www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม > มัธยมปลาย

27 เรื่อง เมืองพม่า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-12-02 16:11:43



27 Things you don't know about Myanmar
27 เรื่อง เมืองพม่า

11-22 ธันวาคมนี้ 10 ประเทศอาเซียน บวก 1 ติมอร์ตะวันออกจะจัดทัพนักกีฬาลงประลองศึกในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่พม่ารับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หลังจากเว้นช่วงระยะเวลาการเป็นเจ้าภาพมายาวนานถึง 44 ปี

หลังจากปิดประเทศมาอย่างยาวนาน พม่าเริ่มแง้มประตูหน้าต่างต้อนรับชาวต่างชาติมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขนาดอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยเราก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ชะโงกเข้าไปดูบ้านดูเมือง ทำความรู้จัก ศึกษานิสัยใจคอของเพื่อนข้างบ้าน เมื่อรู้จักกันมากขึ้นก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ทัศนคติเดิมๆ ที่สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าในประวัติศาสตร์เจือจางหายไปตามกาลเวลา เมื่อเราอาศัยอยู่บนโลกที่ใฝ่ฝันหาแต่มิตรภาพและสันติภาพ

อยากรู้จักพม่าให้มากขึ้นก็ต้องคุยกับคนพม่าให้มากขึ้น Sai Tun Nyi, Kyaw Kyaw San, Htet Oo Wai Yan, Aye Thazin Kyaw และ Naw Sitt Aung สามหนุ่มสองสาวนักศึกษาพม่าจากทั่วประเทศที่ข้ามฟ้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยชินวัตร ยินดีเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เล่า 27 เรื่องเมืองพม่าที่คุณอาจไม่เคยรู้ ไม่คาดคิด หรือไม่เคยค้นเจอในกูเกิลมาก่อน


ภาษาและวัฒนธรรม
1. คนพม่ามีนิสัยขี้เกรงใจ ใจดี ชอบช่วยเหลือแบ่งปัน อยากรู้อยากเห็น และชอบเม้าท์นะจ๊ะ
2. คนพม่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีนามสกุล (ส่วนใหญ่ชนเผ่าที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีนามสกุล) ชื่อตัวแรกจะบ่งบอกว่าคนๆ นั้นเป็นลูกหลานของเผ่าไหนเพราะพม่าประกอบด้วยคนหลายชนเผ่ามารวมกัน
3. “มิงกะลาบา” เป็นคำทักทายที่เป็นทางการมากๆ เมื่อเจอกันคนพม่าจะใช้คำว่า “Nay Kaung Lar?” ซึ่งแปลว่า สบายดีไหม หรือ “Sar Pee Pi Lar? แปลว่า กินข้าวหรือยัง มากกว่า
4. การสวมรองเท้าแตะในพม่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมาะสม สามารถใส่รองเท้าแตะไปโรงเรียน ไปออกงาน ติดต่อสถานที่ราชการได้ รองเท้าแตะที่ว่าไม่ใช่รองเท้ายางเหมือนบ้านเรา แต่เป็นรองเท้าคีบทำจากผ้าหลายชนิดประดับลูกปัด อันเป็นตัวบอกฐานะของผู้สวมใส่

 


ประเพณี
5. พม่ามีเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเวลาเดียวกับไทย เรียกว่า Thing Yan Festival มีรถแห่เล่นน้ำแบบบ้านเรา แต่จะใช้ท่อน้ำแบบนักดับเพลิงและไม่เล่นแป้ง นอกจากวันสงกรานต์ที่เปรียบได้กับวันปีใหม่ คนพม่ายังฉลองปีใหม่ของแต่ละชนเผ่าด้วย ซึ่งมักอยู่ ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
6. ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา คนพม่ามักแสดงความเคารพคนที่แก่กว่า และทุกบ้านจะให้ทานแก่เพื่อนบ้านโดยจะทำอาหารแบ่งให้คนที่ผ่านไปผ่านมาไม่ว่าจะยากดีมีจน
7. ถึงแม้ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาประจำชาติ ทางการประกาศให้วันรอมฎอน ของศาสนาอิสลาม และวันเดวาลี ของศาสนาฮินดู เป็นวันหยุดประจำปีของพม่าด้วย (วันคริสต์มาสกับวันตรุษจีนไม่หยุด)
8. นายพล ออง ซาน และออง ซาน ซูจี ยังคงเป็นบุคคลต้นแบบของคนรุ่นใหม่พม่า เนื่องจากทั้งสองเป็นคนที่กล้าหาญ ซื่อสัตย์ ต่อสู้และเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในปี 2015 และคนพม่าก็คาดหวังว่า ออง ซาน ซูจี จะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป


ชีวิตประจำวัน
9. พม่าเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านและไทยเรา แต่คนพม่ากลับต้องซื้อหาเครื่องปั่นไฟใช้เอง เพราะทางการจะจ่ายไฟหรือหยุดจ่ายไฟได้ตามอำเภอใจ
10. พม่าเพิ่งมี ATM ใช้เมื่อสองปีที่แล้ว และเพิ่งมีบัตรเครดิตใช้ในปีนี้ ก่อนหน้านี้คนพม่าพกเงินเป็นฟ่อน เนื่องจากธนาคารยังขาดความน่าเชื่อถือ
11. พม่าไม่มีเศษสตางค์ แต่ก่อนเคยมีหน่วยเงินที่เล็กที่สุด เรียกว่า Pyas แต่ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินถูกลงจนไม่มีค่าและต้องยกเลิกใช้ แล้วเวลาทอนเงินจะทำอย่างไร? ร้านค้าจะให้ทิชชู่ ขนม หรือกาแฟซอง เป็นเงินทอนแทน
12. ด้วยสาเหตุนี้เอง พม่าจึงไม่มีตู้หยอดเหรียญ
13. พม่ามีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพียงสองเจ้าและผลิตซิมออกมาในจำนวนจำกัด ซิมโทรศัพท์มือถือที่ซื้อขายกันในตลาดมืดจึงเคยอัพราคาสูงถึง 4,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (จากราคาปกติ 1,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ปัจจุบันซิมโทรศัพท์ราคาลดลงเหลือประมาณ 3,000 บาท ซึ่งก็ยังแพงเกินไปและมีจำนวนน้อยเกินไปอยู่ดี
14. พม่าขับรถชิดขวา แต่รถยนต์ส่วนใหญ่ดันเป็นรถมือสองที่มีพวงมาลัยขวา คนพม่าเลยต้องระวังการขึ้นลงรถเอาเอง
15. รถสปอร์ตหรือรถซูเปอร์คาร์มือสองจากญี่ปุ่นมีราคาถูก พม่าเลยมีปัญหาเด็กแว้นไม่ต่างกับไทย เพราะวัยรุ่นมีเงินมักจะใช้อำนาจปิดถนนแข่งรถซิ่งจนเกิดกรณีขับรถชนคนตายแต่ไร้หลักฐาน (คุ้นๆ ป่ะ)
16. พม่ามีทางด่วนเพียงแห่งเดียวที่ย่างกุ้งที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา


 

ความบันเทิง
17. รัฐบาลพม่าเพิ่งอนุญาตให้พลเมืองเข้า YouTube ได้เมื่อสองปีที่ผ่านมานี้เอง
18. ไม่มีสิ่งบันเทิงจากเกาหลีหรืออเมริกาขายในพม่า เพราะรัฐบาลกลัวว่าคนพม่าจะเครซี่จนลืมวัฒนธรรมของตัวเอง รัฐบาลยังมีสิทธิควบคุมเสื้อผ้าหน้าผม และสีผมของศิลปิน ก่อนจะเผยแพร่มิวสิควิดีโอสู่สาธารณะ
19. ไม่มีกฎหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในพม่า ทำให้เกิดปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์จนของแท้ขายไม่ออก ไม่ต่างจากเมืองไทย
20. โรงหนังฉายหนังฝรั่งแบบเสียงในฟิล์ม ไม่มีซับไตเติ้ลภาษาพม่า คนดูจึงต้องรู้ภาษาอังกฤษดีทีเดียว
21. ไม่มีร้านฟาสต์ฟู้ดหรือร้านกาแฟชื่อดัง วัยรุ่นพม่านัดแฮงเอาท์กันที่ร้านชาริมถนน หรือ tea shop ร้านที่วัยรุ่นชอบไปชื่อร้าน Cafe 365 ส่วนร้านหรูๆเก๋ๆ ยกให้ร้านชื่อ Coffee Circle Yangon
22. คอนเสิร์ต MTV EXIT หน้าเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ถือเป็นเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติครั้งแรก โดย Jason Mraz และ Michael Learns To Rock เป็นศิลปินกลุ่มแรก ที่ได้แสดงคอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ครั้งนี้


การศึกษา
23. วิชาสุดฮิตของนักศึกษาพม่า คือ แพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่มีเกียรติ มีคนยอมรับมาก
24. ภาษาที่นิยมเรียนมากที่สุดคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ตามลำดับ
25. การสอบเข้ามหาวิทยาลัยใช้การยื่นผลคะแนน โดยทั้งประเทศมีข้อสอบชุดเดียวกันหมด


กีฬา
26. คนพม่าชอบกีฬาฟุตบอลมากที่สุด มีลีกฟุตบอลอาชีพจริงจังในปี 2009 แต่ในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งกลับมีสนามฟุตบอลมาตรฐานเพียงแห่งเดียว
27. กีฬาที่คนพม่าคาดหวังว่าจะได้เหรียญทอง ได้แก่ มวย ฟุตบอลหญิง และเซปักตะกร้อ

 


SPECIAL THANKS
Dr. Than Khin, a program director of Master of Science
in Management Technology, Shinawatra University

คอนเทนต์ที่น่าสนใจ
- ข้อมูลพื้นฐานของสหภาพพม่า
- ประวัติของ ออง ซาน ซูจี
- ฝึกพูดภาษาพม่าเพื่อการสื่อสาร
- ประวัติศาสตร์ของการละเล่นตะกร้อ

แหล่งที่มา > นิตยสาร plook