ระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเป็นไปได้ที่เราจะสังเกตเห็นเพื่อนพี่น้องที่มีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป แล้วถ้าดูดี ๆ ก็อาจพบว่า บางคนจะชอบเข้าสังคม ชอบทำกิจกรรมงานกลุ่ม กับอีกคนที่ชอบเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่คนเดียว แต่ก็ยังมีคนอีกประเภทที่มีทั้งช่วงเก็บตัว (แต่ไม่ถึงขั้นที่เพื่อนลืมชื่อ) และมีช่วงที่ออกมาแฮงเอาท์อยู่บ่อย ๆ โดยไม่ได้มีอาการกระอักกระอ่วนในการเข้าสังคมแต่อย่างใด เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Ambiverts หรือมนุษย์กึ่งกลางที่อยู่ระหว่าง Introverts และ Extroverts
คำถามก็คือ แล้วตัวเราตกอยู่ในโซนไหนของบุคลิกภาพเหล่านี้
เราเป็น Ambiverts หรือเปล่า ?
ด้วยการที่ Ambiverts คือบุคลิกที่อยู่ตรงกลางหรือมีส่วนผสมระหว่าง Introverts และ Extroverts จึงอยากชวนพวกเราไปทำความเข้าใจถึงความหมายและลักษณะเบื้องต้นของสองบุคลิกนี้ก่อนที่จะไปทดสอบว่าเราเป็น Ambiverts รึเปล่า
Introverts คือ คนที่ชอบครุ่นคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ภายในจิตใจของตัวเอง ทำให้ชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเองและเก็บตัวมากกว่าคนอื่น คนประเภท Introverts จึงมีจุดเด่นดังต่อไปนี้
• มีที่ชาร์จพลังจากภายในตัวเอง
• คิดสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง
• ทำงานคนเดียวได้
• อยู่คนเดียวได้
ในทางตรงกันข้าม จุดที่มักจะเป็นอุปสรรคสำหรับกลุ่ม Introverts ก็คือ
• การทำงานกลุ่มและการเข้าสังคม
• การพูดในที่สาธารณะหรือหน้าห้องเรียน
• รู้สึกอึดอัดหรือหมดพลังเมื่อมีคนรายล้อมเยอะเกินไป
• อาจพลาดโอกาสบางอย่างที่ต้องออกไปไขว่คว้าในสังคม
กลุ่มคน Introverts จึงชอบที่จะทำงานคนเดียวมากกว่า หรือไม่ก็ขอให้ได้กลับไปคิดให้ดีก่อนที่จะแชร์ความเห็นกับเพื่อน ๆ ดังนั้นเมื่อมีงานกลุ่มแล้วสมาชิกในกลุ่มเป็นคน Introverts ก็ควรจะให้เวลากับเขาในการครุ่นคิดสักหน่อย ไม่ใช่ไล่บี้ขอความเห็นเดี๋ยวนั้นทันที หรือถ้าเราเป็น Introverts ก็อาจจะบอกเพื่อนไปเลยว่าต้องขอเวลาคิดก่อน ด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้อาชีพที่เน้นการฉายเดี่ยวหรือการสังเคราะห์ความคิดจากภายในจึงเป็นอาชีพที่เหมาะกับคนกลุ่ม Introverts เช่น ศิลปิน นักเขียน นักแต่งเพลง นักวิทยศาสตร์ นักประดิษฐ์ เป็นต้น
Extroverts คือ คนที่ชอบหาความสุขจากสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเอง ชอบพบปะและพูดคุยกับผู้คน จึงมีบุคลิกที่ค่อนข้างกระตือรือร้นและคุยเก่ง จุดเด่นของ Extroverts คือ
• สามารถพูดคุยไกล่เกลี่ยปัญหาด้วยการเจรจา
• ชอบทำงานกลุ่ม
• มีความมั่นใจในพื้นที่สาธารณะหรือหน้าห้องเรียน
• เปิดรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตมากกว่า
แต่อุปสรรคที่กลุ่ม Extroverts มักพบเจอคือ
• เบื่อง่าย
• ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้
• อยู่ตัวคนเดียวไม่ค่อยได้
• บางครั้งอาจขาดความเข้าใจในตัวเองเพราะผูกตัวตนไว้กับปัจจัยภายนนอกมากเกินไป
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้คนกลุ่ม Extroverts มักทำอาชีพเกี่ยวกับการแสดง การเมือง แพทย์ การสอนหนังสือ และอื่น ๆ ที่ใช้ทักษะในการเข้าสังคมสูงได้ค่อนข้างดี
ถึงแม้จะมีการจัดประเภทบุคลิกภาพออกเป็นกลุ่ม ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ หนึ่งจะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงที่ตายตัว พูดง่าย ๆ คือบุคลิกคนเราเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้ ฉะนั้นเราจึงควรมองว่าลักษณะของ Introverts และ Extroverts เป็นขั้วหรือ Spectrum ที่บุคลิกของเราสามารถวิ่งไปมาระหว่างสองขั้วนี้ได้ และสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ก็คือบุคลิกแบบ “Ambiverts”
ด้วยการที่ Ambiverts สามารถวิ่งไปมาระหว่างความเป็น Introverts และ Extroverts โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ทำให้กลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพตามแบบ Ambiverts มักจะสามารถเข้าสังคมได้ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ส่วนตัวไว้เป็นมุมสงบของตัวเองด้วย
แต่จากที่เล่าไปว่าบุคลิกคือ Spectrum ที่ลื่นไหล ทำให้ความเป็น Ambiverts มักจะไม่ได้อยู่ตรงกลางเป๊ะๆ ระหว่างขั้ว Introverts และ Extroverts ดังนั้นกลุ่ม Ambiverts จึงสามารถแยกย่อยลงไปอีกได้อีกตามนี้
• Outgoing introverts คือ กลุ่มที่ค่อนไปทาง Introverts แต่สามารถเข้าสังคมได้ในบางสถานการณ์กับคนบางกลุ่ม หรือในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ ได้อย่างไม่กระอักกระอ่วน
• Antisocial extroverts คือกลุ่ม Extroverts ที่ต้องชาร์จแบตตามลำพังก่อนที่จะออกไปสังสรรค์หรือพบปะผู้คน หรือพูดได้ว่าเป็นกลุ่ม Extroverts ที่ชอบอยู่กับตัวเองมากกว่า Extroverts แบบสุดขั้ว
• Social introverts คือกลุ่ม Introverts ที่สามารถพลิกบทบาทเป็น Extroverts ได้เมื่อต้องการ
จากชุดลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพเหล่านี้ กลุ่มคน Ambiverts จึงครอบครองชุดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ Introverts และ Extroverts มีร่วมกันดังนี้
• มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่หลากหลาย
• ทำงานเดี่ยวได้ ทำงานกลุ่มก็ไม่มีปัญหา
• เป็นได้ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
• คนอื่นมักจะไว้เนื้อเชื่อใจจากการที่เป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี
• เข้าได้กับทุกคน
• มีความสามารถที่จะเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้เป็นอย่างดี
แม้ Ambiverts จะเป็น Spectrum ที่รวมจุดเด่นระหว่าง Introverts และ Extroverts เข้ามาไว้ด้วยกัน แต่มันก็อาจดึงเอาอุปสรรคต่าง ๆ ที่สองขั้วนี้เผชิญมามัดรวมกันจนอาจกลายเป็นอุปสรรคเฉพาะตัวที่กลุ่ม Ambiverts อาจต้องพบเจอ เช่น
• สามารถพบปะพูดคุยกับผู้คนได้ แต่ด้วยส่วนผสมของ Introverts ที่มีอยู่ในตัว ทำให้บางครั้งก่อนที่จะไปพูดคุยกับใครก็จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจไปก่อนล่วงหน้า
• กลุ่ม Ambiverts มักตอบรับกับหลายสิ่งมากเกินไปเพราะมักไม่มั่นใจว่าสิ่งไหนที่ดีที่สุด เนื่องจากบุคลิก Introverts ก็จะกระซิบข้างหูอีกอย่าง ขณะที่บุคลิก Extroverts ก็จะกล่อมเราให้เชื่อไปอีกทาง
• การที่ชอบตอบรับอะไรหลาย ๆ อย่างไว้ล่วงหน้าโดยเฉพาะการตอบรับงานสังคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากนิสัยของ Extroverts ทำให้เมื่อถึงเวลาจริง ๆ บุคลิกด้าน Introverts อาจเผยตัวออกมาจนทำให้ไม่อยากไปงานนั้น ๆ แล้ว ซึ่งอาจนำไปสู่การเบี้ยวนัดและกระทบความสัมพันธ์กับคนอื่นได้
• เมื่ออารมณ์ไม่ดี ไม่ว่าการปลีกตัวอยู่คนเดียว หรือออกไปเที่ยวเจอผู้คน ก็อาจจะไม่สามารถช่วยแก้อารมณ์บูดได้
• มักจะเลือกเข้าสังคมตามสถานการณ์และใจของตัวเองเฉพาะกับคนที่ใช่ คนที่สนิทมาก
ดู ๆ ไปแม้ว่า Ambiverts จะมีข้อดีต่าง ๆ มากมาย แต่ก็มีข้อที่น่ากังวลอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ใช่ว่าปัญหาต่าง ๆ จะไม่มีทางออก เราลองไปดู 3 วิธีที่จะช่วยจัดการกับบุคลิกแบบ Ambiverts เพื่อที่จะดึงศักยภาพจากบุคลิกแบบนี้ออกมาให้ได้มากที่สุดและบล็อคความเสี่ยงต่าง ๆ ที่พ่วงมากับบุคลิกนี้กัน
วิธีที่ 1 เลือกเข้าออกในบรรยากาศที่เหมาะกับอารมณ์ในตอนนั้น
ถ้าเรายังไม่อยากสุงสิงกับใครก็พยายามหาทางเลี่ยงสถานการณ์นั้น ๆ หรือถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยผู้คนอยู่แล้วก็อาจจะขอปลีกตัวออกมาสักครู่เพื่อชาร์จแบตตัวเองก่อน เช่น การขอลุกไปเข้าห้องน้ำ พักดื่มน้ำ ในกรณีที่อยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป การลุกไปพูดคุยกับเพื่อนหรือคนรอบข้าง หรือไม่ก็โทรศัพท์ไปหาคนรู้ใจก็ได้ การทำแบบนี้จะช่วยเติมพลังให้เราทำกิจกรรมระหว่างวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีที่ 2 วางแผนล่วงหน้า
ถ้ารู้ว่าวันไหนจะต้องเข้าสังคมและใช้พลังงานในการพบปะผู้คนทั้งวัน เราก็ควรจะจัดเวลาว่างให้ตัวเองได้ชาร์จแบตก่อนหรือหลังเหตุการณ์นั้น ๆ ในทางกลับกันถ้ารู้สึกว่าเรากำลังออกห่างจากสังคมแล้วเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวและกลัวที่จะกลับไปเข้ากับสังคมไม่ได้เหมือนเก่า วิธีแก้ง่าย ๆ ก็คือจัดตารางเวลาไปพบปะเพื่อน ๆ บ้าง ซึ่งปัจจุบันทำได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
วิธีที่ 3 รู้จักปฏิเสธ
ตอนที่เรากำลังอยู่ในโหมดของ Extroverts เราอาจเผลอตัวไปตอบตกลงอะไรหลาย ๆ อย่างมากเกินไป เช่น สัญญาว่าจะไปช่วยติวหนังสือให้เพื่อนตอนพักเที่ยง ตกเย็นสัญญากับเพื่อนว่าจะไปเล่นกีฬาด้วยกัน วันถัดไปก็ตอบตกลงว่าจะช่วยเพื่อนทำงานกลุ่ม กิจกรรมทั้งหมดนี้อาจทำให้หมดเรี่ยวหมดแรงได้ ดังนั้นก่อนที่จะตอบตกลงอะไรควรปรึกษาความเป็น Introverts ของตัวเองด้วยการครุ่นคิดกับตัวเองให้ดีก่อนว่าอะไรที่เลี่ยงได้หรือไม่ได้ อะไรที่เร่งด่วนหรือรอได้ ทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งเวลาให้เราได้อยู่กับตัวเองเพื่อที่จะสามารถกลับไปเข้าสังคมใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยลักษณะที่ชัดเจนมาก ๆ ของ Introverts และ Extroverts ทำให้เราสามารถบอกได้ว่าตัวเรามีบุคลิกไปในทางไหน โดยเฉพาะถ้าเรามีบุคลิกที่โน้มเอียงเกือบสุดไปทางขั้วใดขั้วหนึ่ง แต่ถ้าเรายังไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเราหนักไปทางไหน หรือสงสัยว่าเป็น ambiverts รึเปล่า ลองมาทดสอบกับ 11 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าเราน่าจะเป็น Ambiverts กัน
1. ไม่ได้เขินอายเมื่อแสงไฟสาดส่องมายังตัวเรา ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเป็นรายกรณีไป แต่โดยปกติมักจะไม่ได้ต้องการเป็นจุดสนใจอะไรมากมาย
2. รู้สึกสนุกสนานเมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชนหรือปาร์ตี้ แต่จู่ ๆ ก็รู้สึกว่าความสนุกมันหดหายไปและอยากออกไปจากพื้นที่ตรงนั้นทันทีทันใด
3. ชอบบทสนทนาที่มีความหมาย ไม่งั้นก็ขอเงียบดีกว่า
4. มีขอบเขตในการเข้าสังคม ไม่สามารถเข้าสังคมอย่างไร้ขีดจำกัดเหมือน Extroverts สุดขั้ว
5. ถ้าไม่สนิทกับใครจริง ๆ จะเลือกสงวนท่าทีมากกว่า ผิดกับคนใกล้ชิดที่จะเม้าท์กันได้อย่างออกรส
6. ชอบพบปะผู้คนใหม่ ๆ แต่ก็ไม่กล้าฉายเดี่ยว จะต้องมีคนรู้ใจอยู่ข้าง ๆ เพื่อเสริมความมั่นใจ
7. เมื่อทำแบบสอบถามเกี่ยวกับบุคลิก Introverts หรือ Extroverts ผลออกมาจะคละ ๆ กัน เมื่อถามเพื่อนก็จะได้คำตอบที่ผสมผสานกันไป
8. รู้สึกกระตือรือร้นที่จะออกงานสังคม แต่มักจะประหม่าเมื่อเข้าไปในงานจริง ๆ (แต่อยู่ไปเรื่อย ๆ อาจปรับตัวได้)
9. มักใช้เวลาชาร์จพลังตามลำพังไม่มาก วันเดียวก็เพียงพอ แต่ถ้ามากเกินไปจะเริ่มรู้สึกว่าเราขาดอะไรไปบางอย่าง
10. มักจะคิดก่อนพูด ชอบที่จะฟังความเห็นของคนอื่นก่อนที่จะพูดอะไรออกไป
11. ปรับตัวเข้ากับคนอื่นที่มีบุคลิกเป็น Introverts หรือ Extroverts อย่างชัดเจนได้เป็นอย่างดี เช่น เมื่อคุยกับ Extroverts เราจะเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อคุยกับ Introverts เราจะเป็นฝ่ายพูดมากขึ้น
ไม่ว่าเราจะเป็น Introverts สุดขั้ว Extroverts สุดเหวี่ยง หรือ Ambiverts ใน Spectrum ไหน หากเราสามารถระบุได้ว่าเรายืนอยู่ตรงจุดไหนก็จะช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับปรุงบุคลิกของเรา (หากเราต้องการ) หรือเพียงแค่เพื่อรับมือกับความขัดแย้งภายในที่เกิดมาจากบุคลิกของตัวเราเอง หรือเพื่ออธิบายให้คนอื่นเข้าใจตัวเรามากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เราสามารถรับมือกับคนรอบข้างที่มีบุคลิกแตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แหล่งข้อมูล
- Introvert, Extrovert and Ambivert
- What is an Ambivert? Take the Quiz to See if You’re an Introvert, Extrovert or Ambivert
- What is Extroversion and the Advantages of Being an Extrovert
- 3 Ways To Being A More Effective Ambivert (Hint: In Between An Introvert and Extrovert)
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป