www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สุขศึกษาและพลศึกษา > มัธยมปลาย

ไข้หัวลม โรคที่มาช่วงเปลี่ยนฤดู
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-04-13 14:17:08

 เคยรู้สึกบ้างไหมคะว่า เวลาเปลี่ยนอากาศทีไร เรามักจะมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว รู้สึกเสมหะติดคอบ้าง ไม่สบายตัว แต่ก็ไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ เป็นที่หงุดหงิดใจยิ่งนัก โดยเฉพาะคนทำงานอย่างเรา ๆ ทำให้ทำงานทั้งทีไม่เต็มที่อย่างไรก็ไม่รู้ พอไปคุยกับคนแก่ก็ได้รับคำตอบมาว่า "ไม่ต้องแปลกใจหรอก ช่วงนี้เค้าเรียกไข้หัวลม คนเป็นกันเยอะ ทำแกงส้มดอกแคกิน เดี๋ยวก็หาย"


  เราก็ฟังแล้วกลับมาคิดว่า ทำไมต้องเป็นแกงส้มดอกแคด้วย อาหารอย่างอื่นพอจะมีบ้างหรือไม่ ก่อนอื่น มาทำความรู้จักอาการไข้หัวลมกันก่อน

 

        ไข้หัวลม ก็คือ ไข้เปลี่ยนฤดูนั่นเอง จะร้อนเป็นฝน ฝนเป็นหนาว หรือหนาวเป็นร้อน เรียกเหมือนกันหมด  ( สรุปว่ามีอยู่ 3 หัว (ลม))


         อาการโดยทั่วไปจะเริ่มต้นด้วย ระวิงระไวไอจาม และอาจมีอาการมีน้ำมูกร่วมด้วยก็ได้  ครั่นเนื้อครั่นตัว เพลีย เหนื่อย วัดไข้แล้วมักจะไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส เกิดจากการเปลี่ยนอากาศ

 

        ถ้าเป็นช่วงนี้ จากฝนเป็นหนาว ตามแพทย์แผนไทยบอกว่าร่างกายมีไอความร้อนค้างอยู่ตอนหน้าฝน พออากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว ปรับตัวไม่ทัน เกิดภาวะธาตุไฟพิการ ก็เลยป่วยได้ ในคนที่มีภูมิต้านทานดีก็จะไม่มีอาการใด ๆ แต่ในคนที่ภูมิต้านทานไม่ค่อยดี ช่วงนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อน จะป่วยง่ายมาก คนโบราณเลยมีวิธีป้องกันก่อนที่จะป่วยล้มหมอนนอนเสื่อกันเสียก่อน โดยเริ่มจากอาหารการกินง่าย ๆ ก่อนจะไปถึงยา


        นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงการแพทย์พื้นบ้านไทยใช้ดูแลสุขภาพ โดยศาสตร์ดังกล่าวจะใช้รสชาติของอาหารมาปรับสมดุลของร่างกายให้พร้อมรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง


        รสยาที่ใช้ คือ รสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ด เพราะรสเปรี้ยวจะช่วยขับเสมหะ รสขมช่วยเจริญอาหาร ทำให้หลับได้ รสเผ็ดร้อน จะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ขับลม ซึ่งรสดังกล่าวจะหาได้ในอาหารที่เรารับประทานแต่ละมื้อนั่นเอง

 

      ดังนั้น ข้อมูลที่ว่าผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา ภูมิปัญญาแผนไทย ใช้ป้องกันโรค เสริมภูมิต้านทาน จึงเป็นความจริง เพราะวิถีชีวิตประจำวันที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การบริโภคอาหาร การสัมผัสรสชาติของอาหารจึงเป็นพฤติกรรมที่ทุกคนได้รับ

 

         ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คืออาหารเย็น ไม่ว่าจะเป็นอาหารเย็นทางกายภาพ เช่น น้ำแข็ง หวานเย็น ไอศกรีม ผลไม้ แตงโม แอบเปิ้ล หรือผลไม้ที่อยู่นอกฤดูกาล

 

         สรุปแล้วหนาวนี้ ใช้อาหารเป็นยากันก่อนเกิดโรค ส่งเสริมสุขภาพแล้วอย่าลืมการพักผ่อนที่เพียงพอ นอนแต่หัวค่ำ ( โดยเฉพาะเด็ก ๆ) และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะรอดพ้นจากไข้หัวลมได้อย่างน่าภาคภูมิใจค่ะ

 

         ช่วงนี้แนะนำให้เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ เน้นรสเปรี้ยวอมขมเล็กน้อย  เช่น ต้มยำต่าง ๆ ซึ่งในส่วนประกอบต้มยำจะมีสมุนไพรรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก กะเพรา หอม  กระเทียม เป็นต้น

 

        นอกจากนี้ แกงขี้เหล็ก สะเดาต้มจิ้มน้ำปลาหวาน รสขมของสะเดาช่วยให้เจริญอาหาร นอนหลับสบาย หรือยำดอกแค แกงส้มดอกแค ดอกแคต้มจิ้มน้ำพริก

 

        สรรพคุณดอกแคช่วยแก้ไข้เปลี่ยนฤดู เปลือกนำมาต้มคั้นน้ำ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้มูกเลือด ปรับธาตุ สำหรับดอกแคคนโบราณถือว่าเป็นสุดยอดของผักพื้นบ้านต้านลมหนาว ช่วยแก้ไข้หัวลม เป็นต้น

 

       นพ.ธวัชชัย กล่าวฝากประชาชนให้สังเกตตลาดผักพื้นบ้าน ฤดูไหนมีผักอะไรมาก นั่นหมายถึงธรรมชาติสร้างความสมดุลให้กับมนุษย์ด้วยการผลิตผักต่าง ๆ ตามฤดูกาลมาให้บริโภค เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ต่อสู้กับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงนี้จะเห็นดอกแค ออกดอกจำนวนมาก เป็นต้น

 

เมนูเด็ดประจำหน้านี้ก็คือ 


อาหารคาว

 

 ดอกแค 

สรรพคุณ คือ แก้ไข้เปลี่ยนฤดูโดยเฉพาะ ยิ่งถ้านำมาปรุงอาหารกับสมุนไพรไทยตัวอื่น อาทิเช่น มะนาว เพิ่มวิตามินซี ข่าตะไคร้ในต้มยำ ต้านอนุมูลอิสระได้อีก ยิ่งเป็นเมนูที่มีประโยชน์มากขึ้น เช่น 

 - แกงส้มดอกแค 

 - ยำดอกแคชุบแป้งทอดหมูสับ 

 - น้ำพริก แกล้มกับยอดแค 


มะเขือพวง 

สรรพคุณ คือ ขับเสมหะ ช่วยในการย่อย นอกจากนี้ยังเป็นแชมป์ผักพื้นบ้านที่มีเส้นใยเยอะที่สุดแก้ท้องผูก และมีเบต้าแคโรทีนต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย 

 - น้ำพริกมะเขือพวง 

 - แกงไก่ใส่มะเขือพวง 

 - ยำมะเขือพวง (คั่วให้สุกก่อน) ใส่กุ้งสด หอมซอย แค่นี้ก็น้ำลายไหลแล้ว 

 - แกงแคไก่ใส่มะเขือพวง 


พริกไทย 

สรรพคุณ ขับเสมหะ แก้ลมตีขึ้น ใช้ได้ทั้งพริกไทยขาวและพริกไทยดำ แต่ถ้าให้แนะนำ กินพริกไทยดำจะปลอดภัยจากสารฟอกสี และมีประโยชน์มากกว่า ตัวอย่างอาหารในเมนูพริกไทยคือ 

 - หมูผัดเผ็ดพริกไทยอ่อน 

 - หมู หรือไก่ หรือกุ้ง ทอดกระเทียมพริกไทย อย่าลืมแกล้มกับผักอื่นๆ ด้วย 

 - หนำเลี๊ยบหมูสับผัดพริกไทยดำ 


กระชาย 

สรรพคุณ ทำให้กระชุ่มกระชวย เป็นยาบำรุง 

 - ขนมจีนน้ำยา 

 - ผัดเผ็ดหมูป่าใส่กระชาย 


กะเพรา 

สรรพคุณ แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับลม แก้คลื่นไส้ได้ด้วย 

 - น้ำใบกะเพรา แก้หวัดในเด็กได้ดี กลิ่นไม่ฉุนอย่างที่คิด ให้กินตอนอุ่น ๆ 

 - ทอดมันปลากรายใส่ใบมะกรูด+กะเพรากรอบ 


กระเทียม 

สรรพคุณ ระบายพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว 

กินสดก็ได้ 5-10 กลีบ ต่อวัน นอกจากนี้ยังสามารถลดไขมันในเลือดได้ด้วย หรือจะนำมาประกอบกับอาหารได้เกือบทุกชนิด เช่น ผัดผัก อาหารเวียดนาม เมี่ยงคำใบชะพลูเป็นต้น 


สะเดา 

สรรพคุณ ขับลม ลดไข้ 

 - ปลาดุกย่างน้ำปลาหวานสะเดา 

 - น้ำพริกกะปิสะเดา 

 - ยำสะเดาหมูสับ 

 - แกงจืดสะเดา 


ขี้เหล็ก 

สรรพคุณ ถ่ายพิษไข้ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้นอนไม่หลับ 

 - แกงขี้เหล็ก 


ชะมวง 

สรรพคุณ แก้ไข้ ระบายท้อง 

 - แกงหมูชะมวง 

 - แกล้มน้ำพริก หรืออาหารเวียดนาม เป็นผักแนมได้ทุกจาน 


ผักชี 

สรรพคุณ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ แก้ไข้ ไอ หวัด 

 - ใช้แกล้มกับอาหารได้เกือบทุกประเภท 

 - รากผักชี กระเทียมพริกไทย กับเนื้อ *** อย่างอื่น ก็เป็นเมนูที่เด็ก ๆ กินได้ไม่น้อยเหมือนกัน 


หอม 

สรรพคุณ แก้ไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอครืดคราด ขับลม บำรุงธาตุพิการ 

 - ไข่เจียวหัวหอม ใส่สมุนไพรอย่างอื่นได้ไม่ว่ากัน 

 - หรือจะใส่กับยำ ลาบ อื่น ๆ ด้วยก็ได้ 


ของหวาน 


ให้เลือกเมนูถั่วเป็นหลัก เพราะให้พลังงานเช่น สาคูไส้หมู แกล้มผักชีเยอะ ๆ ถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล บัวลอยน้ำขิง หรือเมี่ยงคำ 


น้ำสมุนไพร 

น้ำผึ้งผสมมะนาว ควรเป็นน้ำผึ้งเก่า ( เก็บเกิน 6 เดือน) น้ำใบบัวบกใส่ชะเอมเทศ น้ำใบกะเพรา น้ำขิง น้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะระขี้นก น้ำส้มเพิ่มวิตามินซี เสริมภูมิต้านทาน

 

 

Source:

โดย พญ.กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป 
https://www.balavi.com/content_th/article/article12.asp
https://www.mcot.net/site/content?id=5260fcb1150ba0693000030b#.U0ohTVWSySo
https://health.kapook.com/view6024.html