นักศิลปะบำบัด คือ ผู้ที่มีหน้าที่เลือกใช้ศิลปะเพื่อบำบัดโรค โดยจะต้องมีความรู้ด้านศิลปะหลายแขนง ทั้งการปั้น การวาด การใช้สี มีความรู้ด้านจิตวิทยา และต้องทำงานร่วมกับจิตแพทย์ เพราะต้องรู้อาการของผู้บำบัดอย่างละเอียดเพื่อนำมาหาแนวทางในการรักษา นักศิลปะบำบัดมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี ’สี’ ในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นขาว ดำ มืด สว่าง การบำบัดด้วยศิลปะจะค่อย ๆ เข้าไปเปลี่ยนสีที่มืดมนของผู้บำบัดให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
• มีความรู้ด้านศิลปะหลายแขนง เพราะต้องหาแนวทางในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 1 วิธี ดังนั้นต้องมีความรู้ทั้งการปั้น การวาด การใช้สี จิตวิทยา เช่น ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำจะเน้นให้วาดสีน้ำควบคู่กับการปั้น เป็นต้น
• รู้อิทธิพลของสีที่มีต่อจิตใจมนุษย์ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่เหมาะที่จะใช้สีน้ำเงิน ควรให้ใช้สีเหลืองเพื่อเพิ่มความสดใส ร่าเริงแทน เป็นต้น
• ตีความจากรูปที่วาดได้ ทำไมเด็กคนนี้ชอบวาดรูปน่ากลัวตลอดเวลา หรือใช้แต่สีดำ สีแดง ทำไมเด็กผู้ชายชอบใช้สีชมพู นี่คือความผิดปกติหรือเป็นจินตนาการของเด็ก นักศิลปะบำบัดจะต้องตีความร่วมกับจิตแพทย์ และหาวิธีรักษา จะไม่ตัดสินจากงานศิลปะอย่างเดียว
เรียน : ในประเทศไทยมีเปิดสอนหลักสูตรนักศิลปะบำบัด ที่ศูนย์ศิลปะบำบัดฮิวแมนเซ็นเตอร์ (HUMAN Center) ซึ่งเป็นหลักสูตรจากสถาบัน ศิลปะนานาชาติแห่งประเทศแคนาดา (Canadian International Institute of Art Therapy: CiiAT) |
นักละครบำบัดคือ ผู้ที่มีหน้าที่สร้างเวที สร้างบทบาทให้ผู้บำบัดได้แสดง โดยไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ใครจะแสดงบทบาทหรือเรื่องราวอะไรก็ได้ นักละครบำบัดจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัด เพื่อประเมินอาการของผู้เข้าบำบัดก่อน ถึงจะให้ผู้บำบัดได้ลองแสดงละครหลาย ๆ บทบาท ก่อนจะค่อย ๆ วิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนความคิดให้ผู้บำบัดเกิดความภูมิใจในตัวเอง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และมองตัวเองในแง่บวก จนไม่อยากแสดงบทบาทใด ๆ อีก
• สร้างเรื่องราวได้อย่างสร้างสรรค์ มีสตอรี่ในหัวมากมายและหลายหลากเพื่อรองรับบทบาทของผู้บำบัด เช่น รู้จักใช้พร็อพหน้ากาก และสัตว์เลี้ยงเข้ามาทำการแสดงด้วย เป็นต้น
• เขียนบทละครเป็น ไม่ใช่เพื่อเอาความเชี่ยวชาญนี้ไปเขียนบทให้ผู้เข้าบำบัดแต่อย่างใด เเต่เพื่อที่จะให้ตัวเองสามารถคิดบทละครเพื่อที่จะไปเล่น ไปร้องกับผู้บำบัดได้อย่างหลากหลายทั้งเด็กและผู้ใหญ่
• อ่านภาษากายได้ เพราะการบำบัดด้วยละครจะไม่มีมานั่งปรับทุกข์ ถามผู้บำบัดว่าปัญหาคืออะไร แต่จะเป็นการให้ผู้บำบัดแสดงเรื่องที่อยู่ในใจผ่านการแสดงต่าง ๆ และนักละครบำบัดต้องคอยสังเกตท่าทางที่ผู้บำบัดใช้เพื่อนำมาวิเคราะห์
• มีไหวพริบที่ดีมาก คิดได้เร็ว จะต้องสามารถต่อบทบาทได้ทันทีเมื่อต้องเล่นเข้าคู่กับผู้บำบัด ดังนั้นยิ่งเก่งเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่งอรรถรสให้ผู้บำบัดกล้าแสดงความรู้สึกออกมาได้มากขึ้น
เรียน : เรียนสาขา Drama therapist (Drama therapy and Psychodrama) |
หากใครรักการเล่นกับเด็กอายุ 2-5 ขวบ นักเล่นบำบัดถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะได้เล่นกับเด็กแล้ว ยังได้ใช้ความรู้เข้ามาประยุกต์กับการเล่น นักเล่นบำบัดจะมีหน้าที่สังเกตการณ์ และเลือกวิธีการเล่นให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เช่น เด็กที่มีปัญหาการพูด นักเล่นบำบัดจะใช้การเล่นหุ่นมือ สร้างเรื่องราวสมมติเพื่อให้เด็กสื่อสารถึงความคิด ความรู้สึกที่ไม่กล้าพูดออกมาผ่านบทบาทสมมติ เป็นต้น
• รู้จักการเล่นของเด็กหลายประเภท เพราะต้องจัดกิจกรรมให้เหมาะกับอาการของเด็ก และต้องรู้จักอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นอย่างดี เช่น เด็กที่ไม่พูดเลยจะเหมาะกับการเล่านิทาน ส่วนเด็กที่ซนมาก ๆ จะให้เล่นทราย เป็นต้น
• มีความรู้ด้านจิตวิทยาเด็ก เด็กแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ต้องรู้วิธีคุยกับเด็ก รู้ว่าเด็กวัยนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าเจอเด็กที่ดื้อมากไม่ยอมทำตาม ก็ต้องรู้วิธีพูดให้เด็กเชื่อและทำตามได้
• ถอดรหัสการเล่นของเด็กได้ เช่น การเล่นของเขาเป็นอย่างไร ไม่เรียบร้อยหรือเป็นระเบียบ, เนื้อหาของการเล่นเป็นอย่างไร ต่อสู้หรือเต็มไปด้วยความรัก, ตัวละครที่เด็กใช้เป็นใครบ้าง และเด็กรู้สึกกับตัวละครนั้นอย่างไร เป็นต้น เด็กจะยังมีความคิดที่ไม่ซับซ้อนมาก ดังนั้นนักเล่นบำบัดจะต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ และหาวิธีการเล่นให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน
เรียน : จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็ก |
การเคลื่อนไหวบำบัดต่างจากละครบำบัดตรงที่ ไม่จำเป็นต้องเล่นตามบทบาทสมมติใด ๆ แต่จะเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นท่าเฉพาะของโรคนั้น ๆ หน้าที่หลักของนักเคลื่อนไหวบำบัดคือ ค้นหาการเคลื่อนไหว จัดแผนการด้านสรีระที่เหมาะกับผู้บำบัดแต่ละคน ซึ่งจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำแล้วสามารถลดทอนความเจ็บป่วยในจิตใจหรือร่างกายของผู้บำบัดได้
• รู้จักการเคลื่อนไหวหลายชนิด เพราะเราจะต้องเป็นคนเลือกการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมให้กับผู้บำบัด ดังนั้นยิ่งนักบำบัดรู้จักการเคลื่อนไหวมาก และหลากหลายเท่าไหร่ ยิ่งจะมีวิธีรักษามากเท่านั้น
• รู้ว่าการเต้นแบบไหนช่วยฟื้นฟูจิตใจ เช่น การให้ผู้ใหญ่เต้นท่วงท่าแบบเด็ก ๆ หรือท่าที่ชอบเต้นสมัยเด็กจะดึงความรู้สึก ความทรงจำสมัยที่ยังเด็กออกมาช่วยให้ลดอีโก้บางอย่างได้ หรือระบำหน้าท้องจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นผู้หญิงได้มากขึ้น เป็นต้น
• มีความรู้เรื่องการเคลื่อนไหวในการรักษาโรค เพราะหมออาจส่งคนไข้หลังผ่าตัดมาให้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และนักเคลื่อนไหวบำบัดจะต้องรู้ว่าสรีระของคนไข้เหมาะกับการเคลื่อนไหวแบบไหน หรือถ้ามีคนพิการเข้ามารับการบำบัด ก็ต้องรู้ว่าการเคลื่อนไหวแบบไหนจะช่วยให้คนพิการสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
• ตีความสิ่งที่ผู้บำบัดรู้สึกหลังเคลื่อนไหว สะท้อนสิ่งที่เขารู้สึกระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อวิเคราะห์อาการ เช่น ถ้าผู้บำบัดบอกว่าตอนที่เต้น เขาสังเกตเห็นว่าศีรษะเอียงมาก แปลว่าเขามีสติ สมาธิดีเยี่ยมในการเคลื่อนไหว เป็นต้น
เรียน : เรียนด้าน Dance Movement Therapy ควบคู่กับจิตวิทยา |
นักดนตรีบำบัดจะต้องมีความรู้ด้านทฤษฎีดนตรี ตั้งแต่การอ่าน เขียนโน้ต บันไดเสียง คู่เสียง ฯลฯ โดยจะมีหน้าที่ใช้กิจกรรมดนตรีหลายอย่าง เช่น การร้อง การเล่นเครื่องดนตรี การแต่งเพลง เป็นต้น นำมาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับผู้บำบัด โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญาให้กับผู้บำบัด ไม่ใช่เพื่อให้ผู้บำบัดเล่นดนตรีเป็นหรือเก่ง
• มีความรู้ด้านทฤษฎีดนตรี ตั้งแต่การอ่าน เขียนโน้ต บันไดเสียง คู่เสียง เสียงประสาน การย้ายบันไดเสียง ฉันทลักษณ์ทางดนตรีเพื่อต่อยอดนำไปรักษาผู้บำบัด
• เล่นเครื่องดนตรีได้ อย่างน้อยเครื่องดนตรีที่ตั้งอยู่ในห้องบำบัด นักดนตรีบำบัดควรรู้จัก และใช้งานได้อย่างมั่นใจ อธิบายให้ผู้บำบัดเข้าใจถึงวิธีการเล่น การจับถือได้อย่างถูกต้อง เช่น กลองชุด กีตาร์ เปียโน เครื่องสาย เครื่องเป่า เป็นต้น
• เก่งด้านการอิมโพรไวเซชั่น เป็นเทคนิคที่ทำให้นักดนตรีบำบัดสามารถดึงความรู้สึกนึกคิดของผู้บำบัดออกมาเป็นดนตรีได้ หากเก่งตรงนี้ก็จะรักษาได้ดี และตรงจุดมากขึ้น
• รู้ว่าดนตรีสัมพันธ์กับกายใจอย่างไร เช่น เปิดเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องในเวลาที่ยาลดความเจ็บปวดกำลังหมดฤทธิ์ หรือเปิดเพลงจันทร์เอ๋ย ลาวดวงเดือน เพื่อลดอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เป็นต้น
เรียน : มีหลักสูตรปริญญาโท ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ |
แหล่งข้อมูล
- นักเล่นบำบัดที่บอกเราว่า ‘การเล่นเป็นภาษาของเด็ก’. สืบค้นเมื่อวันที่ 02 พฤษภาคม 2561 จาก https://aboutmom.co
- “ดุจดาว วัฒนปกรณ์” เคลื่อนไหวบำบัดจิต นครไม่เป็นไร กับความป่วยไข้ที่สังคมไทยไม่รู้ตัว. สืบค้นเมื่อวันที่ 02 พฤษภาคม 2561 จาก https://thaipublica.org
- บำบัดลูกด้วยศิลปะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 02 พฤษภาคม 2561 จาก http://www.elib-online.com
- “ศิลปะบำบัด” (Art Therapy) : เยียวยาจิตวิญญาณให้สมดุล. สืบค้นเมื่อวันที่ 03 พฤษภาคม 2561 จาก http://happinessisthailand.com
- ฟังดนตรีเถิด ชื่นใจ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อวันที่ 03 พฤษภาคม 2561 จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
- เป็นนักดนตรีบำบัดต้องรู้อะไรบ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 03 พฤษภาคม 2561 จาก https://thaimusictherapy.wordpress.com
- 7 พลังมหัศจรรย์ของดนตรีบำบัด สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). สืบค้นเมื่อวันที่ 03 พฤษภาคม 2561 จาก http://resource.thaihealth.or.th
- Body awareness therapy and the body awareness scale. โดย Gertrud Roxendal. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2561 จาก http://www.kineoo.nl
- Commonly asked questions about drama therapy and dance/movement therapy. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2561 จาก https://www.dance-drama-therapy.org
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป