www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สื่อพัฒนานอกระบบ > มัธยมปลาย

รู้รอบโลก ตอน Halloween เมื่อผีลืมหลุมแปลงร่างเป็นผีขี้เล่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-07 15:00:24

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ

Halloween 
เมื่อผีลืมหลุมแปลงร่างเป็นผีขี้เล่น
 

 

“Trick or Treat?” “จะให้หลอก หรือจะให้ขนม” กองทัพเด็กๆ แต่งตัวแฟนซีสวมหน้ากากที่คิดว่าน่ากลัวที่สุด ในมือถือโคมไฟฟักทองแกะสลักหน้าเหยเก เร่เคาะประตูไปตามบ้านเพื่อขอลูกอมและช้อกโกแลตจากผู้ใหญ่ มองอย่างไรก็น่ารักน่าเอ็นดู ไม่เห็นจะทำให้ขนลุกขนพองเหมือนกับชื่อฮัลโลวีนหรือ “วันปล่อยผี” เลย

 

แต่แรกเริ่ม เทศกาลฮัลโลวีนเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับการไล่ภูตผีปีศาจ โดยชนพื้นเมืองเผ่าเซลติก (Celtic) ในประเทศไอร์แลนด์จะถือเอาวันที่ 31 ตุลาคมเป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวันปีใหม่ พวกเขาเชื่อว่าตลอดหนึ่งปีมีเพียงวันที่ 31 ตุลาคมวันเดียวที่โลกแห่งคนเป็นและโลกแห่งคนตายจะเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งหมายถึงวิญญาณร้ายจะสามารถลุกขึ้นจากหลุมศพมาหลบซ่อนอยู่บนโลกมนุษย์ และอาจหมายถึงการหาร่างคนเป็นเพื่อสิงสู่และกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

หนทางเพื่อความอยู่รอดในการต่อสู่กับวิญญาณปีศาจและฤดูหนาวอันโหดร้ายของชาวเซลติก คือการที่แต่ละบ้านจะสุมกองไฟขนาดใหญ่และแต่งตัวให้น่ากลัวเหมือนภูตผีหรือสัตว์ประหลาดเพื่อหลอกล่อว่าเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งโคมไฟฟักทองแกะสลักแจ๊คโอแลนเทิร์น Jack-o'-lantern ที่เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเทศกาลนี้ ก็เป็นเครื่องปัดเป่าวิญญาณร้ายคล้ายๆ กับการสุมกองไฟนั่นเอง
 

ครั้นถึงศตวรรษที่ 8 พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 3 พยายามให้ชาวเซลติกเลิกประเพณีความเชื่อเรื่องภูตผี โดยประกาศให้วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวัน All-Hallows Day หรือวันยกย่องนักบุญ ดังนั้นวันก่อนหน้านั้นหนึ่งวันจึงเรียกว่า “All-Hallows’ Eve” และแผลงมาเป็นชื่อที่เรารู้จักกันในปัจจุบันคือ “ฮัลโลวีน” (Halloween)

 

เรื่องราวเหมือนจะจบได้สวยแล้วเชียว แต่เพราะลูกหลานชาวไอริชเห็นว่าประเพณีนี้สร้างความสนุกสนานกันทั้งครอบครัวจึงยังคงเลือกที่จะเฉลิมฉลองวันฮัลโลวีนอยู่ เมื่อเกิดการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ชาวไอริชที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังสหรัฐอเมริกาได้หอบเอาความเชื่อเรื่องวันฮัลโลวีนมาด้วย และได้เผยแพร่ประเพณีไปสู่ผู้นับถือคริสต์ศาสนาอื่นๆ ในหลายเชื้อชาติ ทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติเริ่มแปรเปลี่ยนไป ชุดผี ปีศาจ หรือแม่มดก็กลายเป็นชุดแฟนซีตัวละครหรือการ์ตูนที่เราคุ้นเคยกันดีแทน

 

สหรัฐอเมริกานี่เองที่เป็นจุดกำเนิดการละเล่น ทริค ออร์ ทรีท (Trick or Treat) โดยเด็กๆ ในชุดแฟนซีจะเดินไปเคาะประตูแต่ละบ้าน และมักเน้นบ้านที่มีโคมไฟฟักทองประดับเพราะเดาว่าเจ้าของบ้านจะเตรียมขนมหวานและช้อกโกแลตไว้ต้อนรับแล้ว เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตู เด็กๆ ก็จะตะโกนถามว่า “Trick or treat?” หากตอบว่า trick (การหลอกหรือแกล้ง) เจ้าของบ้านก็จะโดนแลบลิ้นปลิ้นตาหรือแกล้งแหย่ แต่ถ้าตอบว่า treat (ขนมหวาน) เปรียบได้กับการยอมสยบด้วยความกลัว จากนั้นก็จะให้ขนมหวานกับภูตผีเด็กน้อย และพอตกกลางคืนก็เป็นเวลาของวัยรุ่นและหนุ่มสาวที่จะแต่งตัวจัดเต็มออกไปปาร์ตี้กัน

 

ฮัลโลวีนกลายเป็นเทศกาลสำคัญบนปฏิทินของชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก อุตสาหกรรมการผลิตชุดแฟนซีและอุปกรณ์ประดับตกแต่งสำหรับฮัลโลวีนเฟื่องฟู สามารถสร้างกำไรกับผู้ค้าปลีกกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี งานนี้จึงเป็นการหลอกที่เต็มใจทั้งผู้หลอกและผู้ถูกหลอก...สิ้นเดือนนี้ “Trick or Treat?” กันเถอะ

 

 

ที่มา : นิตยสาร Plook ฉบับที่ 22 เดือนตุลาคม 2555