รู้รอบโลก ตอน Happy Birthday คนทั่วโลกฉลองวันเกิดกันอย่างไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-07 12:12:20
เรื่อง: ญดา สัตตะรุจาวงษ์ ภาพประกอบ: วันนิตา จุนถาวร
อุแว้ อุแว้...เสียงร้องของเด็กแรกคลอดที่สร้างรอยยิ้มให้กับโลกใบนี้ เพราะการกำเนิดชีวิตใหม่เป็นข่าวดีที่นำความสุข สร้างความหวังให้กับครอบครัว การเฉลิมฉลองวันเกิดเพื่อแสดงความยินดีในการเจริญเติบโตของเด็กๆ จึงเริ่มขึ้นเมื่อครบรอบขวบปีแรกเป็นต้นมาทุกๆ ปี จนถึงช่วงวัยกลางคนที่เริ่มไม่ค่อยอยากจะนับอายุเพิ่มสักเท่าไหร่ ค่อยมาว่ากันตอนงานแซยิดของผู้สูงอายุเพื่อฉลองครบรอบอายุที่ยืนยาว ความสำคัญของวันเกิดทำให้คนทั่วโลกมีพิธีการที่แตกต่างไปตามความเชื่อเพื่อเฉลิมฉลองวันมงคลเช่นนี้
ตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ในอเมริกาจะจัดงานเบบี้ชาวเวอร์ Baby Shower ที่ไม่ใช่การอาบน้ำเด็กในท้อง แต่เป็นการฉลองการตั้งครรภ์และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ และญาติๆ ส่งของขวัญมารับขวัญสมาชิกใหม่ล่วงหน้า คาดว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1950-1960 ในยุคที่แต่ละครอบครัวมีลูกหลายคน การให้ของขวัญเป็นอุปกรณ์ดูแลเด็กอ่อนสามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่กำลังจะมีเด็กได้เป็นอย่างดี เบบี้ชาวเวอร์จึงเปรียบเสมือนปาร์ตี้เล็กๆ ในครอบครัวที่เต็มไปด้วยของขวัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ขวดนม และอุปกรณ์ดูแลเด็กอ่อนอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คนไทย ผู้ใหญ่ในบ้านก็มักจะแนะนำให้สมาทานศีลเพื่อเป็นการทำความดีคุ้มครองทั้งมารดาและเด็ก ส่วนชาวฮินดูมีการทำขวัญครรภ์ โดยจะจัดพิธีเล็กๆ ในบ้านให้คุณพ่อหวีเสยผมของคุณแม่จากข้างหน้าไปข้างหลังสามครั้ง เป็นการทำขวัญให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตด้วยดีและขับไล่สิ่งชั่วร้าย
หลังจากตั้งครรภ์มาครบ 9 เดือน ช่วงเวลาการเดินทางออกสู่โลกกว้างยังมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ชาวฮินดูเชื่อว่าขณะที่เด็กออกมาจากท้องแม่แล้วแต่ยังไม่ได้ตัดสายสะดือ ผู้เป็นพ่อจะเอาแหวนหรือช้อนทองจุ่มในน้ำผึ้งแล้วแตะที่ปากทารก พร้อมกับกระซิบที่หูข้างขวาของลูกรักด้วยคำว่า “พูด” สามครั้ง จากนั้นจึงสวดมนต์บทต่างๆ ให้เด็กเพื่ออวยพรให้แข็งแรงและมีอายุยืนยาว คาดว่าคุณพ่ออาจจะกลัวน้องไม่ร้องเลยกระซิบเตือนเบาๆแทนการเอามือตีก้นเด็กให้ร้อง
นอกจากจะสวดมนต์อวยพร ประเพณีการฉลองการเกิดใหม่แบบกรีกโบราณต้องมีการประกาศกันอย่างเอิกเกริกด้วยเสียงร้องตะโกน ทั้งคุณแม่และทุกคนที่กำลังช่วยทำคลอดกันจะร่วมกันตะโกนว่า “oloyge” เพื่อส่งสัญญานบอกว่าช่วงเวลาที่แสนจะลุ้นและทรมานใจได้สิ้นสุดลงแล้ว ทันทีที่สายสะดือถูกตัดทั้งแม่และทารกจะถูกนำไปอาบน้ำ จากนั้นจะอยู่ในช่วงไม่บริสุทธิ์คือห้ามรับแขกเป็นเวลา 10 วัน ประเพณีนี้สืบทอดกันมาในประเทศแถบตะวันออกกลาง ปัจจุบันในประเทศอิหร่านยังรักษาประเพณีการไปเยี่ยมทารกเกิดใหม่ในวันที่ 10 หลังคลอด
นอกจากนี้เหมือนกับที่ไทยเรามีประเพณีการทำขวัญเมื่อเด็กอายุครบหนึ่งเดือนเพื่อเป็นสิริมงคลกับเด็กแรกเกิด ศาสนาคริสต์ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กที่เกิดมานั้นไม่บริสุทธิ์ด้วยบาปกำเนิด ในยุโรปยุคกลางที่เคร่งศาสนา เด็กทารกจึงถูกนำไปทำพิธีอาบน้ำรับศีลตั้งแต่วันแรก ขณะที่คุณแม่ตัวจริงจะอยู่ในช่วงเก็บตัว 40 วันและไม่ได้ร่วมพิธี แต่จะมีพ่อทูนหัว แม่ทูนหัว ซึ่งเป็นคนสนิทของคุณพ่อคุณแม่ที่จะมีบทบาทช่วยอบรมเด็กในอนาคตเป็นคนทำพิธีแทน
Did you know?
|
แอนิเมชันน่ารักๆ ของนกกระสาจากเมนู YouTube แปลไทย
www.trueplookpanya.com/plook/www_32
ที่มา : นิตยสาร pook ฉบับที่ 32 เดือนสิงหาคม 2556