นั่นเป็นประโยคหนึ่งจากหนังสือการเงินคนจน (The Poor And Their Money) ที่เขียนโดย ‘สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด’ นักวิจัย ที่ปรึกษา และผู้ประกอบการด้านไมโครไฟแนนซ์ และ ‘สุขวินเดอร์ อาโรรา’ ทั้งคู่ทำงานวิจัย เดินทางศึกษาพฤติกรรมการใช้เงิน การตัดสินใจทางการเงิน วิธีเก็บเงินของคนจนทั่วประเทศที่มีรายได้ต่ำมาก ๆ เป็นเวลานานกว่า 30 กว่าปี และพบความจริงที่ว่า ทำไมคนจนไม่เอาเงินไปฝากธนาคาร ทำไมคนจนกินอาหารแปรรูปซะส่วนใหญ่ ทำไมไม่กินอาหารเฮลตี้ที่ดีต่อสุขภาพ ทำไมไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือทำไมคนจนถึงไม่นำเงินที่เก็บสะสมไว้ได้ 200-300 บาทต่อเดือนไปฝากธนาคาร
รวมถึงทำไมคนจนต้องซื้อหวยและส่วนใหญ่เป็นหวยใต้ดิน ต้องเล่นการพนันทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยงที่จะเสียเงินก้อน ? และเอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ เป็นเพราะคนจนไม่มีความหวังว่าจะเก็บเงินได้ แต่มีความอยากที่จะได้เงิน ซึ่ง ‘ความอยาก’ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน ทุกคนอยากมีเงินเก็บกันทั้งนั้น ความอยากมีเงินสักแสน ทำให้ “หวย” เป็นทางเลือกของคนจน หรือทำไมคนจนเอาเงินไปซื้อทีวี แทนที่จะเก็บเงินไว้ให้ลูก ๆ ได้เรียน ก็เพราะชีวิตคนจนมันเต็มไปด้วยความเครียดในการดิ้นรนหาเงินทุกวันไม่ได้หยุดพัก ทำให้เขาต้องการการผ่อนคลายซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคนจนไม่อยากออมเงิน แต่คนจนเสียเปรียบมาก ๆ เวลาที่จัดการเงินต่างหาก เพราะธนาคารและบริษัทประกันที่ให้บริการแก่ผู้ที่มีกำลังซื้อแทบไม่เคยให้บริการคนจน ดังนั้นจึงทำให้คนจนหมดหวังและพยายามหาวิธีการออมที่ต่างออกไป เราจะมาพูดถึงปัจจัยที่ทำให้คนจนไม่สามารถออมเงินได้และวิธีที่พวกเขาเก็บออมเงินกัน
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนจนเก็บออมยากมาก ๆ ที่เรานึกไม่ถึงกันก็คือ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยคนมีรายได้น้อย พวกเขาออมเงินได้ยากมากเนื่องจากมีบ้านอยู่ในทำเลที่คนส่วนใหญ่ติดเหล้า ติดการพนัน ชอบลักขโมย บ้านก็ไม่มีรั้วรอบขอบชิด แถมหลายคนยังมีคนในครอบครัวที่ชอบขโมยเงินอีกต่างหาก แม้ว่าจะอยากเก็บเงินเพียงแค่วันละ 5 บาทก็ยากที่จะเก็บได้ บวกกับคนจนหลายคนหาเช้ากินค่ำ อยู่ในพื้นที่กันดารการเดินทางเข้ามาฝากเงินย่อมมีค่าใช้จ่ายและยังทำให้เขาเสียโอกาสที่จะหารายได้ของวันนั้นไป ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีเงินเพื่อซื้ออาหารหรือสิ่งที่จำเป็นในวันนั้น สำหรับคนจนการที่จะเดินทางเพื่อนำเงินไปฝากธนาคารมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและการเดินทางยากนี้เองที่ทำให้คนจนเก็บออมไม่ได้
คนจนในประเทศอินเดียนิยมใช้บริการที่เรียกว่า ‘นักรวบรวมเงินฝาก’ นอกระบบหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พวกเขายอมจ่ายเงินค่าบริการให้กับใครสักคนที่ไว้ใจได้ให้เก็บออมเงินของพวกเขาให้ปลอดภัยนั่นเอง ขอยกตัวอย่างการออมในสลัมทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวิชัยวาทะ ประเทศอินเดีย คนที่นั่นนิยมจ้างนักรวบรวมเงินฝากนอกระบบมาเก็บเงินออมของพวกเขา เพราะปลอดภัยกว่าจะเก็บไว้กับตัวหรือในบ้านที่ไม่ปลอดภัย โดยผู้ทำหน้าที่เก็บเงินออมจะแจกบัตรให้ลูกค้าทุกคนโดยจะตีตารางเป็นช่องในแนวนอนและแนวตั้งตามความต้องการจะออมจะลูกค้า เช่น ลูกค้าอยากออมเงินวันละ 5 รูปี ติดต่อกันเป็นเวลา 220 วัน (แนวนอน 11 แถว แนวตั้ง 20 แถว) หากพวกเขาส่งเงินอย่างสม่ำเสมอวันละ 5 รูปี เมื่อครบ 220 วันพวกเขาก็จะได้เงิน 1,100 รูปี (แต่จะถูกคิดค่าบริการในการฝากออม 100 รูปี ดังนั้นผู้ฝากก็จะได้รับเงินก้อนกลับไป 1,000 รูปี) แถมคนเก็บเงินยังมาเก็บเงินถึงที่บ้าน ทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน และประหยัดค่าเดินทางอีกด้วย
คนจนยังชีพด้วยรายได้จำนวนน้อยนิดและไม่สม่ำเสมอ พวกเขาหาเช้ากินค่ำทำให้การวางแผนระยะยาวเป็นเรื่องยากและจับต้องไม่ได้ กล่าวคือพวกเขาไม่พร้อมที่จะเก็บเงินสำหรับวัยเกษียณเพราะไม่ได้มีสภาพคล่องทางการเงินมากมาย หรือมีเงินเหลือเก็บมากพอ เมื่อการเก็บเงินให้ลูกได้เรียนหนังสือหรือไปโรงเรียนในแต่ละวัน บวกกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมันก็ยังยากเย็นแสนเข็ญ ไหนจะต้องใช้จ่ายในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญในอนาคต เช่น การแต่งงานที่ต้องใช้เงินมาก การตายของคนในครอบครัว ฯลฯ
วิธีที่คนรายได้น้อยทำกันก็คือ พวกเขามักตั้งเป้าหมายระยะสั้นเสมอ และสร้างวิธีเก็บเงินที่เหมาะกับเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งนั่นก็คือ ‘วงแชร์’ วงแชร์จะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์คือการออมเงินร่วมกันโดยมีขั้นตอนก็คือ ทุกคนจะวางเงินกองกลางของตัวเองเอาไว้ หลังจากนั้นก็แจกจ่ายแก่สมาชิกตามลำดับจนกว่าจะครบทุกคน วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ทำให้คนที่มีความต้องการใช้เงินในเวลานั้น ๆ สามารถมีเงินในการใช้จ่ายได้ ในขณะที่สมาชิกคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับเงินก็จะได้รับในงวดต่อไปแทนนั่นเอง
นอกจากนี้คนจนในแถบหนึ่งที่มักจะมุงบ้านด้วยใบไม้ที่ไวไฟยังคิดวิธีออมเงินที่เรียกว่า ชมรมออมเงินสะสมทรัพย์เพื่อที่ว่าหากบ้านไหนเกิดไฟไหม้ขึ้นมาก็สามารถที่จะเอาเงินก้อนที่สะสมในชมรมไว้ไปใช้สร้างบ้านใหม่ได้ (คล้ายกับประกันภัยบ้าน ประกันอัคคีภัย เพียงแค่ว่าคนจนเขาเข้าไม่ถึงเท่านั้นเอง)
วินัยคือสิ่งสำคัญในการเก็บออมเงิน และดูเหมือนว่าคนจนก็มีวินัยในการเก็บเงินที่ไม่ได้น้อยไปกว่าคนอื่น กล่าวคือคนจนเป็นคนที่เก็บเงินได้ตามเป้าหมายเก่งทั้งที่หลายคนอาจคิดว่าคนจนเก็บเงินไม่เก่ง แต่จริง ๆ แล้วคนจนเป็นกลุ่มที่มักมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จสูงเพราะพวกเขามักตั้งเป้าหมายเก็บออมในระยะสั้น และทุกเรื่องมักเป็นเรื่องจำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น เก็บเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่าไฟ จ่ายค่าเทอมลูก อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีระบบออมเงินให้เลือกมากนัก และมันยากมากที่จะเก็บออมเงินอย่างปลอดภัยหรือเก็บเงินตามลำพัง ลักษณะการออมของคนจนจึงไม่ได้เป็นไปทีละมาก ๆ แต่เป็นการออมทีละน้อย ๆ ไปจนถึงน้อยมาก ๆ และการออมทีละน้อยนั้นแสดงให้เห็นถึงความมีวินัยทางการเงินที่สูง เพราะคนที่มีวินัยทางการออมเงินสูงมักดูได้จากความถี่ที่เขาออมเงินนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด
ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้
รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !
เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ
รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้
รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท
The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !
แหล่งข้อมูล
การเงินคนจน. รัทเทอร์ฟอร์ด, สจวร์ต. กรุงเทพฯ: ซอลท์ พับลิชชิ่ง, 2563.
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป