www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภูมิศาสตร์ > มัธยมปลาย

บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา เรื่อง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-11-22 23:40:23

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 

 

 

 

 

1. การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม
   ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นตัวกำหนดการตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ การแต่งกาย อาหารการกิน การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น


   1.1 อิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานและที่อยู่อาศัย
   บริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ต่างกัน วัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านและรูปแบบของบ้านจะแตกต่างกันด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ดังนี้


       1.1.1 การตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีภูมิอากาศแห้งแล้ง มีลักษณะการสร้างที่อยู่อาศัย ดังนี้
          1. การสร้างบ้านด้วยโคลนหรือดินเหนียว เช่น บ้านเรือนในประเทศไนจีเรีย เอธิโอเปีย โดยนิยมสร้างเป็นบ้านชั้นเดียว รูปทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม ฝาบ้านนิยมใช้ดินเหนียวมาทำเป็นแผ่นตากแดดให้แห้งนำมาเรียงต่อกันแล้วใช้โคลนฉาบแทนปูนซีเมนต์ สำหรับหลังคาอาจใช้ฟางหรือหญ้าเพื่อบังแดดกันความร้อน

 

 

 

 

 

 

          2. การสร้างบ้านด้วยหิน มีความแข็งแรงกว่า แต่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง เช่น บ้านของชาวชนบทในประเทศกรีซ เปรู หินที่นำมาใช้ ได้แก่ หินปูน หินทราย รูปทรงของบ้านมักเป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงกลมชั้นเดียว ฝาบ้านนิยมใช้ก้อนหินมาเรียงต่อกัน ส่วนหลังคาอาจใช้หินหรือหญ้า

 


       1.1.2 การตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น
       การสร้างบ้านในเขตนี้จึงใช้ไม้เป็นวัสดุเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหลังคาจะใช้ไม้เป็นโครงและใช้วัสดุอื่นประกอบ รูปแบบของบ้านมักเป็นบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนสูงซึ่งช่วยให้พ้นจากน้ำท่วมและสัตว์ที่อาจเป็นอันตราย ส่วนในเมืองจะใช้วัสดุประเภทคอนกรีตเสริมเหล็กและติดกระจก

 

 

 

 

 

 

       1.1.3 การตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีภูมิอากาศอบอุ่น
       เนื่องจากพืชพรรณธรรมชาติในบริเวณนี้ประกอบด้วยป่าไม้ประเภทไม้เนื้อแข็งและไม้สน รูปแบบของบ้านนิยมใช้ต้นสนและสร้างบ้านทรงสี่เหลี่ยมและมีหน้าจั่ว บ้านประเภทนี้มีลักษณะคล้ายกระท่อม พบทางตอนเหนือของประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย คาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ส่วนการตั้งถิ่นฐานในเมืองนิยมใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก อิฐ กระจก และกระเบื้องเป็นวัสดุสำคัญ บ้านมีลักษณะเป็นตึกที่มีผนังค่อนข้างหนา เพื่อป้องกันความหนาวเย็นของอากาศ

 

 

 

 

 

 

       1.1.4 การตั้งถิ่นฐานในเขตภูมิอากาศหนาวเย็น
       ลักษณะของบ้านเรือนในเขตหนาวมีความคล้ายคลึงกันคือ มีฝาบ้านหนาทึบและมิดชิด หลังคาแข็งแรงทรงสูงเพื่อรองรับการทับถมของหิมะ ส่วนเขตภูมิอากาศหนาวเป็นแบบทุ่งน้ำแข็งที่มีหิมะปกคลุมตลอดเวลา จะเป็นบ้านชั่วคราวที่สร้างด้วยหิมะ โดยการตัดหิมะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันลักษณะคล้ายกระโจมหลังคารูปโค้งเรียกว่า อิกลู และใช้ในบางโอกาส เช่น เมื่อออกไปล่าสัตว์

 

 


   1.2 อิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ
   กิจกรรมการผลิตของมนุษย์ในการดำเนินชีวิตแบ่งได้ 3 ระดับ คือ


       1.2.1 การผลิตขั้นปฐมภูมิ (Primary Production)
       การผลิตขั้นปฐมภูมิ หมายถึง การผลิตขั้นต้น เป็นกิจกรรมการผลิตง่าย ๆ โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำเพาะปลูก การทำประมง และการล่าสัตว์ ซึ่งจำแนกได้ 2 ระดับ ได้แก่
          1. การผลิตขั้นปฐมภูมิเพื่อการยังชีพ หมายถึง การประกอบการผลิตเพื่อให้ได้ปัจจัยในการดำรงชีพ โดยใช้แรงงานจากคนและสัตว์ และใช้เครื่องมือเครื่องทุ่นแรงแบบดั้งเดิม เช่น
             1) การเก็บหาของป่า จับปลา และล่าสัตว์ ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ สัตว์ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้หมดไป ก็จะอพยพออกไปแสวงหาแหล่งใหม่ ส่วนของป่าที่หามาได้ก็นำมาใช้เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในปัจจุบันยังมีมนุษย์บางกลุ่มบางเผ่ายังประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตแบบนี้อยู่ เช่น พวกปิกมีบริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก ชนเผ่าอินเดียนแถบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้

 

 

 

 

 

 

             2) การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน จะไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งแน่นอน แต่จะเคลื่อนย้ายสัมภาระและครอบครัวไปกับฝูงสัตว์เลี้ยงสู่บริเวณที่มีทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์กว่า พร้อมทั้งซื้อขายแลกเปลี่ยนสัตว์เลี้ยงและสิ่งของที่จำเป็นในตลาดที่เดินทางผ่านไปด้วย ซึ่งมักปรากฏในเขตทุ่งหญ้าชายขอบทะเลทราย สัตว์ที่เลี้ยงแบบเร่ร่อน ได้แก่ แพะ วัว อูฐ ลา ส่วนในเขตอากาศหนาวนิยมเลี้ยงกวาง โดยในปัจจุบันกลุ่มชนที่ยังมีอาชีพนี้ เช่น พวกเบดูอินในคาบสมุทรอาหรับ พวกฟูลานีในทวีปแอฟริกา และเลี้ยงกวางเรนเดียร์ของพวกแลปป์ทางภาคเหนือของทวีปยุโรป
             3) การเพาะปลูกแบบยังชีพ คือ การเพาะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือการเกษตรแบบดั้งเดิม และให้ผลผลิตต่อเนื้อที่ค่อนข้างต่ำ เพราะจุดประสงค์คือเพื่อนำผลผลิตมาเลี้ยงตนเอง และหากมีเหลือจึงจะนำไปแลกเปลี่ยน พืชที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ เช่น ข้าวเจ้า เผือก มัน โดยการเพาะปลูกอาจจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ
การทำไร่เลื่อนลอย มักพบในเขตร้อนชื้นที่มีพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ โดยมีการถางและตัดโค่นไม้ลงมาแล้วเผา เพื่อให้พื้นที่โล่งเตียนสำหรับใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก และเมื่อคุณภาพของดินเสื่อมลง จึงย้ายที่ไปหาพื้นที่เพาะปลูกแปลงใหม่ พืชที่นิยม ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวโพด เผือก มัน และถั่ว
             การเพาะปลูกเพื่อการยังชีพแบบมีหลักแหล่ง เนื่องจากพื้นที่ในการเพาะปลูกที่จะใช้ทำไร่เลื่อนลอยมีปริมาณลดลง มนุษย์จึงมีความคิดในการทำมาหากินในพื้นที่เดิมเป็นการเกษตรแบบอยู่กับที่ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เกษตรกรชาวอินเดียนในประเทศเปรู บราซิล เม็กซิโก และบริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอน เกษตรกรในประเทศต่าง ๆ ของแอฟริกากลาง เกษตรกรพื้นเมืองแถบป่าเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการปลูกข้าวเจ้า ข้าวโพด กล้วย มันฝรั่ง เผือก มัน เป็นต้น


          2. การผลิตขั้นปฐมภูมิเพื่อการค้า เป็นการผลิตเพื่อใช้ผลผลิตสำหรับค้าขายแลกเปลี่ยนเป็นการสำคัญ เนื่องจากแหล่งที่มีความต้องการผลิตผลนั้น ๆ มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการผลิตผลผลิตนั้น ๆ จึงต้องมีการขนส่งจากแหล่งหนึ่งไปสู่แหล่งที่ต้องการ กิจกรรมการผลิตขั้นปฐมภูมิเพื่อการค้าที่สำคัญ ได้แก่
             1) การเกษตร แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ โดยในส่วนของการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก แตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิอากาศ ความเจริญทางด้านวิชาการ และความต้องการของตลาด
             2) การทำประมง เป็นการจับสัตว์น้ำหรือเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการหาทรัพยากรอื่นจากท้องน้ำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ การประมงจำแนกได้ 2 ประเภท คือ ประมงน้ำจืดและประมงน้ำเค็ม แหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญของโลก ได้แก่ ทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ซึ่งอยู่บริเวณแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำฉางเจียงในประเทศจีน แม่น้ำเจ้าพระยาในประเทศไทย ส่วนประมงน้ำเค็มที่สำคัญของโลกอยู่ในเขตน้ำตื้นบริเวณไหล่ทวีป ซึ่งมีกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นมาบรรจบกัน เช่น ในบริเวณคูริลแบงก์และบริเวณแกรนด์แบงก์
             3) การทำป่าไม้ เป็นการตัดต้นไม้เพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น นำไปแปรรูปเป็นเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม และใช้เป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งการนำผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์
             4) การทำเหมืองแร่ คือ การนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขุด การเจาะ การพัฒนาทรัพยากรแร่ต่าง ๆ ที่มีตามธรรมชาติขึ้นมาใช้ทำให้มนุษย์มีพลังงาน ผลิตผล และสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต

 

 

       1.2.2 การผลิตขั้นทุติยภูมิ (Secondary Production) 







       การผลิตขั้นทุติยภูมิ คือ กิจกรรมการผลิตขั้นที่สอง เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาสร้างให้เกิดประโยชน์หรือทำให้มีคุณค่าต่อมนุษย์ โดยผ่านกระบวนการแปรรูป การผลิตขั้นนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมโดยในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์รู้จักนำถ่านหินมาใช้เป็นพลังงานและรู้จักใช้เครื่องจักรสานแทนการผลิตด้วยมือ ผลผลิตที่ได้จึงมีปริมาณมาก สามารถส่งออกสู่สังคมอื่นได้ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการค้า ย่านอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก ได้แก่
          1. ภาคตะวันออกตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกาและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแคนาดา เมืองศูนย์กลางของการอุตสาหกรรมในย่านนี้ เช่น ชิคาโก ดีทรอยต์ฟิลาเดลเฟีย ของประเทศสหรัฐอเมริกา และโทรอนโต มอนทรีออลของประเทศแคนาดา
          2. ยุโรปตะวันตก เป็นบริเวณที่อุตสาหกรรมได้พัฒนาขึ้นก่อนเขตแรก และปัจจุบันก็ยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก ย่านอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี
          3. ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรเหล็ก น้ำมัน และถ่านหิน แต่สามารถคิดค้นและนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสั่งวัตถุดิบจากดินแดนอื่นเข้ามาแปรรูป แล้วส่งออกจำหน่าย ปัจจุบันนี้ผลผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีมากเป็นลำดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ย่านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอยู่ในเกาะฮนซู และมีชุมชนอุตสาหกรรมเชื่อมติดต่อเป็นย่านเดียวกันมีชื่อว่าอภิมหานครโตไกโด (Tokaido megalopolis) ซึ่งมีประชากรญี่ปุ่นประมาณครึ่งประเทศอาศัยอยู่ในอภิมหานครนี้
       นอกจากย่านอุตสาหกรรมสำคัญของโลก 3 บริเวณที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเขตอุตสาหกรรมของโลกอีก 2 ลักษณะ แต่ไม่ได้มีอาณาเขตต่อเนื่องกัน ดังนี้
          1. เขตที่มีวัตถุดิบ เป็นเขตอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีวัตถุดิบส่งเสริม ซึ่งมักเป็นเขตอุตสาหกรรมเล็ก ๆ มีพื้นที่ไม่ต่อเนื่องกัน เช่น เขตอุตสาหกรรมในประเทศออสเตรเลีย เขตอุตสาหกรรมในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
          2. เขตที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งแรงงานและมีค่าจ้างราคาถูก เช่น เป่ย์จิง มุมไบ ลอสแอนเจลิส กรุงเทพฯ ส่วนประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตยที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกมี 7 ประเทศได้รวมตัวกัน เรียกว่า กลุ่มจี 7 (G7-Group of Seven) ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ต่อมารัสเซียได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง การนับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกในปัจจุบันจึงมี 8 ประเทศ เรียกว่ากลุ่มจี 8 (G8)

 


       1.2.3 การผลิตขั้นตติยภูมิ (tertiary production)
       เป็นกิจกรรมการผลิตขั้นที่สาม เป็นการผลิตที่ไม่ได้นำทรัพยากรมาใช้และไม่มีขั้นตอนการแปรรูป เป็นกิจกรรมที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้ผลผลิตที่ได้จากกิจกรรมขั้นต้นและขั้นที่สองไปถึงมือผู้บริโภค โดยกิจกรรมการผลิตขั้นตติยภูมิในที่นี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
          1. กิจกรรมบริการ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคจะได้รับการบริการจากผู้ประกอบการเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน เช่น การธนาคาร ครู แพทย์ นักแสดง ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เป็นต้น
          2. การคมนาคมสื่อสารและการขนส่ง การคมนาคมสื่อสาร หมายถึง การแลกเปลี่ยนข่าวสารหรือเรื่องราวระหว่างบุคคลโดยใช้วิธีการผ่านสื่อต่าง ๆ ส่วนการขนส่ง หมายถึง การเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร สิ่งของหรือสินค้าจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งโดยอาศัยเส้นทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ หรือใช้ท่อ ปัจจุบันการขนส่งมีความสำคัญและมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรมากขึ้น เพราะช่วยในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
          3. การค้า หมายถึง กิจกรรมการผลิตทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เรียกว่า การซื้อขาย ในสมัยโบราณ การค้า คือ การแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าด้วยกันเอง และต่อมาได้วิวัฒนาการมาใช้เงินตรา เช็ค และเครดิต ซึ่งช่วยให้การค้าได้พัฒนาขึ้น การค้าในปัจจุบันจำแนกได้ 2 ประเภท คือ
             1) การค้าภายในประเทศ หมายถึง การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของประชากรภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งปริมาณการค้าจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ทรัพยากร และมาตรฐานการครองชีพ
             2) การค้าระหว่างประเทศ หมายถึง การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ คือ ความแตกต่างของลักษณะทางกายภาพ ผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าจากเขตที่มีการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งได้มากไปยังเขตที่ผลิตได้น้อยหรือผลิตไม่ได้เลย
          4. การท่องเที่ยว คือ การเดินทางของประชากรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ หรือการเดินทางจากดินแดนหนึ่งไปสู่ดินแดนหนึ่ง เพื่อทัศนาจร ศึกษาหาความรู้และประสบการณ์ หรือพักผ่อนหย่อนใจ ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ พยายามพัฒนาการท่องเที่ยวโดยการขยายและเพิ่มแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามาแล้วยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ ช่วยลดปัญหาการว่างงานของประชากรของประเทศนั้น ๆ ด้วย

 

 

 


2. การพัฒนาที่ยั่งยืน
   การเกิดสภาวะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมสมาชิกขึ้น ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) ซึ่งได้มีการลงนามรับรองแผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) ที่ถือว่าเป็นแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนับแต่นั้นมาคำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ก็ได้รับความสนใจและนำไปใช้ในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ มากขึ้น


   2.1 ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
   การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาในทุกด้าน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานในการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและคงอยู่ของทรัพยากรสำหรับคนรุ่นหลัง


   2.2 ความหมายของการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
   การใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และนิเวศวิทยา เพื่อให้มีมาตรฐานของคุณภาพชีวิต เมื่อใช้แล้วจะต้องไม่ทำให้ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดความด้อยประสิทธิภาพจนไม่สามารถให้ผลผลิตที่คุ้มค่า หรือคนรุ่นหลังไม่สามารถนำศักยภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้อีก


   2.3 หลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
       2.3.1 หลักการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
          1. การรักษาและกระตุ้นให้เกิดความหลากหลาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ควรให้มีความหลากหลาย ไม่ผูกขาดเฉพาะรูปแบบที่ถือว่าถูกต้องที่สุดหรือสมบูรณ์ที่สุดของวัฒนธรรม จริยธรรม ศาสนา และสังคมเพียงแนวทางใดแนวทางหนึ่งเท่านั้น
          2. การพัฒนาหรือการสร้างระบบเศรษฐกิจจะต้องรวมเอาสิ่งแวดล้อมและช่วงเวลาในอนาคตเข้าไว้ในกระบวนการของการตัดสินใจ โดยการพัฒนาจะต้องใช้ความพยายามในการที่จะลดอัตราการใช้ทรัพยากรและจัดการปลดปล่อยของเสียให้น้อยลงจากระดับปกติของสถานการณ์ปัจจุบัน
          3. ต้องแสวงหาแนวทางที่เห็นร่วมกันบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และศีลธรรมที่มีความหลากหลาย โดยหากความหลากหลายทางชีวภาพยังคงอยู่ก็ถือได้ว่า ธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 


       2.3.2 แนวทางในการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

          1. ประชาชนและภาครัฐต้องช่วยกันควบคุมและร่วมกันวางมาตรการในการจำกัดการปล่อยของเสียที่เกิดขึ้นจากทุกกระบวนการที่มนุษย์สร้างขึ้นให้ออกไปสู่ธรรมชาติได้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย
          2. ประชาชนทุกคนต้องรู้จักวิธีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดผลที่คุ้มค่า ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีการที่เหมาะสม ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง (reduce) การรู้จักนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) และการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้งานใหม่ (recycle)
          3. ภาครัฐควรวางมาตรการในการกระจายรายได้ออกไปสู่ภาคประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น เพราะถ้าหากเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขึ้นจะส่งผลให้ประชาชนขาดความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งควบคุมอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรที่ส่งผลให้เกิดความต้องการในการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย


   2.4 รูปแบบและแนวทางการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
   นโยบายเกี่ยวกับการฟื้นฟู ป้องกัน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้นเริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530–2534) และต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535–2539) จึงได้เริ่มกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ โดยสาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ถึงปัจจุบันเกี่ยวกับการฟื้นฟู ป้องกัน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สรุปได้ดังนี้


       1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530–2534)
       แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้เน้นการพัฒนาประเทศให้ก้าวควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นใช้ทรัพยากรทุกชนิดที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพ และเน้นความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาด้านความยากจนและบริการพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ รวมทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2532 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 28 ของพื้นที่ประเทศ


       2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535–2539)
       แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 มุ่งให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้สภาพชนบทเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านมลพิษมากขึ้น จึงกำหนดให้มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เช่น การควบคุมมลพิษทางน้ำในพื้นที่เป้าหมายให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด การยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษที่มีสารตะกั่วเจือปน ส่วนด้านทรัพยากรธรรมชาติได้วางแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นมรดกสำหรับอนุชนรุ่นหลังควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการพัฒนาประเทศ อาทิ การอนุรักษ์พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ อนุรักษ์แหล่งปะการังในอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์


       3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540–2544)
       แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและแท้จริง โดยกำหนดให้การพัฒนาคนเป็นวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนา ประกอบกับให้มีการฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรโดยนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงจึงทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ไม่บรรลุผลมากนัก โดยเฉพาะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหารุนแรงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น แต่ก็ปรากฏผลสำเร็จบางเรื่องเป็นที่น่าพอใจ เช่น การอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งของกองทัพเรือ ซึ่งสามารถลดความสูญเสียของแนวปะการังอันเกิดจากการทิ้งสมอของเรือประมงได้


       4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–2549)
       แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ได้อัญเชิญแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ได้มุ่งให้ความสำคัญต่อการปรับกลไกและกระบวนการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้มีประสิทธิผล โดยเน้นระบบการบริหารงานที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน


       5. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550–2554)
       แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ยังคงอัญเชิญแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการโดยมีองค์รวม “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” โดยในส่วนของการกำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ โดยกำหนดให้มีการรักษาคุณภาพของแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์ตั้งแต่ระดับพอใช้ขึ้นไป ส่วนคุณภาพอากาศกำหนดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อัตราการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่อประชากรให้ลดลงร้อยละ 5 จาก พ.ศ. 2545 นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการควบคุมอัตราการผลิตขยะในเขตเมืองไม่ให้เกิน 1 กิโลกรัม/คน/วัน และจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th