เรือยาว มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-06-27 17:22:20
นำเสนอโดย “ขวัญทอง สอนศิริ” (ขุนโจ้)
เรือยาว กีฬา ชาวบ้าน
มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ
๑. สายน้ำ กับ ชีวิต
“ คนไทย “มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับ“ สายน้ำ “และ“ ธรรมชาติ “การสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างชุมชน แต่โบราณกาลจะเลือกทำเลที่มี แม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำเป็นสำคัญเพื่อใช้ ในการอุปโภค บริโภค การสัญจร และ การเกษตรกรรมยังชีพแห่งชีวิต และชุมชน “ สายน้ำ “ จึงเปรียบเสมือน “ สายโลหิตของชีวิตคนไทย “ มาแต่ อดีต จวบจนปัจจุบัน ยัน อนาคต เพราะ น้ำ คือ ชีวิต “ น้ำ “ ยังนำมาซึ่ง “ คติธรรม “ ในการดำเนินชีวิตของชาวไทย ให้เข้าใจถึง สัจธรรม ใน ธรรมชาติของชีวิต กล่าวคือ
“ น้ำ “ มีลักษณะ “ ชุ่มเย็น “ ผู้ใดได้ดื่ม ได้อาบแล้วชุ่มเย็น ชุมชื่นใจ เปรียบเหมือน “ ความเมตตา “ คือ ความรักความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ตรงข้ามกับ ความเร่าร้อน อันหมายถึง ความโกรธ หรือ โทสะ เปรียบเหมือน ไฟ เผาจิตใจให้ร้อนลน
“ น้ำ “ มีลักษณะ “ รวมตัวกันเป็นนิจ “ ผสมผสานกันได้สนิท มนุษย์ เป็น สัตว์สังคม จะอยู่โดยลำพังคนเดียวมิได้ ต้องดำรงอยู่ร่วมกันเป็น หมู่คณะ จึงต้องมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันและกัน ต้อง รู้รักสามัคคี มี กัลยาณมิตตตา และคำนึงเสมอว่า “ รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย รวมกันแล้วไม่ทำอะไร ก็ไปตายเสียดีกว่าอยู่ ” “ น้ำ “ มีลักษณะ “ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี “ หมายถึง สมานัตตตา คือ บุคคลพึงวางตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัว หลงตน โบราณาจารย์ กล่าวไว้ว่า “ นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย ” เป็นคติให้คนในสังคม พึงเข้าใจกัน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดุจน้ำปรับตัวเข้ากับภาชนะได้ทุกสภาพการณ์ “ น้ำ “ มีลักษณะ “ เที่ยงตรง “ แม้แต่ช่างสร้างบ้านยังอาศัย “ น้ำ “ เป็นระดับวัดความตรงของส่วนประกอบ ต่างๆ เปรียบเหมือนการ ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงาม ต้องมี “ สัจจะ “ คือ “จริง ตรง แท้ “ ใน “ ภารกิจ หน้าที่ “ นั้นเอง หน้านอก บอก ความงาม หน้าใน บอก ความดี หน้าที่ บอก ความสามารถ ความรับผิดชอบ ของบุคคล
๒. เรือ กับ วิถีชีวิตไทย
“ แม่น้ำ “ ลำคลอง เป็น “ เส้นทางสำคัญในการสัญจร ” ติดต่อไปมาค้าขายซึ่งกันและกันของมนุษย์ ซึ่งมี วิถีชีวิตที่ผูกพันธ์อยู่กับสายน้ำ มาแต่ บรรพกาล “ เรือ “ จึงเป็น “ พาหนะสำคัญในวิถีชีวิตของชาวไทย “ ที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนแต่บรรพกาล ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสัญจรติดต่อกัน ระหว่าง บ้าน และ ชุมชน อาทิเรือโกลน ที่ขุดจากไม้เพื่อใช้งานขนาดเล็ก หรือเรียกว่า เรือมาด และเป็นต้นแบบของเรือที่ทำด้วยการขุดในภายหลัง อาทิ เรือหมู เรือพายม้า เรือกราบ เรือยาว เป็นต้น ภายหลังได้มีการประดิษฐ์ เรือต่อ ( ต่อขึ้นจากไม้กระดานหลายแผ่น ประกอบกันเข้าเป็นรูปทรงเรือ คล้ายเรือขุด ได้แบบอย่างมาจากจีนเรือเล็กๆที่ใช้ไปมาระหว่างเรือสำเภากับฝั่ง เรียกว่า เรือซำปัง ซึ่งเล็กและเบาเป็นที่นิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๒ ) และวิวัฒนาการมาเป็นเรือต่ออีกหลายชนิด คือ เรือสัมปั้น เรืออีแปะ เรือป๊าบ เรือเข็ม เรือตะเข้ เป็นต้น “ เรือ “ เป็น “พาหนะ “ ที่มีคุณสมบัติลอยอยู่ได้เหนือผิวน้ำ ที่มีบทบาทสำคัญมาแต่ อดีต จวบจน ปัจจุบัน ทั้งใน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การคมนาคม - ขนส่ง การสงคราม มาแต่อดีต ตลอดจนก่อให้เกิด วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำ ในฤดูกาลต่างๆ ของ สยามประเทศ มาจนทุกวันนี้
๓. บุญแข่งเรือ
ด้วย “ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ” ซึ่งเป็น ศาสนาประจำชาติ เป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม และ วิถีชีวิตอันดีงาม ของชาวไทยในฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูกปักดำทำนาใน เทศกาลงานบุญประเพณี บุญผ้าป่าบุญออกพรรษา - เทโวโรหณะ งานบุญชักพระ –ลากพระ งานบุญกฐิน งานบุญปิดทองไหว้พระ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสำคัญของอารามต่างๆที่ตั้งอยู่ริมน้ำเป็นต้น ด้วย “ นิสัยรักสนุก “ อันเป็น “ เอกลักษณ์ ประจำชาติไทย ” ก่อให้เกิด“การละเล่นทางน้ำ “ อาทิ การเล่นเพลงเรือ , การแห่เรือ ในขบวนพยุหยาตราชลมารค ในการพระราชพิธีต่าง ๆ และ “ การแข่งขันเรือยาวประเพณี “ ขึ้นซึ่งเป็น
“ กีฬาชาวบ้าน “ ใน ชุมชนชนบทไทย อันเป็น “หัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติ “ ขึ้นทุกลุ่มน้ำอันเป็น มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำสยามประเทศ มาจนทุกวันนี้ การนำ เรือ มาใช้เป็น กีฬาแข่งขัน อันก่อให้ความสามคคี นั้น ถือเป็น ประเพณี อันดีงามที่ ผูกพันธ์ อยู่กับ สายน้ำมาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยมีการแข่งขันเรือ หลวงพระที่นั่ง ในห้วงเดือน ๑๑ ของทุกปี เพื่อเป็น การเลี่ยงทาย ความเจริญ และ ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง แต่ ยังวางใจไม่ได้ว่าธรรมชาติจะ อำนวยให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงต้องมี พิธีเสียงทายเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ในพระราชพิธี อย่างหนึ่ง ฃองพราหมณ์ ในเดือน ๑๑ เรียกว่าพระราชพิธีอาสยุช (อาสยุช แปลว่า เดือนสิบเอ็ด ) มีมานานเมื่อ มีราชสำนักในสุวรรณภูมิ ยกพิธีพราหมณ์ จากชมพูทวีปเข้ามาผสมเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ปรากฏมีใน กฎมณเฑียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ว่า “.... เดือน ๑๑ การอาสยุชพิทธี มีหมุงครุ่มซ้ายขวา ระบำหรทึกอินทรเภรีดนตรี เช้าธรงพระมหามงกุฏราชาประโภก กลางวันธรงพระสรรณมาลา เอย็นธรงพระมาลาสุกหร่ำสภักชมภู สมเดจ์พระอรรคมเหษี พระภรรยาธรงพระสุวรรณมาลา นุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรครชายาธรง พระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธงเสื้อ ลูกหลานเธอ ธรงศิริเพศมวยธรงเสื้อ พระสนม ใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้นสรมุก เรือสมเดจ็พระอรรคมเหษี สมรรถไชยไกรสรมุก นั้นเปนเรือเสี่ยงทายถ้าสรรถไชยแพ้ ใซ้เข้าเหลือ เกลืออิ่ม ศุกขเกษม เปรมประชา ถ้าสมรรถไชย ชำนะ ไซ้จะมียุบ ...” ข้อความใน กฏมณเทียรบาล สรุปว่า สมรรถไชย เป็น เรือพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนไกรสรมุกข์ เป็น เรือพระอัครมเหสี เรือทั้งสองลำเป็นเรือเสี่ยงทาย ให้ฝีพายแข่งกัน มีคำทำนายเป็นจารีตที่รู้กันก่อนแล้วว่า ถ้า เรือสมรรถไชยพ่ายแพ้ บ้านเมืองจะเป็นสุขเกษม มี ข้าวเหลือ เกลืออิ่ม แต่ตรงข้ามถ้า เรือสมรรถไชยชนะ บ้านเมืองจะมียุค หมายความว่า เกิดยากแค้น แสนสาหัส ข้าวไม่เหลือเกลือไม่อิ่ม อดยากปากแห้ง เป็น กลียุค ใน เดือน ๑๑ ช่วงเวลาปลายพรรษา ยังมีฝนตกมากจนน้ำนองหลากทั่วไป รวงข้าวที่ผลิใหม่เมื่อเดือนก่อนเริ่มเปลี่ยนสีจากเหลืองอ่อน ๆ เป็นเหลืองเข้มและเมล็ดอวบอ้วน อุดมสมบูรณ์ แต่ยังวางใจธรรมชาติจะเอื้ออำนวยผลให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงต้องมีวิธีช่วยกันคะแน ทำนายทายทัก พิธีเสี่ยงทาย อาสยุชพิธี เตรียมรับสถานการณ์ จึงกลายเป็น ประเพณีหลวงของราชสำนักที่พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปเป็นประธานในพิธีเพื่อบันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่อาณาจักรและ ราษฏร์ แต่ การแข่งขันเรือยาวของ ราษฏร์ตามชุมชนคุ้งน้ำต่าง ๆ เป็น ประเพณี พิธีกรรม และความสนุกสนามรื่นเริงในเทศกาลงานบุญประเพณีของชุมชน แล้วค่อยๆพัฒนาไปจาก การละเล่น ประเพณีแต่อดีต ไปสู่ การกีฬา และ การท่องเที่ยว ที่เชิดหน้าชูของประเทศที่ แสดงออกถึง ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บน สาย มหานทีแห่งความรัก
เดือน11 แข่งเรือ เดือน ๑๒ ลดชุดลอยโคม เดือนอ้าย ไล่เรือ พิธีแข่งเรือเสียงทาย และ เรือยาวประเพณี เป็น วิวัฒนาการจาก วิถีชีวิตที่ผูกพันธุ์กับ สายน้ำ ศาสนา การยังชีพ และ ธรรมชาติ ที่ต่อเนื่องกันในห้วงเวลาดังกล่าว ดังโบราณกล่าวว่า เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสืบสอง น้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็ (จะ )หรี่ไหลลง ปรากฏใน กฏมณเฑียรบาล เรื่องพระราชพิธีสืบสองเดือน ว่า เดือน ๑๑ อาสยุส แข่งเรือ เดือน๑๒ พิทธีจรองเปรียงลด ชุดลอยโคม เดือน ๑ ไล่เรือ เถลึงพิทธีตรียำพวาย
ใน ทวาทศมาสโคลงดั้น แต่งในยุคไล่เลี่ยกับ กฎมณเฑียรบาล พรรณนา อาสุยุชพิธีไว้ว่า “.. นาเวศประภาไว ขับแข่ง กันนา .. ..” ฝีพายล้วนเป็นพวกไพร่ “ หมึกสักหลัง ” เพราะไม่ใส่เสื้อ
สรมุขไมยมาศแต็ม ตรูตรัส
ศรีสรรถไชยตรู เตรียบฟ้า
พายคำจำรัสแครง ใสส่อง
หมึกสักหลังรั้งหน้า ฮึดฮือฯ
พิธีแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทาย อาสยุชพิธี ยังคงสืบเนื่องมาจนถึง ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏบทพรรณนาไว้ใน กาพย์ห่อโคลง นิราศธารโศก พระนิพนธ์ใน เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ( กุ้ง ) ว่า
