สถานที่บรรพชา วัดเม็งรายมหาราช

วัดเม็งรายมหาราช เป็นวัดในสังกัดคณะธรรมยุต เดิมเป็นวัดร้างชื่อ วัดดอยฮ่องลี่ เพราะตั้งบนภูเขาลูกเล็กๆ มีพื้นที่ ๔๘ ไร่ ๑ งาน ๘๑ ตารางวา และมีพระเจดีย์เก่าเป็นหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นวัดเก่ามาก่อน มีกุฏิไม้เพียงหนึ่งหลัง ที่เชิงเขาทิศเหนือของวัดเป็นฌาปนกิจสถานของชาวบ้าน แวดล้อมด้วยป่ารกทึบซึ่งส่วนมากเป็นไม้ไผ่ ต่อมาได้นามว่า วัดจอมเวฬุวัน (เวฬุ แปลว่า ไม้ไผ่)

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๖ คณะศรัทธาของวัดได้ไปกราบอาราธนานิมนต์ พระครูสมุห์ดวงจันทร์ กันตสีโล จากวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านพระครูสมุห์ดวงจันทร์ได้ร่วมกับค่ายเม็งรายมหาราชและคณะศรัทธาทำการฟื้นฟูบูรณะวัด โดยปลูกต้นไม้ต่างๆ อาทิ ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้รัง เป็นลำดับสืบมาทุกปี และเริ่มก่อสร้างศาสนวัตถุ ปรับสถานที่ สร้างถนนขึ้นวัด สร้างถนนรอบเขตพุทธาวาส สร้างอาคารเอนกประสงค์ บูรณะพระเจดีย์ และอีกมากมาย

ในบั้นปลายของพระครูสมุห์ดวงจันทร์ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสนาธุระที่ “พระมงคลวุฒาจารย์” นับได้ว่าวัดเม็งรายมหาราชได้ตั้งขึ้นก็ด้วยกำลังหลักคือ หลวงพ่อใหญ่ (พระมงคลวุฒาจารย์) และค่ายเม็งรายมหาราช โดย พ.อ. ยรรยง หงษ์สีทอง อดีตผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงรายและคณะศรัทธา จนได้รับเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างและวัดพัฒนาดีเด่น

สถานที่ปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ตลอดโครงการ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน

ความเป็นมา

ท่านว.วชิรเมธี มีความปรารถนาที่จะจัดหาสถานที่แห่งหนึ่งสำหรับเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก โดยสถานที่แห่งนั้นจะต้องมีเนื้อที่กว้างขวาง สำหรับรองรับการจัดหลักสูตรสมาธิภาวนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ด้วยแมกไม้ไพรพงก่อให้เกิดความสดชื่นรื่นเย็นแก่ผู้มาศึกษาและปฏิบัติธรรม เมื่อแสดงเจตนารมณ์เช่นนี้ออกไปในวงกว้าง มีพุทธศาสนิกชนหลายรายได้แสดงความจำนงค์ถวายที่ดินเพื่อสนับสนุนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่เมื่อผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการแล้ว ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า สถานที่ที่เรียกว่า “ไร่เชิญตะวัน” อันตั้งอยู่ ณ บ้านใหม่สันป่าเหียง ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย นั้นมีความเหมาะสมที่สุด เพราะมีเนื้อที่กว้างขวางกว่า ๒๐๐ ไร่ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปก็ร่มรื่น มีทั้งแหล่งน้ำ ขุนเขา อากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี การเดินทางไปมาก็สะดวกด้วยไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนมากเกินไป นับว่ามีความพร้อมที่สุด ท่านว.วชิรเมธี จึงได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน” และเริ่มเข้ามาพัฒนาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๔ ประการ ได้แก่ ส่งเสริมการศึกษา, เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกล, ร่วมใจพัฒนาสังคม และสร้างค่านิยมแห่งสันติภาพ และได้มีการเริ่มจัดหลักสูตรสอนสมาธิภาวนาแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา

ความหมาย

“เชิญตะวัน” หมายถึง เชิญธรรมะซึ่งเป็นดั่งดวงตะวันเข้ามาสู่ชีวิต เมื่อดวงตะวันอุทัยขึ้นมาในโลก ความมืดย่อมอันตรธานไป ฉันใด เมื่อธรรมะงอกงามขึ้นมาในชีวิต ความโลภ โกรธ หลง ก็อันตรธานไป ฉันนั้น