www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาต่างประเทศ > มัธยมต้น

classroom : เจ๊กในดงผู้ดี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-19 15:13:11


ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีประวัติยาวนาน จึงไม่น่าแปลกที่จะได้รับอิทธิพลจากหลายกลุ่มภาษาและวัฒนธรรม ไม่เว้นแม้แต่ภาษาในเขตทวีปเอเชียก็ถูกนำไปปรับใช้กับภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย จนผู้ใช้ภาษาทั่วโลกอาจเข้าใจว่าคำศัพท์เหล่านั้นเป็นภาษาอังกฤษโดยกำเนิด

 

ในยุคที่อังกฤษเดินทางล่องเรือข้ามน้ำข้ามทะเลออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ชาวอังกฤษเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 16-17 นั้น พัฒนาการของภาษาอังกฤษได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาในกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษเป็นระยะเวลานาน แต่ใครจะคิดว่า ภาษาจีนที่สำเนียงและตัวหนังสือไม่มีความคล้ายกับภาษาอังกฤษเลยแม้แต่น้อย จะมีอิทธิพลต่อภาษาอังกฤษกับเขาด้วย และเป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์หลายคำที่ใช้กันจนเป็นสากลทั่วโลก

 

เริ่มต้นด้วยคำว่าประเทศญี่ปุ่น หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Japan แท้ที่จริงแล้วมาจากภาษาจีนว่า “Jih-pun” ซึ่งชาวจีนแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นว่า “Nippon” หมายความว่า อาทิตย์อุทัย โดยในสมัยนั้นที่ชาวอังกฤษเข้ามาปกครองดินแดนแหลมมลายูหรือมาเลเซียในปัจจุบัน ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกประเทศญี่ปุ่นว่า “Japang” ทำให้ชาวอังกฤษขนานนามญี่ปุ่นว่า Japan ก่อนที่จะรู้จักประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

 

พายุที่รุนแรงของชาวเอเชียอย่างพายุไต้ฝุ่น ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Typhoon ก็มาจากรากศัพท์ภาษาจีนกวางตุ้ง ที่เรียกไต้ฝุ่นว่า “daaih-fung” มีความหมายว่า พายุใหญ่ คำนี้ถูกนำมาปรับใช้โดยอาศัยตัวสะกดจากตำนานกรีก ซึ่งเป็นเรื่องของอสูรกายนามว่า Typhon ที่มีหัวนับร้อยและทำให้เกิดลมพัดรุนแรง

 

แม้แต่อาหารการกินอย่างซอสมะเขือเทศซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่ถูกใช้ในวัฒนธรรมอาหารตะวันตกนั้น แท้จริงแล้วก็มีต้นกำเนิดจากตำรับอาหารของคนจีน ซึ่งคิดค้นซอสสีแดงรสเปรี้ยวอมหวานทำมาจากปลาชนิดหนึ่ง เรียกว่า “Koechiap” เมื่อซอสชนิดนี้แพร่หลายเข้าไปในมาเลเซีย มันถูกเรียกว่า “Kichap” ก่อนที่ชาวอังกฤษจะติดใจกับรสชาติของซอสรสเลิศ และนำคำศัพท์นี้มาใช้เรียกซอสปรุงรสในสมัยแรกว่า catchup ต่อมาจึงกลายเป็น ketchup หรือ tomato ketchup

 

เรื่องของคำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาหารการกินที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนยังมีอีกเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็น tea หรือชา silk หรือผ้าไหม หรือจะเป็นคำว่า soy ที่แปลว่าถั่วเหลือง

 

ในครั้งหน้า พี่ชิเตรียมนำที่มาของคำศัพท์ต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำมาเล่าให้ฟังอีก แต่เราจะเปลี่ยนทิศไปยังคาบสมุทรอินเดียกันบ้าง อาบังบอกว่าคำว่ายาสระผมที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า shampoo ก็มาจากบังเองนะจ๊ะนายจ๋า อย่าลืมติตตามต่อนะครับ 

 

เรื่องโดย : ชินัณ บุญเรืองรัตน์

ศิษย์เก่าเกียรตินิยมจากมหิดล และปริญญาโทด้านการศึกษาศาสตร์จาก ม.ฮ่องกง อ.ชิ เป็นผู้คิดค้นเทคนิคการทำข้อสอบภาษาอังกฤษทุกสนามในระดับ ม.ต้น ม.ปลาย แห่งโรงเรียนกวดวิชาเอ็มยู โดยทีมงานพี่ม.มหิดลติวเตอร์ และยังเปิดคลาสติวเข้มในรายการสอนศาสตร์ ทางช่องทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 9


ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/