ดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ดี ช่วยลดอาการเครียด นิสัยหงุดหงิดง่ายได้ !
Posted By Plook Magazine | 15 ต.ค. 63
9K views

Shares
0

เหนื่อยง่าย จิตใจห่อเหี่ยว เซื่องซึม เครียดบ่อย อารมณ์แปรปรวนง่าย อาการต่าง ๆ ที่ว่ามาทั้งหมดอาจเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เราเลยอยากมาแชร์วิธีดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานได้ลื่นไม่มีสะดุด จะทำยังไงบ้างมาดูกัน 

 

 

ระบบประสาทอัตโนมัติ คืออะไร ?

สิ่งที่ควบคุมการหายใจ การเผาผลาญของร่างกาย การปรับอุณหภูมิในร่างกายตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีพัก รวมไปถึงการทำงานของอวัยวะภายในและเส้นเลือดทั้งหมดในร่างกาย คือ หน้าที่ของระบบประสาทอัตโนมัติ ถ้าระบบประสาทอัตโนมัติถูกรบกวนมาก ๆ ก็จะส่งผลให้ร่างกายรู้สึกไม่สดชื่น อารมณ์แปรปรวน หรือป่วยได้ 

 

 

อะไรบ้างที่รบกวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

ความเครียด การกินอาหารไม่เป็นเวลา ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

 

 

3 เทคนิคช่วยเพิ่มพลังให้ระบบประสาทอัตโนมัติ

นี่คือเทคนิคง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการล้า เครียด หรือเหนื่อยมาก ๆ ทุกเทคนิคทำแล้วจะช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วย

 

1. คลายมือออก ไม่เกร็งนิ้วโป้ง
การแบมือหรือคลายมือออกจะช่วยทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น เพราะร่างกายไม่แข็งเกร็งจากการกำมือ และอยากให้ลองสังเกตตัวเองดูว่า เวลาที่ตื่นเต้นหรือโกรธ เรามักจะเผลอเกร็งร่างกายและกำมือแน่นโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า ถ้าใช่แนะนำว่าให้รีบคลายมือออก เพราะมันดีต่อร่างกายทั้งช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานอย่างไม่มีสะดุด และช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วย

 

2. จิบน้ำบ่อย ๆ
การดื่มน้ำเป็นการกระตุ้นลำไส้ ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น และยังช่วยคลายเครียดได้ด้วย ทริคที่อยากแนะนำคือ เวลาที่รู้สึกเครียด กดดัน ตื่นเต้น อยากให้ลองดื่มน้ำสักครึ่งแก้ว แล้วจะรู้สึกว่าร่างกายมันผ่อนคลายขึ้น

 

3. เหยียดหลังให้ตรงแล้วสูดหายใจลึก ๆ
การนั่งหลังตรงแล้วเงยหน้าพร้อมกับสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานได้ดีขึ้น แนะนำให้สูดหายใจเข้า 4 วินาที และหายใจออก 8 วินาที การหายใจแบบนี้จะช่วยดูแลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและยังช่วยคลายเครียดด้วย ส่วนการเหยียดหลังและเงยหน้าขึ้นถือเป็นการได้ปลดปล่อยอารมณ์และยืดเหยียดกล้ามเนื้อไปในตัว

 

เพียงทำตาม 3 เทคนิคง่าย ๆ นี้ ก็จะช่วยดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานได้ดีขึ้น แนะนำให้ทำบ่อย ๆ และทำทุกวันนอกจากจะช่วยดูแลระบบประสาทอัตโนมัติ ยังช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้นด้วยนะ  

 

 

แหล่งข้อมูล
Hiroyuki Kobayashi. (2562). ฟื้นฟูระบบประสาทอัตโนมัติด้วยตนเอง. แปลจาก Manga de wakaru jiritsushinkei no totonoekata. แปลโดยกิ่งดาว ไตรยสุนันท์. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์

 
 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Tags