Comfort food อาหารลดความเครียด กินแล้วอบอุ่นใจและช่วยคลายเหงา
Posted By Plook Magazine | 15 ธ.ค. 63
7K views

Shares
0

จากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกก็ได้เกิดเทรนด์ Comfort food หรืออาหารที่กินแล้วนอกจากจะทำให้เราอิ่มท้อง แต่ยังทำให้หัวใจเราฟูฟ่องด้วยความอิ่มใจ ช่วยลดความเครียด คลายความเหงา ทำให้เราวิตกกังวลน้อยลง หรือถ้าพูดให้แฟนตาซีหน่อยก็คือ อาหารที่ช่วยเสริมพลังใจให้กับเรา กินแล้วเรียกคืนความทรงจำดี ๆ ให้กลับมาฉายซ้ำในหัวอย่างกับในหนัง ! 

 

 

Comfort food อาหารที่ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกดี อบอุ่นใจและช่วยคลายเหงา 

Comfort food คือ อาหารอะไรก็ตามที่เมื่อกินแล้วจะทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข ไม่คิดมาก รู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่น เรียกคืนความทรงจำที่มีความหมายในชีวิตที่เราเคยมีกับคนอื่นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่ง Comfort food ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ โดยมันอาจจะเป็นโจ๊กเปล่า ๆ ข้าวคลุกปลาทู บะหมี่ร้อน ๆ หรือข้าวกะเพราไข่ดาว ที่กินแล้วอาจจะทำให้นึกถึงบ้านหรือตอนสมัยเป็นเด็กโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นอาหารแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง หรือจะเป็นอาหารสุขภาพ แค่กินแล้วรู้สึกดีไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ตาม 

 

เมื่อโลกมันป่วย ชีวิตมันเซ็ง แฟนก็หาย๊ากยาก แต่ยังมีโลกอีกใบที่จะช่วยให้เราได้รู้สึกดีขึ้นบ้าง แม้มันจะเป็น ‘อาหารสักจาน’ ก็ยังดีกว่านั่งเซ็งไปเฉย ๆ นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว ยังทำให้เราพร้อมที่จะเติบโตอย่างคนที่มีหัวใจแข็งแรงขึ้น พร้อมรอยยิ้มและแววตาแบบวันวานตอนที่เคยได้กินเมนูนั้น หากนั่งนึกดี ๆ หลายคนต้องนึกออกบ้างละว่า Comfort food ของตัวเองคืออะไร  

 

เช่นเมื่อถามเพื่อนสาวชาวอเมริกันว่า Comfort food ของพวกเขาคืออะไร แน่นอนว่าหลายคนต้องลงคะแนนให้ พิซซ่า แมคแอนด์ชีส พาสต้า ถั่วใส่ซอสกระป๋อง ไส้กรอก เป็นต้น แต่ถ้าถามคนอินเดียแน่นอนว่าต้องเป็น Daal Roti, Khichdi หรือ Idli Sambar แต่ถ้าเป็นกลุ่มชาวเอเชียอย่างเรา ๆ ก็คงหนีไม่พ้นโจ๊ก น้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด ผัดกระเพรา ส้มตำ ฯลฯ บางคนก็อาจจะมี Comfort food นับรวม ๆ กันแล้วมากกว่า 10 เมนูก็ได้ เพราะกินอะไรก็รู้สึกดีไปหมดจ้า

 

แล้ว Comfort food ที่หนึ่งในใจคุณคืออะไร ?

 

ทุกวงการในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่วงการเสื้อผ้าไปจนถึงวงการแอปพลิเคชันล้วนแล้วแต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายใต้โจทย์สำคัญคือช่วยลดความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัญหาของทุกคนไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อต้องเจอกับความเครียด หลายคนก็จะมีวิธีรับมือต่างกันออกไป และหนึ่งในนั้นก็คือการกิน แต่หลายคนก็มักจะเลือกของหวาน มัน เค็ม น้ำตาลสูง ของทอด เป็น Comfort food ทั้งที่รู้ว่าเมื่อกินแล้วจะทำให้สุขภาพไม่ดีในระยะยาว ควรบาลานซ์ให้ดีต่อสุขภาพด้วย  

 

 

เมนู Comfort food ที่มีประโยชน์ 

 

ผัดกะเพรา ใบกะเพรามีแคลเซียม ถ้าขาดจะทําใหจิตใจไม่สงบ นอกจากในใบกะเพราแล้ว แคลเซียมยังมีมากในนมสด ขนมปัง ถั่วลิสง มันฝรั่ง ขึ้นฉ่าย ใบชะพลู สะระแหน่ คะน้า และถั่วเหลือง

 

ผัดผักบุ้งไฟแดง กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ต้มจับฉ่าย และผัดเปรี้ยวหวาน เพราะมีวิตามินซีสูง ในภาวะที่เกิดอาการเครียดร่างกายจะต้องการวิตามินซีเพื่อให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ดี วิตามินซีมีมากในผักจําพวกถั่ว กะหล่ําปลี กะหล่ําดอก ผักบุ้ง ผักชี คะน้า และแตงกวา

 

ฟักทองผัดไข่ มีวิตามินบี 3 ช่วยลดความหงุดหงิดกระวนกระวายใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยให้นอนหลับง่ายอีกด้วย วิตามินบี 3 มีมากในถั่วเมล็ดแห้ง ยีสต์ ผักสีเขียวและเหลือง 

 

ไข่ยู่ยี่ เพราะมีทริปโตเฟน (Tryptophan) ทริปโตเฟนสามารถเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองที่ทำให้เครียดอย่างเซโรโทนินลดลงได้ พบมากในไข่แดง ถั่วเหลือง นมวัว และเนื้อสัตว์

 

ข้าวคลุกปลาทู เพราะมีแมกนีเซียมจึงช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ถ้าขาดไปจะทําให้โกรธง่าย วิตกกังวลและหดหู่ได้ พบมากในนม ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด จมูกข้าวสาลี เมล็ดพืช เช่น ถั่วลิสงมะม่วงหิมพานต์ งา ผักสีเขียวจัด และผลไม้เปลือกแข็ง 

   

สำหรับคนเขียนแล้วขอยกให้ ‘มากิ’ เป็น Comfort food ของตัวเอง เพราะเมื่อก่อนพ่อครัวชาวญี่ปุ่นเดินทางไปเปิดร้านซูชิที่เมืองฝรั่ง แต่คนที่นู้นไม่ชอบสาหร่ายห่อข้าวและปลาดิบเพราะมันคาว พ่อครัวคนเก่งก็ไม่ท้อ คิดค้นเมนูซูชิขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนเอาข้าวไปห่อสาหร่ายแทน แล้วหยอดมายองเนสลงไปเป็นตัวเชื่อมกับปลาดิบ ทำให้ฝรั่งคุ้นเคยกับรสชาติ และเรียกเมนูนี้ว่า ‘มากิ’ ทีนี้แหละมากิของพ่อครัวก็ขายดิบขายดี เป็นอาหารที่คนทั่วโลกหลงรักจนถึงทุกวันนี้ ทำให้คนเขียนรู้สึกฮึบทุกครั้งเมื่อได้กิน และรู้สึกว่าต้องเรียนรู้ที่จะสู้ชีวิตใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เหมือนพ่อครัวชาวญี่ปุ่น !  

 

 

แหล่งข้อมูล

- Design Therapy...ดีไซน์อย่างไรให้ดีต่อใจเหลือเกิน
- อาหารคลายเครียด 
- โภชนาการและอาหารฟังก์ชันคลายเครียด

 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป