ถ้าคุณมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ก็เข้าข่ายว่าคุณกำลังท้องผูกแล้วล่ะ
• ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
• ถ่ายอุจจาระแข็งไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ครั้ง โดยมักจะถ่ายออกมามีลักษณะเป็นก้อนกลมเล็ก ๆ (คล้ายกระสุน •••) และเวลาถ่ายจะรู้สึกว่าออกมาได้ยากหรือไม่ออกเลย
• มีความยากลำบากในการถ่ายอุจจาระ ต้องออกแรงเบ่งเพื่อให้อุจจาระออกมา บางครั้งต้องใช้แรงเบ่งจนรู้สึกเหนื่อย
• ไม่รู้สึกปลอดโปร่งสบายท้องหลังจากทำธุระในห้องน้ำแล้ว
อาการท้องผูกเป็นผลมาจากการที่เส้นประสาทและกล้ามเนื้อของลำไส้ทำงานไม่สอดคล้องกัน ส่วนใหญ่แล้วการย่อยและการลำเลียงอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารจะยังทำงานด้วยความเร็วปกติ แต่เมื่อถึงตอนปลายของลำไส้ใหญ่ เส้นประสาทและกล้ามเนื้อเกิดความสับสนและตกลงกันไม่ได้ว่าต้องขับสิ่งที่เหลือค้างอยู่ออกไปทันทีหรือไม่ ทำให้เราไม่ถ่ายอุจจาระออกมาหรือเกิดอาการท้องผูกนั่นเอง
ขอบอกไว้ก่อนว่า เคล็ดลับนี้เหมาะสำหรับคนที่ท้องผูกในช่วงสั้น ๆ เช่น ระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนท้องผูกบ่อยมาก ๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพลำไส้จะดีกว่าน๊า
1. ทานอาหารที่มีใยอาหาร
เพื่อกระตุ้นให้ผนังลำไส้ทำงานจะต้องทานอาหารที่มี ‘ใยอาหาร’ โดยใยอาหารจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ละลายน้ำและชนิดที่ไม่ละลายน้ำ
• ใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำ เช่น ถั่วเขียว ส้ม แอปเปิล ลูกพรุน เป็นต้น จะช่วยให้อุจจาระนิ่มลงและช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระออกมาได้ง่ายขึ้น
• ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ เช่น ธัญพืช ผัก เผือก มัน เปลือกผลไม้ เป็นต้น จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหารได้ดีกว่า และอาจทำให้รู้สึกปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระ
2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น
หากเราทานอาหารที่มีใยอาหารมากขนาดไหน แต่ถ้าดื่มน้ำน้อยมาก ๆ ก็จะไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะการดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ใยอาหารเกาะกันเป็นก้อนแข็ง ๆ ซึ่งน้ำคือพระเอกที่จะทำให้มันพองออกเป็นลูกบอล ทำให้ลำไส้รู้ว่าถึงเวลาต้องขับถ่ายแล้วจ้า
3. ทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ดี
การทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่ดีอย่าง ‘โพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกส์’ จะช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์ให้กับลำไส้ที่กำลังเหนื่อยล้า ซึ่งมันส่งผลให้เราขับถ่ายยากนั่นเอง
• โพรไบโอติกส์ คือจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี พบได้ในโยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น
• พรีไบโอติกส์ คือสารอาหารชนิดหนึ่งที่จะไม่สามารถย่อยในระบบทางเดินอาหารของคนเราได้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ และกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้ในหัวหอม ถั่วเหลือง มะเขือเทศ เป็นต้น
4. ห้ามอั้นอุนจิเชียว
ถ้ารู้สึกอยากถ่ายก็ต้องหาห้องน้ำ เพราะการอั้นอุนจิจะทำให้ลำไส้ผลักอาหารที่ย่อยแล้วกลับเข้าไป และยังทำให้อุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ด้วย พออุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นาน ๆ ร่างกายก็จะยิ่งดูดน้ำออกจากมันมากขึ้น ส่งผลให้การขับถ่ายยากขึ้นตามไปด้วย ใครที่ต้องเดินทางหรือปวดอุนจิแล้วไม่มีห้องน้ำสะอาดให้เข้า จึงเลือกที่จะอั้นอุจจาระ ขอบอกว่าการทำแบบนี้สัก 2-3 วัน ก็ทำให้เราท้องผูกได้แล้ว
5. ขยับกายให้มากขึ้น
ใครที่รู้สึกแน่นท้อง อุนจิไม่ออกสักที ลองเดินให้มากขึ้น หรือออกกำลังกายสัก 20-30 นาที เพื่อช่วยให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น
Tips: ท่าเบ่งอุนจิสำหรับคนอึยาก
ตอนที่นั่งอยู่บนโถส้วมให้โน้มร่างกายส่วนบนลงไปหาต้นขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นก็ยืดตัวกลับไปนั่งท่าปกติ ให้ทำแบบนี้ซ้ำสัก 2-3 ครั้ง แล้วอุนจิจะออกง่ายขึ้น
แหล่งข้อมูล
Giulia Enders. (2561). เคล็ดลับอายุยืนจากลำไส้ที่หมอไม่เคยบอกคุณ. แปลจาก Ullstein Buchverlage GmbH. แปลโดยเอกชัย อัศวนฤนาท. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วีเลิร์น
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป