นอนยังไง กินอะไร เพื่อให้ร่างกายหายเหนื่อยล้า และรู้สึกสดชื่นตลอดเวลา
Posted By Plook Magazine | 13 ก.ค. 63
8K views

Shares
0

รู้สึกร่างกายเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นเลย ปรับเวลานอนให้เร็วขึ้น นานขึ้น ตื่นมาก็ยังรู้สึกไม่สดชื่นอยู่ดี แถมยังเพลียและมึนกว่าเดิมอีก อยากจะชวนทุกคนมาดูเคล็ดลับการนอนและการกิน ที่จะช่วยให้ร่างกายหายเหนื่อยล้า และรู้สึกสดชื่นตลอดเวลากัน

 

 

เข้านอนให้เป็นเวลา

พยายามอย่าเปลี่ยนเวลาเข้านอน เวลาตื่นนอน และชั่วโมงการนอน เพื่อให้ร่างกายมีจังหวะคงที่ ซึ่งจะช่วยให้ไม่เหนื่อยง่าย ถ้าวันเสาร์อาทิตย์อยากนอนตื่นสายแนะนำว่าไม่ควรเกิน 1-2 ชั่วโมงจากปกติ และช่วง 2 ชั่วโมงก่อนการเข้านอนจะเป็นช่วงเวลาที่หลับยากที่สุด ควรงดเล่นโซเชียลเพื่อพักสายตา พักสมอง แล้วลองหยิบหนังสือสักเล่มมาอ่านก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับสนิททั้งคืน ตื่นมาแล้วสดชื่นแน่นอน

 

 

อย่าทำให้นาฬิการ่างกายรวนในวันหยุด

การอดนอน นอนดึก แล้วมานอนเยอะ ๆ ในวันหยุดไม่ช่วยอะไร ถ้าเรานอนจนเลยเที่ยงวัน นาฬิกาชีวภาพร่างกายจะรวน พอตื่นขึ้นมาอาจยังรู้สึกมึน เหนื่อย เบลอ ทำให้เราอยากนอนให้มากกว่าปกติ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูหรือหายเหนื่อยล้าเลย ถ้าอยากจะนอนตื่นสายในวันหยุด แนะนำว่าควรนอนไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงจากปกติ

 

 

กำหนดเวลากินมื้อเช้า

การกำหนดเวลากินมื้อเช้านั้นคล้ายกับการกำหนดเวลานอน ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีจังหวะคงที่ และยังช่วยจัดระเบียบประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่สำคัญในการฟื้นฟูร่างกาย แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการตื่นเช้าแล้วรีบกินมื้อเช้าทันที เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแกว่ง และยังทำให้ร่างกายเหนื่อยง่ายอีกด้วย

 

 

เลี่ยงอาหารเช้ารสหวาน

อาหารที่มีน้ำตาลมาก เมื่อกินเข้าไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแกว่งอย่างรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนล้า ไม่สดชื่น ถ้าไม่อยากเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้า แนะนำให้กินอาหารเช้าที่มีโปรตีนหรือมีเส้นใยสูง เช่น ขนมปังโฮลวีท ไข่ต้ม นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต ผลไม้สด เป็นต้น

 

 

อย่ากินอิ่มมากเกินไป

การกินจนอิ่มแปล้จะทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาเผาผลาญนาน ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยหรือไม่สดชื่นในช่วงบ่าย อาหารมื้อเย็นก็เหมือนกัน ถ้ากินมากเกินไป กระเพาะและลำไส้อาจต้องย่อยอาหารขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ จึงไม่ได้ฟื้นฟูความเหนื่อยล้าและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

 

 

 

แหล่งข้อมูล
TAMOO YAMADA. (2563). สุดยอดการฟื้นฟูร่างกายวิถีสแตนฟอร์ด. แปลจาก STANFORD-SHIKI TSUKARENAI KARADA. แปลโดยจิตรลดา มีเสมา. กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด

 
 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Tags