Be Healthy 24/7 สุขภาพดี 24 ชั่วโมงแบบ นาฬิกาชีวิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-30 10:38:39
ดึกดื่นที่เราหลับใหล แต่ฟันเฟืองในร่างกายไม่เคยหยุดพัก มันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การดูแลสุขภาพร่างกายด้วยการเลือกกิน-อยู่ให้ดีสามารถช่วยเบาแรงให้ร่างกายได้เยอะ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ควรจะเสริมสร้างร่างกายให้สมบูรณ์ไว้เป็นต้นทุนสุขภาพในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ไปอีกนาน
การแพทย์แผนตะวันออกมีวิธีดูแลสุขภาพด้วยตนเองที่เรียกว่า “นาฬิกาชีวิต” โดยเชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีการไหลเวียนของพลังชีวิต (ลมปราณ) ผ่านอวัยวะสำคัญต่างๆ ตลอดเวลา จึงควรทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงเวลาเพื่อบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงทุกวัน ตำรานี้ใกล้เคียงกับการแพทย์แผนตะวันตกที่ว่าด้วยเรื่อง “นาฬิกาชีวภาพ” หรือระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับเวลาตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน
เริ่มต้นทำความรู้จักร่างกายของเรา ให้เวลากับการดูแลสุขภาพดี 24 ชั่วโมง เพื่อร่างกายที่เรารัก...รักนะ “ตัวเอง”
03.00.-05.00
ปอด
การไหลเวียนของพลังชีวิตเริ่มต้นที่ปอด ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในระบบการหายใจ ช่วงเวลานี้จึงควรตื่นมาสูดอากาศบริสุทธิ์และรับแสงแดดยามเช้า เพื่อให้ปอดรับออกซิเจนเข้าไป
ฟอกเลือด ผิวของเราจะสดใสขึ้น อาหารที่มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอสูง เช่น ส้ม ผักใบเขียว น้ำผึ้ง หอมใหญ่
05.00-07.00
ลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ดูดซึมน้ำและสารอาหารต่างๆ เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนร่างกายจะขับของเสียออกมา ควรอึให้เป็นนิสัยทุกเช้า เพราะถ้าไม่อึในช่วงนี้
ร่างกายจะดูดกากอาหารที่ตกค้างกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
07.00-09.00
กระเพาะอาหาร
กระเพาะอาหารเริ่มตอกบัตรเข้างานแล้ว เวลาเบรคฟาสต์ที่เหมาะสมคือก่อน 9 โมง ถ้าไม่ทานข้าวเช้ากระเพาะอาหารจะอ่อนแอ เสี่ยงต่อโรคกระเพาะและแผลที่หลอดอาหาร
แถมยังส่งผลให้หน้าแก่ก่อนวัยด้วย
จัดเต็มกับอาหารเช้า ลดปริมาณแป้งและน้ำตาลเพื่อให้เผาผลาญได้เร็ว จะได้ไม่ง่วงในช่วงสายๆ
09.00-11.00
ม้าม
ม้ามทำหน้าที่ดักจับเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ และทำลายเม็ดเลือดที่มีรูปร่างผิดปกติ นอกจากนี้ยังดักจับเชื้อโรค ดูแลระบบน้ำเหลือง
ม้ามที่แข็งแรงต้องไม่ชื้น ในทางการแพทย์จีนเชื่อว่าน้ำสัมพันธ์กับปาก จึงไม่ควรพูดหรือกินมากในช่วงสายๆ
อาหารจำพวกมันเทศสีแดงหรือเหลือง ขิงสด ลำไยแห้ง
11.00-13.00
หัวใจ
หัวใจจะทำงานหนักเป็นพิเศษในช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยงอาการเครียด ตื่นเต้น หรือตกใจ ใช้เวลาพักเที่ยงด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนเม้ามอยกับเพื่อนๆ ดีกว่า
อาหารที่มีสีแดงตามธรรมชาติ เช่น ถั่วแดง ผลไม้สีแดง น้ำมันปลา หรือวิตามินบีต่างๆ
13.00-15.00
ลำไส้เล็ก
