หมอโอ๋ - พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน แนะนำว่า ความเชื่อที่ว่าวัยรุ่นต้องรู้จักตัวเองอย่างครบถ้วนนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะวัยรุ่นเป็นวัยเปลี่ยนผ่านคือจะเป็นวัยที่ไม่ใช่เด็กแล้ว แต่ก็ยังไม่เชิงว่าเป็นผู้ใหญ่ บวกกับวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ได้รับแรงกดดันสูงแทบจะทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการค้นหาตัวเองว่าต้องสามารถเลือกเส้นทางชีวิตให้กับตัวเองได้ จึงทำให้วัยรุ่นหลายคนเครียดมากขึ้นทุกวัน
ความจริงแล้วมนุษย์เราพัฒนาตัวตนตลอดชีวิต และไม่มีจุดตายตัวว่าถ้าเราเจอ ‘ตัวเอง’ ในช่วงวัยรุ่นนั่นแปลว่าเราได้เจอตัวเองแล้ว เพราะหลายคนก็มาเจอตัวเองตอนทำงานแล้ว หรือเรียนจบแล้ว และบางคนก็เจอตัวเองจากการได้ลองทำสิ่งที่รักจริง ๆ ตอนอายุ 50 ปีก็มี
ดังนั้นถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ช่วงวัยรุ่นไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราจะโฟกัสแต่เรื่อง ‘ค้นหาตัวเอง’ แต่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ต้อง ‘ทำความรู้จักตัวเอง’ โดยการพัฒนาตัวตนผ่านการรู้จักตัวเองจนสามารถตอบคำถามได้ว่า ฉันคือใคร ? ด้วยการทำความรู้จักตัวเองง่าย ๆ ตามนี้
• รู้ว่าฉันชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
• อะไรที่ฉันถนัด อะไรที่ฉันรัก
• อะไรที่มันเป็น Passion ของฉัน (ทำได้ทั้งวันไม่เหนื่อยและมีความสุข)
• อะไรที่ฉันทำได้ดี (แม้จะไม่ชอบก็ตาม)
• เพื่อน ๆ คนรอบข้างรักอะไรในตัวฉันที่สุด
• จุดแข็งของฉันคืออะไร จุดอ่อนคืออะไร
โดยคำถามนี้ในทางจิตวิทยาเขาเรียกว่า ‘Self Concept’ คือการมองกลับมาที่ตัวเองแล้วตอบคำถามง่าย ๆ ว่า "ฉันคือใคร" เมื่อเราพบแก่นแท้ของ Self Concept ของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็จะมีวิธีรับมือกับมันได้ในแบบของตัวเอง ขอยกตัวอย่าง Self Concept ที่เห็นได้ชัดเจนของ Coco Chanel ดีไซเนอร์ผู้สร้างแบรนด์ Chanel โดยเธอนิยามตัวเองไว้ว่า
"A girl should be two things: classy and fabulous."
ผู้หญิงน่ะควรจะเป็นอยู่สองอย่างคือ ดูแพงและเริ่ด
นั่นทำให้เธอออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่หรูหราดูแพงให้คนต่อคิวซื้อแม้จะราคาสูงแค่ไหนก็ตาม ตรงตามที่เธอนิยามตัวเองไว้เป๊ะ ๆ โดยเราจะเห็นได้ว่า Self Concept ที่เรามีต่อตัวเองจะส่งผลต่ออาชีพและสไตล์ของคนเรามาก แต่สิ่งที่ต้องระวังในระหว่างที่สร้าง Self Concept ให้ตัวเองก็คือ การพยายามที่จะไม่สร้าง Negative Self Concept หรือการสร้างตัวตนด้านลบมากกว่าด้านบวก เช่น คนที่วาดรูปไม่สวยตอนเด็กอาจจะโตมากับ Self Concept ที่เชื่อว่าตัวเองวาดรูปห่วย ซึ่งส่งผลทำให้เกลียดศิลปะไปเลยก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วหากเราฝึกต่อไปไม่นานก็จะวาดได้ดีขึ้น
การทำ Mood Board
ด้วยการตัดรูปที่เราชอบและรู้สึกไปกับมันมาแปะลงบนกระดาษเเข็งหรือบอร์ดบนโต๊ะเพื่อที่จะได้เห็นภาพ Self Concept ที่เรามีต่อตัวเองได้ชัดเจนขึ้น โดยค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่งเราก็จะเห็นว่าเราชอบอะไรจากมู้ดบอร์ดที่เราสร้างสรรค์
การผลัดกันสัมภาษณ์ตัวเองและเพื่อน
การได้มีบทสนทนาที่มีความหมายกับเพื่อนก็ช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย และมองเห็นศักยภาพที่ชัดเจนของตัวเอง พยายามพูดคุยกับเพื่อนเรื่องงานอดิเรก หรือถามเพื่อนถึงสิ่งที่เพื่อนคิดว่าเราทำได้ดี เราอาจจะได้รู้ตัวตนที่เราไม่เคยรู้จักเลย แต่ความจริงแล้วมันอยู่ในตัวเราแต่เราแค่ไม่รู้ (แต่เพื่อนสนิทเขาจะรู้ดี)
การเขียนบันทึกไดอารี่
การเขียนไดอารี่เป็นวิธีที่เราจะได้พูดคุยกับตัวเองโดยตรงในเรื่องต่าง ๆ ที่เจอในแต่ละวันและสะท้อนมันออกมาเป็นตัวหนังสือ ทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดเจนในทุกช่วงวัย เพราะการรู้จักตัวเองวันนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเรารู้จักตัวเองดีแล้ว การเขียนไดอารี่จะทำให้เราเห็นทั้งด้านที่ดีและไม่ดี เข้มแข็งและอ่อนแอของตัวเอง จนเกิดเป็นความสมดุลในที่สุด
การทำ Worksheet ตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเอง
การทำ Worksheet เป็นกระบวนการตอบคำถามทางจิตวิทยาที่มีประโยชน์ โดยเราสามารถทำ Worksheet ในเรื่องไหนก็ได้ที่เราอยากรู้เกี่ยวกับตัวเอง เช่น เพื่อนของฉันคิดว่าฉันเจ๋งเพราะว่า... , ฉันมีความสุขเมื่อ…, หนึ่งสิ่งที่ทำให้ฉันไม่เหมือนใครคือ… เป็นต้น
บางทีเราอาจจะเริ่มด้วยคำถามง่าย ๆ เอาไว้ถามตัวเองทุกวันว่า ถ้าให้นิยามตัวเองด้วยประโยคง่าย ๆ ที่สื่อถึงตัวของเรามากที่สุดเราจะเลือกคำว่าอะไร ? เพราะถ้าเราไม่นิยามตัวเองวันนี้ สักวันคนอื่นก็คงทำให้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ค้นหาตัวเองให้เจอเพื่ออาชีพในฝันด้วยหลักอิคิไกสไตล์ญี่ปุ่น
แบบทดสอบค้นหาตัวเอง ค้นหาพรสวรรค์ 8 ด้าน จาก Harvard University
รู้จัก 'Self-Awareness' แบบทดสอบที่จะทำให้เราหาตัวเองเจอก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่
เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’
แหล่งข้อมูล
จิตวิทยาวัยรุ่นเรื่องการยอมรับนับถือตัวเอง กับ หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป