การอดข้าวเพื่อที่จะให้ท้องหิวมาก ๆ แล้วไปกินบุฟเฟ่ต์นั้นเป็นวิธีที่ไม่ดีเลย เพราะมันจะทำให้เราหิวมากกว่าปกติ และยังทำให้ร่างกายสั่งการให้เรากินเข้าไปให้เยอะกว่าปกติ การกินในขณะที่เราหิวมาก ๆ ยังจะทำให้ท้องเราขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมันไม่ดีแน่สำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก
อยากให้เริ่มจากการปรับความคิดก่อนว่า การกินบุฟเฟ่ต์ไม่ใช่แค่กินให้คุ้ม เพราะถ้าเราคิดถึงแต่ความคุ้มก็จะตักทุกอย่างในปริมาณที่เยอะกว่าการกินปกติ ลองปรับจากความคิดที่ว่าเราต้องกินให้คุ้มเป็นเราจะได้กินอาหารที่หลากหลาย เมื่อคิดว่าความคุ้มค่าของบุฟเฟ่ต์คือการได้กินอาหารหลากหลายเมนู ก็จะทำให้เราตักอย่างพอดีและไม่เน้นกินแหลกจนตัวแตก
หัวใจของบุฟเฟ่ต์ก็คือมีอาหารให้เลือกหลากหลาย ซึ่งจะมีทั้งอาหารที่ดีต่อสุขภาพและไม่ดีต่อสุขภาพปะปนกันไป ใครที่กำลังลดน้ำหนักแต่ใจก็รักบุฟเฟ่ต์มาก เราขอแนะนำให้เลือกกินบุฟเฟ่ต์ที่มีอาหารจำพวกต้ม นึ่ง ย่าง ตุ๋น จะดีกว่า และเลือกกินโปรตีน เช่น ปลา ไก่ กุ้ง เป็นต้น และเน้นกินผักให้เยอะเพราะจะช่วยให้ได้สารอาหารที่ดี แถมยังช่วยให้เราอิ่มท้องด้วย ส่วนเมนูที่ไม่ดีต่อสุขภาพแต่อยากกินมาก ๆ ก็แนะนำให้ตักกินนิดหน่อยพอให้หายอยากได้จ้า
เราสามารถกินอาหารได้ทุกประเภท แต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพนั้นควรกินอย่างพอดี อย่างอาหารประเภททอด ๆ เช่น หมูทอด ไก่ทอด ปลาชุบแป้งทอด เกี๊ยวซ่า ฯลฯ ถ้าเราตักทุกอย่างมากิน ต่อให้เป็นอย่างละชิ้น ปริมาณน้ำมันที่เราได้ก็คงไม่น้อย ทางที่ดีคือให้เรากำหนดอาหารเป็นหมวด ๆ และกำหนดปริมาณที่จะกินในแต่ละหมวดด้วย เช่น ของทอดกินได้ 3 อย่าง อย่างละ 2 ชิ้น การทำแบบนี้จะช่วยให้เรากินไม่เยอะและไม่อ้วนขึ้นเกินไป
เทคนิคที่จะช่วยให้เรากินไม่เยอะเกินไปคือ ตักอาหารที่อยากกินมาอย่างละนิดละหน่อยและตักให้เต็มจานใหญ่ไปเลย แล้วค่อย ๆ กินไปด้วย เม้าท์กับเพื่อนไปด้วย วิธีนี้จะช่วยให้เราอิ่มได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการเดินไปตักอาหารบ่อย ๆ หลาย ๆ รอบ เพราะการตักมาน้อย ๆ จะทำให้เรารู้สึกว่าไม่อิ่มสักที มันน้อยไปเลยทำให้อยากลุกไปตักอีกเรื่อย ๆ
นี่คือ 5 เทคนิคที่จะช่วยบาลานซ์การกินบุฟเฟ่ต์ให้แฮปปี้ขึ้นสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก เทคนิคนี้อาจจะทำให้เราเอนจอยกับการกินอาหารได้น้อยลงเพราะเราต้องควบคุมตัวเอง แต่หลังกินเสร็จแล้วเราจะไม่รู้สึกผิดหรือกรีดร้องว่าทำฉันอะไรลงไปแน่นอน สุขภาพที่ดีเริ่มต้นที่ตัวเราน๊า ฮึบไว้
แหล่งข้อมูล
- ฐนิต วินิจจะกูล (ชมรมนักกำหนดอาหารแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). (2557). ซูเปอร์ป้าไดอารี่ (Super Auntie Diary). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป