www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม > ป.6

24 กันยายน วันมหิดล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-09-14 15:55:32

พระราชประวัติ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมาหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิการเจ้า


 


ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 (ก่อน พ.ศ. 2484 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 เม.ย. ดังนั้น เดือนมกราคม พ.ศ. 2434 ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลที่ใช้ในปัจจุบันจึงตรงกับ เดือนมกราคม พ.ศ. 2435)


เมื่อทรงพระเยาว์ทรงบรรชาเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447  ทรงศึกษา  ณ โรงเรียนราชกุมาร  ในพระบรมมหาราชวัง  และทรงเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ "โรงเรียน แฮร์โรว์" ในประเทศอังกฤษ  และวิชาการทหารเรือในประเทศเยอรมัน  เมื่อจบการศึกษาได้รับพระราชอิสริยยศเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมัน และนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยาม  แล้วเสด็จกลับมาทรงรับราชการในราชนาวีสยามอยู่ระยะหนึ่ง  ทรงลาออกจากกองทัพเรือเมื่อ  พ.ศ. 2459  แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาทางการแพทย์  ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา  ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข  และ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตชั้น Cum Laude และทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์  อัลฟา โอเมกา อัลฟา ด้วย


ตำแหน่งราชการ  ทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย  กระทรวงศึกษาธิการ  ข้าหลวงตรวจการศึกษาทั่วไป   นายกกรรมการคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล  กรรมการสภากาชาดสยาม  ประธานกรรมการอำนวยการวชิรพยาบาล  พระอาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค


ทรงอภิเษกสมรสกับ นางสาวสังวาลย์  ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) เมื่อวันที่  10 กันยายน  พ.ศ.2463  ณ วังสระปทุม  มีพระราชโอรส  และพระธิดา  รวม  3 พระองค์ ได้แก่

    

1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ประสูติ ณ กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2466

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชการที่ 8 ) ทรงพระราชสมภพ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2468

3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช (รัชการที่ 9) ทรงพระราชสมภพ ณ เมืองแคมปริดจ์ รัฐแมสซาจูเซตต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470


พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์
        ทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์  พยาบาล  และปรับปรุง  ร.พ.ศิริราช ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลสยามทำความตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์  ซึ่งมูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือโดยส่งศาสตราจารย์มาจัดหลักสูตรและปรับปรุงการสอนให้ทุนอาจารย์ไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศ  ส่งอาจารย์พยาบาลเข้ามาช่วยปรับปรุงหลักสูตรและช่วยเรื่องการสอนในโรงเรียนพยาบาล

ทรงพระราชทานทุนเพื่อ
       -สนับสนุนการศึกษาของแพทย์และพยาบาล

       -สร้าง "ตึกมหิดลบำเพ็ญ" "ตึกอำนวยการ"

       -ซื้อโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง  ทำเป็นที่อยู่ที่เรียนของพยาบาล

       -จ้างพยาบาลต่างประเทศมาช่วยสอนและปรับปรุงโรงเรียนพยาบาล

       -สนับสนุนการสอนและค้นคว้า

        รวมทั้งสิ้น 994,876.08 บาท(ไม่รวมทุนพระราชทานส่วนพระองค์แค่แพทย์และพยาบาล) อีกทั้งยังทรงขอพระราชทานทุนจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบรมวงศานุวงค์ เืพื่อเป็นทุนสำหรับ รพ. ศิริราช  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  อีกทั้งยังทรงปรับปรุงวชิรพยาบาล  รพ.แมคคอร์มิค  และ  รพ.สงขลา

พระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุข
        ทรงร่วมในการพิจารณา  พระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466  โดยทรงแก้ไขข้อขัดข้องและความขัดแย้งต่าง ๆ จนลุล่วงไปด้วยดี  ทำให้กฏหมายฉบับนี้เป็น "กฏหมายทางการแพทย์ฉบับแรก" ที่ประกาศใช้  ทรงส่งเสริมการมารดาและทารกสงเคราะห์ และทรงช่วยอบรมแพทย์สาธารณสุขมณฑล

พระราชกรณียกิจทางวิชาการ
       ทรงดำริจะสร้างโรงเรียนสาธารณสุข  พระราชทานทุนการศึกษาแก่ทันตแพทย์  การประมง  จ้างครูต่างประเทศ  ทรงวางรากฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน  โดยสร้างคณาจารย์วิทยาศาสตร์พื้นฐานรุ่นแรกของประเทศ  การวางหลักสูตรวิทยาศาสตร์  และแพทย์  การก่อสร้างอาคารและจัดหาวัสดุ  อุปกรณ์การค้นคว้าวิจัย  การจัดหาหอพักนักศึกษา  เป็นต้น


นอกจากนี้ยังทรงสร้างรากฐานการวิทยาศาสตร์แห่งชาติ  โดยพระราชทานทุนส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา  ณ ประเทศอังกฤษ  ผลิตบัณฑิตเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย  และในโรงเรียนทั่วประเทศ  รวมทั้งบัณฑิตในวิทยาศาสตร์ประยุกต์  อาทิ ทันตแพทย์  เภสัชกร  วิศวกร  สถาปนิก  บุคลากรงานสาธารณสุข ฯลฯ


สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก  ทรงเป็นปูชนียบุคคลของชาติที่พระเมตตาสถิตย์อยู่ในใจปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า  สมควรที่โลกจะรับรู้และเทิดพระเกียรติพระองค์เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาประวัติศาสตร์ทางการศึกษา  วิทยาศาสตร์  การแพทย์  การพยาบาล  และการสาธารณสุขให้ขจรกำจายไปทั่วโลก  สมดังสมัญญานามว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

ประวัติวันมหิดล
วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน เพราะพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้นได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ ในกาลต่อมา

พิธีวันมหิดลเริ่มโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯทรงเปิด พระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2493 แล้ว ในวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และนักศึกษาพยาบาล โดยการนำของ นายบุญเริ่ม สิงหเนตร นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ และ นางสาวชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์ หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลาแล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาท ซึ่งประพันธ์โดย นายภูเก็ต วาจานนท์ หลังจากนั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ.เติม บุนนาค วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ในเวลาต่อมาก็มีงานอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ระยะแรกมีการออกรายการสดุดีสมเด็จพระบรมราชชนกทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนักศึกษาแพทย์และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มีการทำงานโยธาในวันมหิดล ต่อมาเมื่อมีโทรทัศน์ ก็เริ่มจัดรายการ โทรทัศน์วันมหิดล 

ความเป็นมาธงวันมหิดล



เมื่อ พ.ศ.2503 ศ.นพ.กษาณ จาติกวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชมีการจัดหน่ายธง "วันมหิดล" เพื่อให้ประชาชนทุกเศรษฐานะมีส่วนเกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของ โรงพยาบาลศิริราช ในปีแรกมีการจำหน่ายธงขนาดกลาง ราคา 10 บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา 1 บาท นักศึกษาทุกหมู่เหล่าในวิทยาเขตศิริราช ได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ การรักษาพยาบาลและเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้

ใน พ.ศ. 2520 การจำหน่ายธงได้ผลดีเกิดคาด ธงไม่พอสำหรับวันออกรับบริจาคครั้งใหญ่ "กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษาจากทุกคณะ และทุกวิทยาเขต จึงอาสาทำธงมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน กิจกรรมการทำธงวันมหิดลเพื่อมอบแก่ผู้บริจาคช่วยผู้ป่วยมีประชาชนหลายหมู่เหล่ามาร่วมบริจาคตามศรัทธา นับเป็นการปลูกฝังนิสัยการเป็นผู้ให้และผู้เสียสละให้แก่นักศึกษา ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างพลังสามัคคี และพลังกตัญญูกตเวทีในหมู่ประชากรไทยอีกด้วย 

ที่มา https://www1.si.mahidol.ac.th/mahidolday/