแล้ว ก็เท่ากับว่าได้กรวดน้ำไปด้วย
เพื่อแสดงความปรารถนาอันเป็นความตั้งใจมั่นซึ่งเรียกว่า อธิษฐาน ที่ตนต้องการผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พระเวสสันดรบริจาคพระโอรสและพระธิดาแก่ตาเฒ่าชูชกก็ตั้งปรารถนาว่า
“ด้วยเดชผลทานในครั้งนี้ จงสำนึก จงสำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชรพุทธรัตนอนาวรญาณในอนาคตกาลโน้นเถิด”
เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้มีใจกว้างขวาง ประกอบด้วยเมตตาธรรม โดยตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ตนได้ทำนี้ เผื่อแผ่ไปในญาติมิตร สหาย และสรรพสัตว์ทั่วไป ไม่เลือกหน้า
ดังจะเห็นได้ว่าในบทกรวดน้ำทุกบทจะมีคำแผ่ส่วนกุศล ให้คนและสัตว์ตลอดถึงเทพเจ้าทั่วไป ให้ได้มีส่วนได้รับผลบุญที่ตนได้กระทำเสมอ เท่ากับเป็นการฝึกหัดใจให้มีน้ำใจ คือให้เยือกเย็นชื่นฉ่ำอยู่ด้วยน้ำ คือ เมตตาเป็นนิจ
อีกประการหนึ่งเชื่อกันว่า น้ำที่กรวดนี้เมื่อนำไปเทลงบนแผ่นดินแล้วแม่พระธรณีจะรับด้วยมวยผมเก็บรักษา ไว้ให้เพื่อเป็นพยานว่า ผู้นั้นได้ทำบุญกุศลไว้มากน้อยเท่าไหร่ เมื่อถึงคราวคับขันที่มีความจำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือให้ขจัดปัดเป่าสิ่ง ชั่วร้ายทั้งหลาย ก็จะได้อ้างเป็นพยาน ช่วยปราบปรามเหล่าปัจจามิตรให้พินาศพ่ายแพ้ไปได้ เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้เคยทรงอ้างมาแล้ว แม่พระธรณีก็ได้มารีดมวยผมให้น้ำท่วมเหล่ามารร้ายพ่ายแพ้ไป นี่ท่านกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นเป็นตัวบุคคลขึ้น
แต่ถ้าจะกล่าวเป็นทางธรรมแม่พระธรณีนั้นก็คือ บารมีอันได้แก่คุณงามความดีต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญสะสมมาในอเนกชาติ แม้ด้วยการกรวดน้ำเพียงนิดหน่อย แต่ละครั้งที่ทำบุญกุศล แต่อาศัยที่ทำบ่อยครั้งและมากครั้งก็มากมายเหลือเกินจนเทียบได้กับน้ำใน มหาสมุทร