หลังจากกินข้าวเที่ยงมาแล้ว ควรหยุดกินอาหารทุกประเภท แล้วเปิดโอกาสให้ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะน้ำ วิตามินซี วิตามินบี และโปรตีน เพื่อสร้างกรดอะมิโน
สร้างเซลส์สมอง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
อาหารไขมันต่ำ และน้ำเปล่า
15.00-17.00
กระเพาะปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะเป็นที่พักของปัสสาวะซึ่งถูกกรองมาจากไต ถ้าไตมีปัญหาจะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารที่มีประโยชน์ เช่น เกลือแร่ แคลเซียม จนตกตะกอนอุดตันท่อปัสสาวะ เวลานี้จึงควรวอร์มอัพร่างกายให้มีเหงื่อ ถ้าได้ออกกำลังกายช่วงนี้ยิ่งดี เพราะเหงื่อช่วยถ่ายเทของเสียแบ่งเบาภาระกระเพาะปัสสาวะ
ผลไม้พวกเบอรี่ต่างๆ และดื่มน้ำเยอะๆ
17.00-19.00
ไต
ไตเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยหลอดเลือด มีหน้าที่กรองของเสียและน้ำออกจากเลือดจนกลายเป็นปัสสาวะ ในสถานการณ์ปกติความดันโลหิตที่ไปเลี้ยงไตต้องเพียงพอ
เวลาโพล้เพล้แบบนี้จึงไม่ควรเข้านอน แต่ควรทำร่างกายให้สดชื่นแอคทีฟ
อาหารที่มีเกลือต่ำ และสมุนไพรจีน เช่น ถั่งเช่า เม็ดบัว
19.00-21.00
เยื่อหุ้มหัวใจ
เยื่อหุ้มหัวใจปกป้องหัวใจเอาไว้ไม่ให้เสียดสีกับอวัยวะต่างๆ เวลาบีบตัว เวลานี้เป็นช่วง cool down ให้ร่างกายพักผ่อน ปรับสมดุลทางอารมณ์ ไม่ตื่นเต้นหรือดีใจเกินไป เหมาะสำหรับการสวดมนต์และทำสมาธิก่อนนอน อาหารจำพวกโปรตีนที่มีไขมันต่ำและวิตามินบีต่างๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
21.00-23.00
อุณหภูมิในร่างกาย
ช่วงเวลานี้อุณหภูมิในร่างกายจะลดต่ำลง เพราะในกระแสเลือดมีเม็ดเลือดขาวเดินทางอยู่เราต้องทำร่างกายให้อบอุ่น ไม่ควรอาบน้ำเย็นหรือตากลม แต่ควรจะซุกตัวนอนบนเตียงที่อบอุ่นหรืออ้อมกอดของใครสักคน
อาหารรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง โสม
23.00-01.00
ถุงน้ำดี
ถุงน้ำดีเก็บน้ำดีไว้ย่อยอาหาร ร่างกายจะหลั่งน้ำดีเมื่ออาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก แต่ถ้าเมื่อไหร่อวัยวะในร่างกายขาดน้ำ ร่างกายจะดึงน้ำจากถุงน้ำดี
มาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงน้ำดีข้น จึงควรดื่มน้ำก่อนนอนมากๆ
อาหารที่มีไขมันต่ำและหลีกเลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
01.00-03.00
ตับ
ระหว่างที่เรานอนหลับ ตับกำลังทำงานฆ่าเชื้อโรค ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เสื่อมแล้ว และขจัดสารพิษออกจากร่างกาย จึงเป็นเวลาแห่งการนอนหลับสนิทไม่ใช่เวลากินกลางดึก
เพราะทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้นและมีสารพิษตกค้าง
อาหารช่วยล้างพิษ เช่น งา น้ำผลไม้ และน้ำสะอาด
หนังสืออ้างอิง
• นาฬิกาชีวิต (Biological Clock) รวบรวมโดย อ.นวลฉวี ทรรพนันทน์ จากการบรรยายของ อ.สุทธิวัสส์ คำภา นักธรรมชาติบำบัด
• สุขภาพดีราศีจับ คู่มือโหราศาสตร์และสุขภาพกับ MK
• เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th
เรื่องเด่นน่าสนใจในฉบับ
วิทยาศาสตร์เรื่องอายุและความชรา
บริหารร่างกายด้วยโยคะเพื่อฝึกพลังลมปราณ
นานาสาระเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ
รู้จักร่างกายของเรากับสิ่งมีชีวิตเล็กๆในตัวเรา
ที่มา >> นิตยสาร plook ฉบับที่ 38 กุมภาพันธ์ 2014