เพิ่มเวลาออฟไลน์ ลดความเครียดกับ ‘Social Media Detox’
Posted By Plook Magazine | 01 มี.ค. 64
8K views

Shares
0

ปัจจุบันนี้ถึงขนาดมีคนพูดว่า “ถ้าไม่เล่นมือถือก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว” บ่งบอกได้ถึงความติดมือถือที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาดาราดังอย่าง Selena Gomez, Taylor Swift และ ปัญ BNK48 ก็ได้ทำการพักเบรกจากโซเชียลมีเดียหรือทำ Social Media Detox ให้เราได้เห็นกันมาบ้างแล้ว

 

Social Media Detox คืออะไร ทำไมถึงเราถึงควรลองทำ

Cr.IMDb

 

Social Media Detox (อ่านว่า โซเชียล มีเดียดีท็อกซ์) ไม่ใช่การงดใช้มือถือนะแต่เป็นการ ‘พักเบรก’ จาก ‘โซเชียลมีเดีย’ สักพัก ลดการเสพคอนเทนต์ที่อยู่ใน facebook, youtube, line หรือ twitter ให้น้อยลง โดยอาจใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 วัน หนึ่งอาทิตย์ หรือเป็นเดือน ในระหว่างที่ทำโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์นี้ เราจะใช้โซเชียลมีเดียเมื่อจำเป็น ใช้อย่างมีความหมาย เพื่อประโยชน์มากกว่าเป็นเรื่องเอนเตอร์เทนหรือฆ่าเวลา 

 

Cr.IMDb

 

ใครที่ควรทำโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์บ้าง 

 

วัยรุ่น เพราะว่าสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่และอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง (1 MHz = 1 ล้าน ลูกคลื่น/วินาที) จะไปรบกวนสมองของวัยรุ่นได้มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้สมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ในการควบคุมความฉลาดฝ่อเล็กลง 

 

เด็กมัธยมต้น เพราะเป็นวัยที่ต้องมีการฝึก สำรวจ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อให้พร้อมไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ (เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ) เช่น เด็กวัย 13 ปี ต้องไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อน แต่กลับใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ก็จะทำให้ขาดโอกาสในการฝึกการเข้าสังคมไปเลย 

 

คนที่ปวดหัวไม่มีสาเหตุ มันคือคนที่ติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ท้องผูก ปวดเมื่อยตามตัวเมื่อไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย เพราะเสพติดมากจนเมื่อไม่ได้เล่นร่างกายและกล้ามเนื้อจะเกิดภาวะเครียด 

  

คนที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ คนที่ติดโซเชียลมีเดียมาก ๆ บางคนจะไม่รู้วิธีผูกมิตรในชีวิตจริงเลย ทำให้มีปัญหากับคนอื่น กับเพื่อน กับครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างพังได้

 

แต่เดี๋ยวนี้แม้จะยกข้อเสียของการติดโซเชียลมาแย้งแค่ไหน คนเราก็ไม่ค่อยกลัวกันแล้ว เพราะการไม่ได้เล่นโซเชียลนั้นดูจะทำให้เรากลัวมากกว่า (ทั้งที่ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย) บางคนยอมแลกทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้เปิดเฟซบุ๊กดูสัก 5 นาที หรือขอโพสต์ทวิตเตอร์สักหน่อยเถอะ ! แต่ถ้าใครรู้สึกว่าอยากลองทำดู ให้ลองทำตามนี้นะ

 

Cr.IMDb

 

6 เคล็ดลับทำโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์ ให้สำเร็จ

 

Log Out แอปที่เราอยากดีท็อกซ์ที่สุด 3 แอปเพื่อที่มันจะได้ไม่เเจ้งเตือนให้เราตบะแตกเข้าไปเช็ก เราอาจจะทิ้งทวนสเตตัสสุดท้ายเพื่อแจ้งให้เพื่อน ๆ ชาวโซเชียลรู้ว่าเราจะทำโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์นะ เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดี    

 

ลบแอปพลิเคชัน เพราะหากไม่ลบแอปต้องมีสักนาทีที่เราจะเผลอเข้าไปล็อกอินเพื่อที่จะเล่นอยู่ดี ดังนั้นแค่ล็อกเอาท์อาจจะไม่พอ ต้องลบแอปออกไปด้วยในระหว่างที่เรากำลังโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์ โดยเริ่มจากแอปที่ไม่จำเป็นอย่าง instagram หรือว่า facebook ก่อนก็ได้ 

 

เชื่อมต่อกับเพื่อนโดยตรง แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้แย่ไปทั้งหมดแต่การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดีท็อกซ์ควรเป็นการเชื่อมต่อที่มีความหมาย ไม่ใช่การโพสต์ทุกอย่างลงไป จากการโพสต์ให้คนเห็นเป็นร้อย ให้เราเปลี่ยนเป็นส่งข้อความส่วนตัวแทน (personal texts) คุยกับเพื่อนที่เรารู้จักจริง ๆ และมีตัวตน มีค่า มีความหมายในชีวิตของเราจริง ๆ มากกว่าหลายร้อยคนที่เราแทบไม่รู้จักเลย  

 

Track เวลาที่เราใช้ไปกับหน้าจอ ตั้งค่าการแสดงผลเวลาการใช้หน้าจอเอาไว้ เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองใช้เวลาไปกับหน้าจอมากเกินไป เพราะบางคนไม่เล่นโซเชียลมีเดียก็จริง แต่อาจจะหาวิธีไปเล่นเกมหรือเล่นแอปอื่นมากกว่าเดิมก็ได้ ดังนั้นดักทางไว้ก่อน  

 

ลิสต์สิ่งที่อยากทำ อาจจะเป็นการลงเรียนภาษาที่สามออนไลน์ เริ่มจัดห้อง หยิบหนังสือที่ดองไว้บนชั้นมาอ่าน หัดวาดรูป ฝึกใช้โปรแกรมต่าง ๆ ทุกอย่างที่เคยบอกว่าไม่มีเวลาทำ รวมทั้งกิจกรรมที่ทำแล้วจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
 

ออกกำลังกาย เมื่อเราไม่เล่นโซเชียลบ่อยเท่าเดิมร่างกายจะเริ่มเครียด เนื่องจากการเล่นโซเชียลมีเดียจะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ดังนั้นเราควรจะหันมาออกกำลังกายให้ได้ 30 นาทีต่อวัน เพราะความรู้สึกที่ได้รับจากการเล่นโซเชียลมีเดียนั้นจะเท่ากับการออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายจะได้ทั้งความรู้สึกดีและสุขภาพก็แข็งแรงด้วยนะ 

 

ไม่แน่ว่าหากได้ลองแล้ว เราอาจจะชอบตัวเองตอนที่ไม่ติดโซเชียลพวกนั้นก็ได้ 

 

 

แหล่งข้อมูล 
- งานวิจัยสังคมออนไลน์กับสมองของเด็กวัยรุ่น Social Media and Child’s Brain โดยนิชาภา พัฒนกูลชัย, สุวรรณา มณีวงศ์ และอังธนา จุลสุคนธ์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

 

 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป