ทฤษฎีแห่งการจีบกันอันโด่งดังและได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ โมเดลการพัฒนาความสัมพันธ์ Knapp’s Relational Development Model ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนก่อนที่คนสองคนจะตกลงเป็นแฟนกัน
ขั้นที่ 1 ทำความรู้จักกัน (Initiating) ทักทายกัน สนใจกันเป็นพิเศษ
ขั้นที่ 2 ศึกษากัน (Experimenting) การรู้จักมากขึ้น รู้ว่าชอบไม่ชอบอะไร แต่ยังเป็นแค่เพื่อน
ขั้นที่ 3 กระชับความสัมพันธ์ (Intensifying) ไปเดตกัน ไปกินข้าวด้วยกัน เเท็กกันหวาน ๆ
ขั้นที่ 4 หลอมรวมความสัมพันธ์ (Integrating) การตกลงที่จะเป็นแฟนกัน
ขั้นที่ 5 ขั้นผูกมัด (Bonding) คือการแต่งงานกัน ตกลงเป็นสามีภรรยา
คนเป็นแฟนกันจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทั้ง 5 ข้อนี้แทบจะทุกคู่ ส่วนในเคส ‘ชอบแต่ไม่อยากคบเป็นแฟน’ จะมาสะดุดที่ขั้นที่ 4 ก็คือขั้นหลอมรวมความสัมพันธ์ เพราะมีอีกฝ่ายไม่อยากจะผูกมัดด้วย อาจจะด้วยเหตุผลร้อยแปดซึ่งขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ทำให้เป็นแฟนกันไม่ได้นั่นเอง
หลัก ๆ คือ ‘กลัว’ การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นและยังไม่พร้อม ทั้งกลัวว่าจะทำพัง ไม่อยากทำให้อีกฝ่ายเสียใจ ไม่อยากรับผิดชอบความรู้สึกใคร ชอบอยู่คนเดียว มี trust issue คือไม่เชื่อใจใคร รู้สึกว่าการมีแฟนมันเป็นภาระที่หนัก ไปจนถึงความคิดที่ว่าเขาอาจจะไม่ใช่คนที่ต้องการมีครอบครัว มีคนรักอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ทำให้ต้องปฏิเสธที่จะคบกันอย่างจริงจัง
ทำยังไงดี: ความจริงแล้วอาการกลัวการผูกมัดไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย เพราะถ้าหากได้ลองศึกษา ดูใจผ่านประสบการณ์ดี ร้าย สุข เศร้าไปด้วยกันแล้ว คนที่กลัวก็จะเริ่มปรับตัว ปรับทัศนคติของเขาได้เองว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดที่จะมีมนุษย์อีกคนมาร่วมชีวิตด้วย เพียงแต่ต้องใช้เวลาพิสูจน์เท่านั้น
มีคนจำนวนมากที่หวงอิสระในชีวิต เพราะโสดแปลว่าอิสระ ! บางคนอาจจะยังไม่พร้อมที่จะให้ใครเข้ามาร่วมตัดสินใจ ต้องบอกว่าเคสนี้น่ากลัวนิดหน่อยเพราะถ้าเราเข้าไปในชีวิตเขาแล้ว เราไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เขาอาจจะไม่เปิดสถานะแฟนให้เลยก็ได้
ทำยังไงดี: เราต้องให้ความเชื่อมั่นว่า เราจะไม่เข้าไปวุ่นวายกับอิสระที่เขามี เช่น ไม่ไปบังคับ ไปจู้จี้ บงการเขาอย่างกับพ่อแม่คนที่สอง ปล่อยให้เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำ และเราจะเป็นเพื่อนคู่หูที่แสนดีอยู่ข้าง ๆ คอยเป็นกำลังใจให้กัน
สำหรับบางคนแล้วความสัมพันธ์ก็เหมือนเกมที่เขาแค่อยากจะลองเล่น ๆ ดู พอเล่นเบื่อแล้วเขาก็หมดความสนใจมันก็แค่นั้น ไม่ได้สนใจว่าเราจะรู้สึกกับเขายังไงเมื่อเขาเล่นจนพอใจแล้ว หมดความตื่นเต้นแล้วเขาก็ไป เราอาจจะเสียใจที่ไปหลงกล แต่เราจะได้บทเรียนที่จะไม่หลงกลคนแบบนี้อีก
ทำยังไงดี: ไม่ต้องสนใจอีกต่อไป จบ
กับบางคนก็คือเก่งแต่ปาก แต่ในทางปฏิบัติคือศูนย์ พอจะเอาจริงขึ้นมาก็ไม่กล้าจะรักใครจริงจัง เป็นแค่คนที่ขี้เหงาคนหนึ่งเท่านั้น แถมยังเอาความเหงาไปลงที่คนอื่นอีกต่างหาก ผิดกับเราที่ต้องมานั่งเครียดเพราะเขาทำเหมือนจะหายไปเมื่อไหร่ก็ได้
ทำยังไงดี: ความไม่ชัดเจนก็คือความชัดเจนแบบหนึ่ง ก็คือชัดเจนว่าเขาไม่ได้รู้สึกพิเศษอะไรกับเรา สถานะคนคุยมันมีความสุขแค่ช่วงแรก หลังจากนั้นใครรู้สึกก่อนคนนั้นแหละที่จะทุกข์ ให้เราชั่งใจดี ๆ เปิดใจคุยกัน ถ้าเขายังยืนยันทำเมินความรู้สึกเรา ก็ไปต่อป้ายหน้าเลย
ก็เหมือนเวลาที่เราไปเจอต้นไม้หรือดอกไม้สวย ๆ สักต้นหนึ่ง ถ้าเราไปเด็ดมันมา มันก็อยู่กับเราได้ไม่นานก็จะค่อย ๆ เหี่ยวตาย แต่ถ้าเราปล่อยให้มันบานอยู่ตรงนั้น มันก็จะได้อวดความสวยงามของมันให้ใครต่อใครได้ชื่นชม ความชอบแต่ไม่อยากครอบครองก็เป็นเช่นนี้เพราะเขารู้ว่าถ้าคุณมาคบกับเขาแล้วมันอาจจะไม่ได้สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น เขาจึงปล่อยคุณไป
ทำยังไงดี: เหมือนน้ำกับน้ำมันที่แม้จะเป็นของเหลวเหมือนกันแต่กลับเข้ากันไม่ได้ ถ้าเขาไม่พร้อมร่วมหัวจมท้ายก็ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปรั้นไม่เข้าเรื่อง เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
สิ่งที่น่ากลัวกว่า “การชอบแต่ไม่อยากคบ” ก็คือ ชอบแต่ไม่อยากคบและไม่ปล่อยเราไป ยังมาทำเป็นหวง (แบบเฟค ๆ) เป็นห่วงเกินเพื่อน แต่ไม่ยอมให้สถานะที่มากกว่าเพื่อน ทั้งที่เราแสดงออกชัดเจนว่าชอบ คนแบบนี้ต่างหากที่เราไม่ควรแม้แต่จะคบเป็นเพื่อน !
แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป