12 Soft Skills สำคัญที่ควรมีติดตัวก่อนเรียนจบ
Posted By Plook Magazine | 02 ก.ค. 64
17K views

Shares
0

Soft Skills ถือเป็นทักษะที่สำคัญทั้งในโลกของการเรียนและการทำงาน มันสำคัญมากถึงขนาดที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งออกมาบอกเลยว่าใครที่มี Soft Skills เยอะก็จะยิ่งได้เปรียบและโดดเด่นมากขึ้น นั่นก็เพราะมันเป็นทักษะที่คนเราต้องใช้เพื่อสานสายสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือเป็นทักษะด้านอารมณ์และการเข้าสังคมนั่นเอง มาดูกันดีกว่าว่าก่อนเรียนจบ น้อง ๆ ควรมี Soft Skills อะไรติดตัวกันบ้าง 

 

 

Soft vs Hard แตกต่างแต่ไม่แปลกแยก

ปัจจัยทางภูมิประเทศ วัฒนธรรม เทคโนโลยี รูปแบบการผลิต และอีกมากมายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ล้วนมีอิทธิพลต่อรูปแบบของทักษะในการใช้ชีวิต เช่น คนงานอุตสาหกรรมก็จะมีทักษะในการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง กลุ่มชาติพันธ์ุที่พึ่งพาระบบนิเวศท้องถิ่นก็จะมีทักษะในการดำรงชีพอีกรูปแบบหนึ่ง ทักษะเชิงเทคนิคที่ต้องมีความเข้าใจและความชำนาญเพื่อใช้ในการดำรงชีพ หน้าที่การงาน หรือสถานการณ์เฉพาะเหล่านี้เรียกว่า ‘hard skills’

 

ขณะที่ ‘soft skills’ จะเป็นทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ ที่ครอบคลุมไปถึงทัศนคติ บุคลิกและลักษณะนิสัยที่หล่อหลอมความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเรา ลักษณะพิเศษของ soft skills คือไม่ว่าเราจะเปลี่ยนสาขาการเรียนหรือหน้าที่การงานไปสู่แขนงใหม่ ๆ ที่ต้องใช้ hard skills ที่แตกต่างกันไป แต่เรายังสามารถใช้คลัง soft skills ของเราที่สะสมมาทั้งชีวิตในหลาย ๆ สถานการณ์ได้ เช่น เราย้ายสาขาการเรียนจากสายศิลป์ฯ ไปสายวิทย์ฯ แน่นอนว่าเราต้องเรียนรู้ทักษะวิชาใหม่ ๆ ที่องค์ความรู้เก่าอาจใช้กับสาขาวิชาใหม่ได้ไม่ค่อยลงตัวนัก แต่เรายังสามารถใช้ soft skills ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อน ๆ และอาจารย์ได้เหมือนเดิม

 

hard skills คือทักษะเฉพาะทาง 
soft skills จะมีความเป็นสากลที่นำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายสถานการณ์มากกว่า

cr: www.freepik.com

 

12 Soft Skills สำคัญที่หยิบมาใช้ได้ทุกสถานการณ์

เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลายของ soft skills ได้ชัดเจนมากขึ้น เราก็ได้คัดสรร 12 soft skills ที่สำคัญและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือนำไปต่อยอดสู่ทักษะใหม่ ๆ ดังนี้

 

1. ความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

ทักษะในการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ และสภาพแวดล้อมที่รวมไปถึงสถานการณ์ด้านโรคระบาด ที่เราทุกคนก็ต้องปรับตัวไม่มากก็น้อยเพื่อความอยู่รอดด้วยกันทั้งนั้น ทักษะในการปรับตัวนี้รู้จักกันในชื่อ Adaptability Quotient หรือ AQ 

 

2. ขี้สงสัย (curiosity/skeptical) 

การเป็นคนขี้สงสัยเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาความรู้ เพราะมันจะทำให้เราชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่หรือเก่าเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีกว่าสดใหม่กว่า เช่น ในวงการประวัติศาสตร์ที่มักจะมีการผลิตชุดคำอธิบายใหม่ ๆ ต่อเหตุการณ์หนึ่งออกมาอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าเราพยายามมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความขี้สงสัยเหมือนตอนเด็ก ๆ อีกครั้งก็เชื่อว่ามันจะเป็นดั่งประตูที่เปิดออกไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อีกมากมายอย่างแน่นอน

 

3. ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) 

แน่นอนว่าความสงสัยคือก้าวแรกสู่การเปิดประตูทางความคิด แต่สิ่งที่จะปูทางให้เราไปพบเจอกับแง่คิดใหม่ ๆ คือกระบวนการทางความคิด โดยเฉพาะสะพานแห่งความคิดสร้างสรรค์ แต่ใช่ว่าความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ลอยมาจากอากาศ การจะสร้างสะพานแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้ต้องอาศัยวัตถุดิบตั้งต้นเหมือนกันซึ่งหาได้จากการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เสพงานศิลป์ ทำงานอดิเรก ฯลฯ  

 

4. ความคิดริเริ่ม (initiative thinking) 

แม้เราจะมีความสามารถในการจินตนาการสิ่งต่าง ๆ เป็นเลิศ แต่ถ้าขาดแรงกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มจนนำไปสู่การปฏิบัติจริง ความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการนั้น ๆ คงเป็นได้เพียงภาพวาดในความฝันของเรา 

 

5. ความคิดที่ยืดหยุ่น (cognitive flexibility) 

หมายถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนทางความคิด ไม่ยึดติดกับความคิดหรือแนวทางใดจนเกินไป มีความยืดหยุ่นที่เอื้อต่อการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ ๆ ที่พุ่งเข้ามาได้ ซึ่งจะสอดรับกันดีกับทักษะด้าน AQ และความคิดสร้างสรรค์

 

6. ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

คือทักษะที่จะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของตัวเองและคนอื่นได้ ซึ่งในแง่นี้มันจะช่วยให้เรามีมนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีขึ้น ทักษะด้านนี้สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการฝึกฝนทักษะประเภท sympathy และ empathy 

 

cr: www.freepik.com

 

7. ทักษะในการสื่อสาร (communication) 

เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้าทำให้รูปแบบการสื่อสารมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น ทักษะในการสื่อสารไม่ว่าจะผ่านการพูดคุยกันต่อหน้าแบบสองต่อสอง หน้าชั้นเรียน ที่ประชุม หน้าฝูงชน รวมไปถึงการสื่อสารผ่าน presentation บทความ โพสต์บนโซเชียลมีเดีย video call ไลฟ์สด หรือคลิปวิดีโอ ต่างก็เป็นประเภทของการสื่อสารที่ควรค่าแก่การฝึกฝนด้วยกันทั้งสิ้น อีกประเด็นที่ต้องคำนึงคือผู้รับฟัง (audience) ที่จะมีลักษณะแตกต่างกันไป การที่เราสามารถพลิกแพลงรูปแบบการสื่อสารให้เข้ากับผู้รับฟังแต่ละกลุ่มได้ก็จะทำให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทักษะด้าน EQ ในข้อ 6 สามารถหนุนเสริมในแง่นี้ได้

 

8. ทักษะในการเจรจาต่อรอง (negotiation) 

จุดประสงค์ของการสื่อสารนั้นมีมากกว่าการบอกเล่าอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ของการซื้อขายสินค้า การทำงานกลุ่ม หรือเหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องมีการเจรจาต่อรองหรือไกล่เกลี่ยกันเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปหรือข้อยุติต่อเหตุการณ์นั้น ๆ วาทศิลป์ในการเจรจาต่อรองจึงสำคัญมากในสถานการณ์เหล่านี้

 

9. ทักษะด้านทีมเวิร์ค (teamwork and collaboration/coordination) 

การร่วมงานกับคนอื่นที่ว่าท้าทายแล้วจะยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก เมื่อโลกปัจจุบันนั้นเชื่อมต่อกันมากขึ้น โอกาสที่เราจะได้ร่วมงานกับผู้คนที่หลากหลายก็มีมากขึ้น ทักษะในการประสานงานและทำงานร่วมกับคนอื่นจึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่ง soft skills ที่เราไล่มาตั้งแต่ข้อ 1 ล้วนมีส่วนที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานแบบทีมเวิร์คได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

