เด็กฝึกงาน : เรื่องของ “ขวัญ”
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-09-07 16:14:02
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
เรื่องของ “ขวัญ”
“ขวัญ” ไม่ใช่ “ของขวัญหรือสิ่งของ” แต่เป็นขวัญที่เกี่ยวข้องไปกับความเชื่อทางพิธีกรรมและประเพณี เพื่อให้การเรียนรู้ในเรื่องนี้ง่ายขึ้น เพียว-วริษา ภูมิภูเขียว, ขิม-ณัฐณิชา จำปาอ่อน และ สปาย-ศุภกร ชวาลกิจ จากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงผลิตสื่อการสอนเรื่อง “ขวัญ” ขึ้น และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ ประเภท e-learning ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2554 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
ขวัญเอยขวัญมา ขวัญคืออะไร
“ขวัญมีหลายความหมายค่ะ ทั้งจอมขวัญ และขวัญที่เหมือนกับการเรียกขวัญ ความหมายของขวัญอาจแยกเป็นภาษา และประเพณีที่เกี่ยวกับขวัญ จึงนับเป็นมรดก ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมค่ะ” “เพียว” เริ่มต้นเรื่อง
ความเชื่อในแต่ละที่ก็แตกต่างกันไปรวมไปถึงความเชื่อในเรื่องขวัญ “สปาย” เสริมว่า “ขวัญเป็นความเชื่อที่มีอยู่ทุกท้องถิ่นครับ แต่ขวัญในแต่ละภาคไม่เหมือนกัน คือมีที่มาเหมือนกันแต่การนำไปใช้ต่างกัน การนำมาใช้จะปรากฏในรูปแบบประเพณีประจำท้องถิ่น ทางด้านภาษา ทางวัฒนธรรม มีรำเชิญพระขวัญ มีรำบายศรี ก็จะเกี่ยวกับนาฏศิลป์ครับ ส่วนภาคกลางก็จะเน้นไปทางเกษตรกรรม ขวัญข้าว แรกนาขวัญ ภาคเหนือก็มีพิธีฮ้องขวัญ (ฮ้อง=ร้อง, เรียก) ภาคอีสานเรียกว่าเป็นการส่อนขวัญ ทำนองเดียวกับการเรียกขวัญกลับมา ในส่วนพิธีกรรม ภาคเหนือมีเครื่องบายศรี แต่ภาคอีสานจะมีสวิงเอาไว้ส่อนหรือเอาไว้ช้อนขวัญกลับมา”
จากหนังสือสู่สื่อดิจิทัล
สื่อการสอนเรื่อง “ขวัญ” รวบรวมทุกตัวอักษร ทุกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องมาจับใส่ใน e-learning แล้วจัดระบบ พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังนักเรียน ในส่วนของเนื้อหา “ขิม” อธิบายว่า “จะแยกเนื้อหาออกเป็นภาคต่างๆ และวัฒนธรรม เนื้อหาประกอบด้วยภาพและวิดีโอเพื่อให้เห็นความหมายชัดขึ้นค่ะ เมื่อดูเสร็จแล้วจะมีแบบฝึกหัดให้ทำ เป็นสื่อการสอนที่เหมาะสำหรับช่วงชั้น ม.ปลาย”
นอกจากเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่สปายอยากบอกคือ “ความแหวกแนว” “คือของทีมสื่ออื่นเขาจะเน้นไปที่สีสันสดใสเอาใจเด็ก มีภาพการ์ตูนดุ๊กดิ๊กๆ แต่ของเราออกแนวมืดๆ ขลังๆ ดูน่ากลัว หลอนๆ นิดหนึ่ง ด้วยความที่เรื่องราวมันเป็นนามธรรมเลยต้องนำเสนอให้ดูน่าค้นหาด้วยครับ”
ครูดิจิทัล
ได้รางวัล ได้ความภูมิใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือผลงาน “ขวัญ” ได้เป็นหนึ่งในผลงานที่จะถูกเผยแพร่ไปยังโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ในความดูแลของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย สปายเปิดเผยว่า “รู้สึกดีใจและภูมิใจครับ มีประเด็นที่ห่วงนิดหน่อยคือ ผลงานของเราเหมาะสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ม.ปลายขึ้นไป กลัวเด็กๆ ดูไม่รู้เรื่อง อีกอย่างหนึ่งคือถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์เขาจะไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้”
เพียวเสริมต่ออีกว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้นักเรียนที่ด้อยโอกาสได้เรียนรู้ มันเป็นเนื้อหาที่ไม่ค่อยมีในหนังสือเรียน ทำให้ได้ความรู้มากขึ้นค่ะ”
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 15 เดือนมีนาคม 2555