ความหมายของอภัยทาน โดย พระอาจารย์อมโร

โพสต์เมื่อ : ๒๔ พฤศจิกายน

ความหมายของ “อภัยทาน” โดย พระอาจารย์อมโร เจ้าอาวาสวัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ


แม้แต่ภาษาอังกฤษ คำว่า forgiveness ยังมีคำว่า give หรือ ทาน ในความหมาย


คำว่า อภัย ในภาษาบาลี แปลว่า ไม่กลัว

การที่จะทำให้ผู้อื่นไม่เห็นเราเป็นภัย คือ การไม่ปรุงแต่ง ไม่ถือว่าเขาหรือเรา เป็นหญิงเป็นชาย มีสถานะทางสังคมอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านั้นคือการตีกรอบคน ทำให้การกระทำใด ๆ ต่อผู้นั้นก็จะตีกรอบแคบลงมา

 

การอภัย คือ การไม่ตีกรอบเขา ตามสิ่งปรุงแต่ง ว่าเขาเป็นนั่นเป็นนี่ ทำให้เราไม่ต้องไปตัดสินเขาไปล่วงหน้า ว่าเพราะเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาจึงน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เขาจึงน่าจะเป็นน่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ ตามสิ่งสมมติที่ตีกรอบไว้

 

เช่นกัน เวลาพระอาจารย์เจอเด็กเล็ก 14 เดือน ก็ยังคุยกับเขาเหมือนผู้ใหญ่ ทั้งที่พ่อแม่จะรู้สึกแปลกใจ แต่เพราะพระอาจารย์ข้ามกรอบของสิ่งสมมติว่า เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ แต่เป็นการคุยแบบเคารพในตัวตนของเขา แม้จะอยู่ในกายที่ภายนอกเป็นแค่เด็ก

 

เมื่อเรามองแต่ละคนที่ตัวตนจริง ๆ โดยไม่มีกรอบของอคติครอบไว้ ทำให้เราไม่ด่วนตัดสินอะไรไปก่อน  เช่น เวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน จะไม่ด่วน โมโห เมื่ออีกฝ่ายเริ่มพูดอะไร เพราะในใจตัดสินไปแล้วว่า เขาจะต้องพูดต้องทำแบบนั้นแน่ ๆ  เพราะไม่สนใจเรา แต่จะหยุดฟังเหตุผลก่อน

 

นั่นคือ ใจจะเริ่มมีสติ ไม่ด่วนตัดสิน

สติจะทำให้มีการตรึกตรองก่อนทำตามอารมณ์

เมื่อฝึกเช่นนี้จนชำนาญ ทำให้โลกนี้ลดความขัดแย้งกัน และแต่ละคนจะเริ่มรู้จักการใส่ใจกันและกัน (ใจเขามาใส่ใจเรา)  เข้าใจความแตกต่างของกันและกัน เข้าใจว่า ความเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

 

เมื่อทำได้บ่อยขึ้น ทำให้จิตใจก็จะสงบลง และมีเมตตาต่อคนอื่น ให้อภัยผู้อื่น รับฟังความเห็นที่แตกต่างของคนอื่นได้ เพราะเข้าใจเขาใจเรา และเกิดความเคารพในตัวตนของกันและกัน ทำให้อีกฝ่ายก็เย็นลงได้เพราะอีกฝ่ายรับฟังความเห็น

 

 จากก่อนหน้านี้ แค่เห็นหน้า ก็ด่วนตัดสินล่วงหน้าไปตามอารมณ์ ตามความคิดของตนเป็นใหญ่ จนเกิดความรุ่มร้อนใจ

 
 

(เป็นการเรียบเรียงจากเนื้อหาบรรยายธรรมของพระอาจารย์อมโร  หากผิดพลาดหรือตกหล่นประการใด ทางทีมงานขอกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้) 

 

©ทรูปลูกปัญญา