 

10. การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) 

ประเด็นหรือปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตมักจะไม่ได้มีมุมเดียว แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้ประเด็นปัญหานั้น ๆ เช่น การที่นักเรียนถูกหักคะแนนจิตพิสัยเพราะเข้าเรียนสายอาจเชื่อมโยงไปถึงปัจจัยด้านภูมิลำเนาของตัวนักเรียน ทัศนะของอาจารย์ หรือกระทั่งความน่าเชื่อถือ (reliability) ของระบบคมนาคม ดังนั้นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และประมวลผลจะทำให้เราเห็นภาพในประเด็นต่าง ๆ ได้ชัดขึ้น 

 

แม้ทักษะนี้อาจทำให้เราเป็นคนช่างวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นจนอาจมีคนบางกลุ่มตำหนิว่า “เอาแต่วิจารณ์ไปจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร” แต่บางครั้งเราอาจจะต้องก้าวข้ามคำตำหนิที่เหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตทางปัญญาไปให้พ้น เพราะเอาเข้าจริงการวิพากษ์ให้เห็นปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้นก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ การคิดเชิงวิพาษ์จึงเป็นอีกทักษะที่ควรมีติดตัวเอาไว้

 

11. ทักษะในการแก้ไขปัญหาเชิงซ้อน (complex problem-solving) 

ไม่ว่าจะการเรียนหรือการทำงาน กิจกรรมเหล่านี้ต่างก็เกี่ยวพันกับปัจจัยอื่น ๆ อีกสารพัดอย่าง เช่น การเรียนผ่าน video conference ที่ตัวนักเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านเนื้อหา เครื่องเขียน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทำให้กิจกรรมหนึ่งอาจเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่ดาหน้าเข้ามาพร้อม ๆ กัน ทักษะในการคิดแก้ไขปัญหาเชิงซ้อนอย่างเป็นระบบจะทำให้เห็นถึงภาพรวมของปัญหา เพื่อที่เราจะแก้ไขได้ตรงจุดและให้กิจกรรมนั้น ๆ ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ถือเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับทุกคน และแน่นอนว่าทักษะในข้อ 10 จะหนุนเสริมทักษะในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

 

12. การเจริญสติ (mindfulness) 

การเจริญสติหรือความสามารถในการทำสมาธิ (mindfulness) จะช่วยให้เราสามารถพินิจพิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังช่วยคลายความเครียดจากกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี โดยสามารถทำผ่านการฝึกโยคะหรือนั่งสมาธิก็ได้ และไม่ได้จำกัดอยู่กับกลุ่มบุคคลที่เคร่งศาสนาหรือไม่แต่อย่างใด

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

บันได 4 ขั้นสู่การเรียนรู้ Soft Skills ใหม่ ๆ

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง

เป็นเด็กสองภาษายังไงก็ดีกว่า มาฝึกพูดสองภาษาในชีวิตประจำวัน

เทคนิคพัฒนาสมอง “ช่วยเพิ่ม IQ” เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้

ฝึก ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เคล็ดไม่ลับอัปผลการเรียนให้ดีขึ้น

ชีวิตดี๊ดีเมื่อคิดแบบ Growth Mindset

DQ สกิลต้องมีบนโลกดิจิทัล

ฝึกเป็นคนหัวคิดสร้างสรรค์ ไอเดียไม่ตัน

วิธีอัปสกิลมนุษย์เป็ดให้เก่งปัง

สกิลที่เด็กรุ่นใหม่ควรมี

เคล็ดลับการทำ ‘Mood Board' เพื่อค้นหาตัวเอง

 

 

แหล่งข้อมูล

- Hard Skills vs Soft Skills: What Will Enhance Your Resume Most? 

- Soft skills 

- The Importance of Soft Skills 

- Soft Skills Are Essential To The Future Of Work 

- Six Soft Skills for Student Success

- 11 Essential Soft Skills in the Workplace and Future 

- Learn Soft Skills 

 
 
 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Tags