www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > คณิตศาสตร์ > มัธยมต้น

Classroom : แนะแบบแนวๆ by P’Boss ตอน “เครื่องคิดเลข” หรือจะสู้ “คนคิดเร็ว”
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-19 11:29:43

 


หลายต่อหลายครั้งเวลาออกไปพบปะน้องๆ ในโครงการ Trueplookpanya on Tour มักได้ยินเสียงบ่นว่าวิชาที่ไม่ค่อยชอบอันดับต้นๆ ก็คือคณิตศาสตร์ เนื่องจากรู้สึกว่าเนื้อหาบางบทโดยเฉพาะในระดับมัธยมปลายอาจจะห่างไกลจากตัวเรามาก ถ้าไม่ได้เป็นวิศวกรหรือนักคณิตศาสตร์คงไม่ได้ใช้ความรู้ในส่วนนี้ 

 

หลายคนเถียงว่าพวกเลขง่ายๆ ใช้เครื่องคิดเลขก็ได้ จะเรียนเลขทำไม แต่ในความเป็นจริง คณิตศาสตร์คือเรื่องของหลักการเหตุผลและการใช้ความคิดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องของการจำสูตรยากๆ หรือหาวิธีลัดคิดเลขเพียงเท่านั้น

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าช่างไม้มีงานที่ต้องตัดท่อนซุงมาเป็นเขียง โดยท่อนซุง 1 ท่อนจะตัดทำเขียงได้ประมาณ 10 เขียง ในการตัดแต่ละครั้งใช้เวลา 2 นาที ถ้าเจ้านายนำท่อนซุงมาให้ช่างไม้ 30 ท่อน พร้อมสั่งให้ตัดเขียงภายใน 8 ชั่วโมง ถ้าเราเป็นช่างไม้คนนั้น ควรจะรับคำสั่งแต่โดยดี หรือขอยืดเวลาออกไป ต่อให้มีเครื่องคิดเลขอยู่ในมือ บวกเวลา 2 นาทีด้วยเอ้า! ดูสิว่าจะคิดออกไหม แล้วเวลาคุยกันจริงๆ จะคิดนานก็ไม่ได้ เจ้านายรออยู่ จะรับปากส่งๆ ไปแล้วทำไม่ได้ก็โดนด่าอีก

 

เห็นไหมว่าเครื่องคิดเลขทำหน้าที่ได้เพียงการคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร หาร้อยละให้ แต่ถ้าสมองของเราไม่มีหลักเหตุผลและกระบวนการคิดที่เป็นระบบ เครื่องคิดเลขก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าเอาหลักเหตุผลตั้งต้น คิดเลขในใจแป๊บเดียวก็ได้ สำหรับเคสของช่างไม้ การตัดครั้งหนึ่งจะแบ่งท่อนซุงเป็น 2 ส่วน ดังนั้นอยากได้ท่อนซุง 10 ส่วนก็ต้องตัด 9 ครั้ง ตัดแต่ละครั้งก็ใช้เวลา 2 นาที ท่อนหนึ่งก็ใช้เวลา 18 นาที 30 ท่อนก็ปาเข้าไป 540 นาที หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาที ถ้าทำแบบไม่พักเลยก็กินเวลาถึง 9 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว ดังนั้นถ้าคิดได้เร็วก็จะไม่รับปากส่งๆ ไป

 

อีกตัวอย่างเป็นเรื่องของของซื้อของขาย สมมติว่าเรามีบริษัทรับทำแหวนเพชรส่งผู้ค้าขายปลีก หากแหวนคอลเล็กชั่นใหม่มีต้นทุนอยู่ที่วงละ 35,000 บาท เราตั้งใจว่าอยากจะขายให้ได้กำไร 30% ของทุน แต่ปกติแล้วร้านผู้ค้าปลีกจะคิดค่าวางในตู้โชว์ 20% ของราคาขาย เราควรจะตั้งราคาให้ผู้ค้าปลีกเท่าไรจึงจะได้กำไร 30% เท่าเดิม

 

เหมือนเดิม เครื่องคิดเลขแต่ไม่มีการคิดที่เป็นกระบวนการก็คิดไม่ออก ก่อนอื่นเราก็คิดก่อนว่ากำไร 30% จากราคา 35,000 บาทคือเท่าไร ถ้าทุนคือ 100 บาท ต้องขาย 130 บาท ดังนั้นอัตรากำไร 30% คือ    ก็คือ 1.3 (ทุน 1 บาท ต้องขาย 1.3 บาท) ดังนั้นถ้า ทุน 35,000 บาท ก็ต้องขาย 45,500 บาท (เอาทุนคูณอัตรากำไร) คราวนี้ค่าวางในตู้โชว์เป็น 20% ของราคาขาย เท่ากับว่าถ้าเราบอกว่าราคาขายคือ 100 บาท เราจะโดนหักค่าวาง 20 บาท และจะได้เงิน 80 บาท ดังนั้นถ้าเราอยากได้เงิน 45,500 บาท เราต้องตั้งราคา  = 56,875 บาท (รอบนี้เครื่องคิดเลขค่อยมีบทบาทหน่อย)

 

คณิตศาสตร์ช่วยให้เราสามารถคิดวิเคราะห์ได้ดี ฝึกฝนตนเองด้วยการคิดเลขเร็วๆ รู้จักเรียบเรียงความคิดเป็นประจำ โดนพึ่งพาเครื่องคิดเลขให้น้อย จะช่วยบริหารสมองด้านซ้าย แล้วจะพบว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาวิชาการได้ง่ายขึ้น คิดเรื่องซับซ้อนเร็วขึ้น และอาจจะทำให้เรียนเลขในบทยากๆ ได้ดีขึ้นด้วย

 

สำหรับน้อง ม.ปลายที่รู้สึกว่าเลขมันยากเย็นเหลือเกิน ถ้าไปสอบ PAT 1 ก็คงได้คะแนนไม่สูง อีกทั้งไม่ได้อยากทำงานเป็นวิศวกรหรืออาชีพที่ต้องใช้ตัวเลขมากๆ ถ้าน้องเป็นคนมีเหตุมีผล สนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ อยากเข้าเรียนคณะบัญชีฯ พี่บอสขอแนะนำให้ลองข้อสอบ SMART-I ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อสอบการคิดเลขเร็วโดยเน้นการใช้เหตุผลเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยให้เราค้นพบคณะในฝัน

 

และก่อนจะลงสนาม SMART-I ทรูปลูกปัญญาจัดกิจกรรมติวเข้มฟรีกับโครงการสอนศาสตร์ Smart Day วันที่ 8-9 มิถุนายนนี้ ใครที่สมัครไม่ทัน สามารถเข้าคอร์สย้อนหลังที่รายการสอนศาสตร์ ทรูวิชั่นส์ 9 หรือที่เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม ซึ่งมีเอกสารประกอบการเรียนให้ดาวน์โหลดฟรีๆ ด้วยครับ

 


เรื่องโดย : พี่บอส-พิเชฐ ด่านไทยนำ
ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่บอสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และยังรับหน้าที่เป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษประจำรายการ “สอนศาสตร์” ทางช่องทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 9


ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/