www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทย และกีฬาสากล > มัธยมต้น

ซูโม่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-05-17 18:28:35

Sumo

 

             ซูโม่ คือรูปแบบหนึ่งของมวยปล้ำ เป็นกีฬาที่นักมวยปล้ำ (Rikishi) ต้องพยายามบังคับให้คู่ต่อสู้ออกจากวงแหวน (Dohyo) หรือบังคับให้ส่วนอื่นของคู่แข่งยกเว้นฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้น ซูโม่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีการฝึกฝนเป็นอาชีพ ประเพณีโบราณต่างๆได้รับการเก็บรักษาไว้ในกีฬาซูโม่กระทั่งปัจจุบัน รวมทั้งพิธีกรรมหลายอย่างที่ใช้ในลัทธิชินโต (Shinto)ชีวิตของนักซูโม่ต้องเคร่งครัดในกฎระเบียบที่วางไว้ โดยสมาคมซูโม่ นักกีฬาส่วนใหญ่จะต้องอาศัยอยู่ในค่ายฝึกซูโม่ “Sumo Training Stables” (Heya) ซึ่งชีวิตประจำวันของพวกเขาเหล่านี้จะถูกกำหนดโดยประเพณีที่เข้มงวดตามประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมของซูโม่ อย่างเช่นอาหารตลอดจนเครื่องแต่งกาย

 

             เริ่มแรก ซูโม่เป็นพิธีบูชาเทพพระเจ้าของชาวญี่ปุ่นเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการปล้ำซูโม่เกิดขึ้นระหว่างทวยเทพ ซูโม่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักในศตวรรษที่ 8 และยังคงเป็นที่นิยมถึงปัจจุบัน ในยุคโชกุนและซามูไร ซูโม่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องวัดความแข็งแรงในการต่อสู้แล้ว ซูโม่ยังเกี่ยวโยงกับลัทธิชินโตดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมการฟ้อนรำที่กล่าวอ้างว่าเป็นการสู้กันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (Kami)

 

            ผู้ชนะการแข่งขันซูโม่ คือ 1. นักมวยปล้ำคนแรกที่บังคับให้ฝ่ายตรงข้ามก้าวออกมาจากวงแหวน หรือ 2. นักมวยปล้ำคนแรกที่บังคับให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายฝ่ายตรงข้ามนอกเหนือจากฝ่าเท้าสัมผัสพื้นดิน และในบางโอกาสผู้ตัดสินอาจให้ชัยชนะแก่นักมวยปล้ำที่สัมผัสพื้นก่อนก็ต่อเมื่อนักซูโม่ทั้งสองสัมผัสพื้นดินแทบจะพร้อมกัน แต่นักซูโม่ที่แตะพื้นทีหลังไม่มีโอกาสชนะหรือหมดทางสู้ เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามเหนือกว่า นักมวยปล้ำที่แพ้ในกรณีนี้เรียกว่า ศพ (Shini-Tai)

 

            นอกจากนี้ยังมีกฎที่ไม่ค่อยได้ใช้แต่สามารถนำมาหาผู้ชนะ อย่างนักมวยปล้ำที่ใช้เทคนิคผิดกติกา (Kinjite) จะถูกปรับแพ้ เช่น การรัดเข็มขัด (Kawashi) ไม่เรียบร้อย หรือ ไม่สามารถมาปรากฏตัวในการแข่งขัน (ซึ่งรวมถึงการบาดเจ็บด้วย) ก็จะถูกปรับแพ้ (Fusenpai) หลังจากประกาศชื่อผู้ชนะ ผู้ตัดสินด้านล่าง (Gyoji) จะระบุถึงเทคนิคที่ใช้เอาชนะ(Kimarite) ในการแข่งขัน ซึ่งจะมีการประกาศให้ผู้ชมรับทราบต่อจากนั้น

 

             ผลแพ้ชนะมักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที โดยที่นักกีฬาคนใดคนหนึ่งถูกทำให้ออกจากวงกลมหรือถูกทุ่มไปที่พื้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามการต่อสู้อาจกินเวลานานหลายนาทีได้เช่นกัน ก่อนการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีพิธีการขั้นตอนที่ซับซ้อน เป็นที่ทราบกันดีว่านักซูโม่จะต้องมีรอบเอวที่กว้างเนื่องจากมวลกายมักจะเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชัยชนะในซูโม่ แต่ด้วยเทคนิคที่เหมาะสมนักกีฬาตัวเล็กก็สามารถควบคุมและกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่มีขนาดใหญ่กว่ามากได้

 

         การแข่งขันซูโม่จะปล้ำบนเวทีที่มีวงแหวน (Dohyo) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.55 เมตร (14.9 ฟุต)และมีพื้นที่ขนาด 16.26 ตารางเมตร (175.0 ตารางฟุต) โดยเป็นสนามแข่งที่ทำจากดินเหนียวผสมทรายและฟางข้าว สนามแข่งจะถูกสร้างขึ้นสำหรับการแข่งขันแต่ละรายการ ตรงกลางวงแหวนจะมีเส้นสีขาว 2 เส้นไว้สำหรับนักกีฬาเตรียมพร้อมปล้ำ โดยนักซูโม่จะอยู่หลังเส้นของตนเอง ย่อเข่าและกำหมัดทั้ง 2 ข้างไว้ที่พื้น (ท่าเตรียม) และอาจมีการติดตั้งหลังคาที่คล้ายกับศาลเจ้าชินโตซึ่งจะแขวนไว้เหนือเวที

 

        ซูโม่อาชีพถูกดำเนินการโดยสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น มีสมาชิกที่เรียกว่า Oyakata ซึ่งทุกคนจะเป็นอดีตซูโม่และได้สิทธิในการฝึกอบรมนักซูโม่รุ่นใหม่ นักกีฬาฝึกหัดทุกคนต้องเป็นสมาชิกของค่ายฝึกซูโม่ (Heya) ที่ดำเนินการโดยสมาชิก (Oyakata) ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนการปล้ำซูโม่ ปัจจุบันมีค่ายฝึกอยู่ 47 แห่งรวมนักซูโม่ได้ 660 คน

 

 

       นักซูโม่ทุกคนจะมีชื่อเรียก (Shikona) ที่ใช้ในวงการ ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับชื่อจริงของพวกเขาเลยก็ได้ โดยมากครูฝึกจะเป็นคนตั้งให้ หรืออาจตั้งตามผู้ที่ผลักดันเข้าวงการ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนได้หลายชื่อตลอดระยะเวลาที่ยังอยู่ในอาชีพนี้

 

       ซูโม่อาชีพแบ่งออกเป็น 6 ลำดับขั้น คือ : 1. makuuchi (มีได้ไม่เกิน 42 คน) 2. juryo (มี 28 คน) 3. makushita (มี 120 คน) 4. sandanme (มี 200 คน) 5. jonidan (ประมาณ 185 คน) และ 6. jonokuchi (ประมาณ 40 คน)

 

        นักซูโม่เริ่มต้นอาชีพที่ลำดับต่ำสุด (jonokuch) และค่อยๆ เลื่อนชั้นขึ้นไปตามความสามารถ นักซูโม่ในขั้นที่ 1 และ 2 จะเรียกว่า sekitori ขณะที่นักกีฬาในลำดับขั้นที่ต่ำลงมาจะเรียกว่า rikishi

 

       ซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติญี่ปุ่นที่ผสมเอาเรื่องราวของประเพณีวัฒนธรรมโบราณรวมถึงพิธีกรรมต่างๆของลัทธิชินโตซึ่งเปรียบเสมือนรากเหง้าทางความคิด กระแสชาตินิยมของชาวญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนในประเทศนี้เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ซูโม่จึงถูกมองเป็นดั่งกำแพงต้านศัตรูทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ! อาริงาโตะ โกไซมัส ผู้เขียนขอตัวไปทำงานต่อก่อนนะครับ

 

 

ที่มา :  วารสารเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู วิทยาจารย์ 111 ปี ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2555 

ผู้เขียน :  ช. ใช้