สิ่งที่โควิด-19 ได้สอนเราเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
Posted By Plook Magazine | 06 ก.ย. 64
6K views

Shares
0

“ภูมิขึ้นเท่าไหร่” น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้มากที่สุดเมื่อได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นความจริงที่ว่าวัคซีนที่มีคุณภาพที่ผลิตด้วยวิธี mRNA นั้นสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้สูงมาก แต่ในชั่วโมงที่วัคซีนที่มีคุณภาพยังมาไม่ถึงเราสักที (และดูเหมือนจะต้องรอกันไปอีกสักพักใหญ่ ๆ) มีอะไรที่เราต้องรู้บ้างเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า Antibody (แอนติบอดี) 

 

ในสถานการณ์แบบนี้ การมี ‘ภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรง’ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ก่อนหน้าที่โรคโควิด-19 จะอุบัติขึ้น แอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญมากนักในแง่ของการดูแลสุขภาพ แต่เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ‘ภูมิคุ้มกัน’ ก็กลายเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาจะมีให้ได้มากที่สุด เนื่องจากภูมิคุ้มกันคือ โปรตีนในร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันหลัก ๆ ที่มีต่อเชื้อไวรัสต่าง ๆ ตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อโรค ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น ๆ และระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถจดจำเชื้อโรคนั้นได้ ดังนั้นเมื่อร่างกายได้รับเชื้ออีกในอนาคต ร่างกายที่จดจำเชื้อโรคได้ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว

 

ยกตัวอย่างเช่น การทำงานของวัคซีนโควิด-19 หลังจากที่ได้รับวัคซีน ระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มทำงาน เม็ดเลือดขาวจะเข้าไปจับกับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามาและทำการจดจำไว้ โดยเม็ดเลือดขาวจะผลิตแอนติบอดีขึ้นมาสู้กับเชื้อโรคนั้น ทำให้ภายหลังหากเราได้รับเชื้อโรคนี้อีก ระบบภูมิคุ้มกันที่ได้จดจำเชื้อโรคนั้นไว้แล้วจะสามารถหาวิธีต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นได้อย่างรวดเร็วก่อนที่เราจะป่วยหนักนั่นเอง

 

 

 

แต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาและคุณภาพของวัคซีน เหมือนอย่างที่เราต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปสักระยะแล้ว ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่าวัคซีนที่ดีและมีประสิทธิภาพก็จะอยู่ในร่างกาย เป็นเหมือนเกราะป้องกันโรคให้กับเราได้นานกว่าเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม โดยเฉพาะวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ 

 

หากถามว่าภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19  เราสามารถสร้างเองได้ไหม ? คำตอบแบบไม่โลกสวยก็คือ เราสร้างเองไม่ได้โดยตรงแน่นอน แต่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ก็ถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง มันเกิดจากการทํางานประสานกันอย่างเหมาะสมระหว่างเซลล์ต่าง ๆ ผ่านกลไกลอันละเอียดอ่อน ซับซ้อน และทำงานเป็นทีม โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์จะแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ ดังนี้

 

• Innate immune response ตอบสนองต่อเชื้อโรคได้เร็ว แต่ไม่มีความจำเพาะและไม่จำเชื้อโรค 

• Adaptive immune response ตอบสนองช้าหน่อย แต่มีความจำเพาะแถมยังจำเชื้อโรคได้ดี

 

ระบบภูมิคุ้มกันทั้งสองระบบนี้ทำงานช่วยเหลือกัน แม้จะทำงานต่างกันนิดหน่อยในแง่ของความเร็วในการตอบสนองต่อเชื้อโรค เพราะเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันแบบ Innate จะวิ่งไปตอบสนองกับเชื้อโรคในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงจะส่งต่อให้ระบบ adaptive จัดการต่อไป เนื่องจากระบบ Innate มีตัวรับที่ใช้จับกับส่วนของเชื้อโรค (ชื่อว่า PRR) ที่จำกัด คือถ้าเชื้อโรคมันแปลงร่างเปลี่ยนโครงสร้างไป ระบบ Innate ก็จะไม่สามารถป้องกันร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ทำให้คู่หูอย่างระบบ adaptive ที่ประกอบด้วย T cell และ B cell ซึ่งมีความสามารถในการตอบสนองต่อเชื้อโรคที่หลากหลายมากกว่าทั้งต่อเชื้อในเซลล์และนอกเซลล์ โดยมีตัวรับที่ใช้จับกับส่วนของเชื้อโรค (Receptor) ที่มีความจําเพาะต่อแอนติเจน (Antigen specific receptor หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย) ซึ่งถือเป็นกลไกสําคัญของการตอบสนองแบบ adaptive เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันมีความจำเพาะต่อการรับรู้แอนติเจน เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกายระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำการตอบสนองด้วยการสร้างแอนติบอดีมาคุ้มกันทันที ทำให้การตอบสนองระบบ adaptive มีความหลากหลายกว่า จําเพาะกว่า และมีความสามารถในการจําเชื้อโรคได้ดีเยี่ยม

 

โครงสร้างของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปตัว Y
Cr. pidst.or.th

 

ในขณะที่หน้าตาของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะมีลักษณะคล้ายมงกุฎเมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน โดยเกิดจากไวรัสใช้โปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ในกลุ่มโปรตีน 4 ชนิดคือ โปรตีน spike (S) membrane (M) envelope (E) และ nucleocapsid (N) โปรตีน S เป็นโปรตีนท่ียื่นออกมาจากชั้นเปลือกนอก (envelope) ของอนุภาคไวรสับนผิวของไวรัส ซึ่งโปรตีนทั้งหมดมีรูปร่างเฉพาะเจาะจงมากจนสามารถจับกับโปรตีน angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) บนผิวของเซลล์มนุษย์ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์จนทำให้ป่วยได้  

 

หน้าตาของไวรัสโคโรนาเมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน
Cr. MDPI

 

ที่เกริ่นมาซะยาวเหยียดนี้ก็เพื่อที่จะให้เราเข้าใจว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราต่อเชื้อโรคนั้นทำงานอย่างขยันขันแข็ง เป็นทีมเวิร์คและฉลาดแค่ไหน และในฐานะที่เรายังไม่ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะสู้กับเชื้อโรคโดยตรง เราก็สามารถที่จะส่งเสริมภูมิคุ้มกันทั้งสองระบบทางอ้อมได้ โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันระบบ Adaptive immune response ที่ประกอบดวย T cell และ B cell ที่มีส่วนอย่างมากในการสร้างแอนติบอดี การที่เราหมั่นสร้างภูมิคุ้มกันส่วนนี้เอาไว้อย่างดี แม้จะยังไม่ได้มีงานวิจัยใด ๆ มารองรับ แต่ตามหลักเหตุผลแล้ว หากเราบำรุงร่างกายอยู่เสมอเพื่อให้ T cell และ B cell  ของเราแข็งแรง ก็จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อเชื้อโรคเมื่อได้รับวัคซีนนั้นยิ่งสูงตาม และนี่คืออาหารทั้งหมด 8 อย่างที่จะช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวและ T cell ที่หาได้ง่ายและใกล้ตัว 

 

 

อาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว และ T cell 

1. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยวิตามินซี ไบโอฟลาโวนอยด์และสารพฤกษเคมี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

2. ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว และเกรปฟรุต มีวิตามินซี ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค

3. ปลา มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และไขมันที่มีประโยชน์ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. พริกหยวกสีแดง มีวิตามินซีเป็นสองเท่าของผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

5. โยเกิร์ต เป็นแหล่งของวิตามินดีและมีจุลินทรีย์มีชีวิตชนิดดี ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

6. ชาเขียว เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระแคทิชิน และกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า แอล-ธีอะนีน ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการสร้างสารประกอบที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคให้กับ T cell 

7. ขิง เปรียบเสมือนยาปฏิชีวนะตามธรรมชาติและเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอาการเจ็บคอและภาวะอักเสบต่าง ๆ

8. ขมิ้นชัน สมุนไพรที่เชื่อกันมานานว่าช่วยต่อต้านการอักเสบ สารเคอร์คูมินที่อยู่ภายในขมิ้นชันช่วยเพิ่มปริมาณและกระตุ้นการทำงานของ T cell 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

• รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง

 ผัก 5 สี ผลไม้ 5 อย่าง สมุนไพร 5 รส ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย

 วัยรุ่นเตรียมตัว 'ห่างกันสักพัก' ป้องกันโควิด-19

 นอนดึก ตื่นเช้า กินอะไรดีเพื่อบำรุงให้ร่างกายสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย

 Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา

 รวมอาหารอร่อย กินแล้วอารมณ์ดี ช่วยลดความเครียดได้ !

 Lucid Dream เมื่อคนเราควบคุมความฝันตัวเองได้

 Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

 พัฒนาและฟื้นฟูสมองด้านความจำด้วยวิธี Walking Exercise

 ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้

 กินอะไร นอนกี่โมง เพื่อให้ผิวสวยสุขภาพดี มีออร่าแบบสาวเกาหลี

 

 

แหล่งข้อมูล

- ภูมิคุ้มกันวิทยาและวัคซีน

- กักตัวอยู่บ้าน กับ 8 อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน 

- ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับไวรัส SARS-CoV-2: ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19

- งานวิจัยจาก MDPI เรื่อง Comparison and Analysis of Neutralizing Antibody Levels in Serum after  Inoculating with SARS-CoV-2, MERS-CoV, or SARS-CoV Vaccines in Humans

- คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน  

 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Tags