เด็กฝึกงาน : เจาะโปรแกรมพิชิตคอมพิวเตอร์โอลิมปิก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-09-07 13:59:20
เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก ภาพ: สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เจาะโปรแกรมพิชิตคอมพิวเตอร์โอลิมปิก
“เด็กไทยพิชิตชัย 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง คอมพิวเตอร์โอลิมปิกโลก” พาดหัวข่าวที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวไทย ในฐานะผู้ชนะการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 (International Olympiad in Informatics) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เบื้องหลังของความสำเร็จจะเป็นอย่างไรนั้น ขอยกให้แชมป์ตัวจริงมาบอกเล่า ได้แก่ สวิส-สรวิทย์ สุริยกาญจน์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม ผู้พิชิตเหรียญทอง และ พน-ลภนชัย จิรชูพันธ์ จากรั้วเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของเหรียญทองแดง
จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
สวิสกับพน สองหนุ่มต่างสถาบันต่างจุดเริ่มต้นแต่มีความชอบในด้านคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ช่วยกันเล่าถึงที่มาของการเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้ เริ่มต้นจากสวิส “ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการผลักดันสนับสนุนให้นักเรียนเข้าโครงการ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ผมเลือกสาขาคอมพิวเตอร์เพราะคิดว่าตัวเองเหมาะกับด้านนี้ อยากเขียนโปรแกรมเป็นครับ อยากลองด้วยเพราะยังไม่เคยเขียนโปรแกรมจริงจัง”
ขณะที่พนก็มี “แบ็คอัพ” ที่ดีจากโรงเรียนเช่นกัน “ตั้งแต่แรกเลยผมเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการของ สอวน. (มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ก่อนครับ ผมเริ่มรู้สึกชอบคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นก็เลยลองเข้าโครงการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน พอมีอาจารย์แนะนำก็ทำให้รู้ว่าเราชอบในด้านการเขียนโปรแกรม หลังจากนั้นผมก็เลยเข้าค่าย สสวท. คอมพิวเตอร์ จนได้มาเป็นตัวแทนประเทศไทยครับ”
ช่วงเวลาสำคัญ
การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกจะมีคำถามสามข้อให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนแก้โจทย์ภายในเวลา 5 ชั่วโมง คำถามส่วนใหญ่ต้องอาศัยการเขียนโปรแกรมแก้ปัญหาโดยใช้ภาษา C, C++ หรือ Pascal ส่วนวันถัดมาจะให้ทำการรัน (run) ข้อมูลที่ให้มา (secret test data) โดยจำกัดเวลาและหน่วยความจำในการรัน
ช่วงเวลาลงสนามจริงนี่เองที่ท้าทายทักษะของพนไม่น้อย “ตอนก่อนแข่งจะมีค่ายอบรมติวเข้มมาตลอด เราจะมีเครื่องมือ วิธีการทุกอย่างแล้ว สิ่งที่ขาดอย่างเดียวก็คือประสบการณ์ เพราะว่าโจทย์แต่ละข้อจะใช้เครื่องมือเหมือนกันครับ แต่ว่าเราต้องพลิกแพลงให้มันสุดๆ ไปเลย ต้องทำโจทย์เยอะๆ ตอนแข่งก็รู้สึกตื่นเต้นครับ นี่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายด้วย แต่ผมไม่ค่อยกดดันเพราะว่าทุกคนบอกว่าอย่างไรก็ทำให้เต็มที่ ทำสุดความสามารถอยู่แล้ว”
มากกว่าเหรียญรางวัล
นอกจากเหรียญรางวัลและความภาคภูมิใจแล้ว น้องๆ ยังได้รับคุณค่าอื่นๆ กลับมาด้วย สวิสบอกว่า “ได้เจอเพื่อนต่างชาติจากการแข่งขันและก็ได้ประสบการณ์ในการแข่งขันครับ” พนเสริมต่อว่า “หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าการที่เราเข้าโครงการนี้ แต่ละคนจะแข่งขันกันสูง อาจจะเห็นแก่ตัวบ้าง แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลยครับ เพราะว่าพวกเราช่วยเหลือกันมาก มีรุ่นพี่หลายๆ คนที่คอยให้คำแนะนำตลอดเวลา ผมบอกได้เลยว่าการที่ผมได้มายืนที่จุดนี้ต้องขอบคุณคนเหล่านั้นครับ และจากการแข่งขันที่ผ่านมาทำให้เราได้รู้จักกลุ่มคนที่มีความสนใจในด้านเดียวกัน ทำให้เราได้คุยได้แลกเปลี่ยนความรู้ และที่สำคัญก็คือได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหลายๆ อย่างด้วยครับ”
เคล็ด(ไม่)ลับการเรียนของแชมป์คอมพิวเตอร์โอลิมปิก |
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 9 เดือนกันยายน 2554