เดือนสืบเอ็ดเบ็ดเสร็จสำแดง เรือกิ่งแข่งตามพิธี
พายงามตามชลธี พี่แลเจ้าเปล่าเปนดายฯ
อาสุชดลมาสแคว้น กรุงไกร
เรือกิ่งกระพรหมไชย ชื่นสู้
กิ่งไกรสรจักรไคล เทียบท่า
ทองอร่ามงามแข่งขู้ พี่นี้คนเดียว ฯ
ประเพณีแข่งเรือเสี่ยงทาย ค่อย ๆ คลายความเชื่อเรื่องเสียงทาย ลงไปเรื่อย ๆ แล้วปรับเปลี่ยนไป สู่ บูญประเพณี เดือน ๑๑ คือ บุญกฐิน นิยมแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนานมีการพนันขันต่อ กันบ้าง ดังปรากฏใน บันทึกของชาวยุโรป ลาลูแบร์ ใน แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่า
“ .. พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงเรือพระที่นั่งกิ่งลำหนึ่งแข่งเรือกัน แล้วโปรดให้เสนาอำมาตย์
ทั้งหลายแข่งเรือกันโดยลำดับ พระราชพิธีนี้ทำกันเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ จนแรม ๑ ค่ำ รวม ๓วัน ..”
และ ปรากฏชัดในสมัย รัตนโกสินทร์ ดังมีใน นิราศเดือน ของ กรมหมื่นพรหมสมพัดสร ( เสมียนมี )
กวีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ พรรณนา งานกฐิน มีการแข่งเรือ กีฬาชาวบ้าน เข้าไว้ ความตอนหนึ่งว่า
“.. เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระพรรษา ชาวพาราเซ็งแซ่แห่กฐิน ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน
กระแสสินธ์สาดปรายกระจายฝอง สนุกสนานขานยาวฉาวสนั่น บ้างแข่งขันต่อสู้กันเป็นคู่สอง
แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง ตามทำนองเล่นกฐินทุกปี .. ”
หลักฐานเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏ ภาพแข่งเรือยาว และของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆบริเวณ สองฝั่งแม่น้ำโขง ( ลายเส้น ฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ประมาณ ค.ศ. ๑๘๗๓ ) ปรากฎ ภาพ ฝีพายเรือชาวสยาม และ บันทึก จาก จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ความตอนหนึ่งว่า .“ .. ชาวสยามเลือกเรือยาว 2 ลำมาเปรียบส่วนสัดให้ เท่ากันทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ แล้วก็แบ่งเป็นสองพวกเพื่อพนันขันต่อกันครั้นแล้วคณะ กรรมการก็ลุกขึ้นยืนทำจังหวะเร่งเร้าส่งเสียงร้อง หนุนและโยกไหวไปทั้งเนื้อตัว…พวกฝีพายก็ปลุกใจ ตัวเองด้วยการส่งเสียงร้อยอย่างน่าเกรงขาม...” ขบวนเรือ ที่ใช้ ฝีพายอันพร้อมเพรียงสวยงามนั้นมักเป็น เรือพระราชพิธี และ เรือที่ใช้ในกองทัพยามศึกสงคราม แม้ยามบ้านเมืองสงบ กองทัพก็ จะยังดูแลเรือและฝึกซ้อมฝีพายไว้ให้เข้มแข็ง แกร่งกล้า พร้อมเพรียงอดทนคล่องเแคล้วเชี่ยวชาญชำนาญในการนำเรือ ไปสู่จุดหมายอย่างรวดเร็วฉับไว การฝึกซ้อมฝีพายของทหารไทยแต่อดีต น่าจะสร้างความฮึกเหิมให้กับราษฏร์เป็นอย่างยิ่ง สันนิษฐานว่า …. ชาวบ้าน..น่าจะนำรูปแบบการฝึกซ้อม ของฝีพายทหาร ไปประยุตใช้ในการฝึกซ้อมฝีพาย และ แข่งขันเรือยาวประเพณี ใน เทศกาลงานบุญประเพณี เว้นว่าง จากการเพาะปลูกการยังชีพ ในฤดูกาลน้ำหลาก จนแพร่หลายไปทั่ว
๔. เรือยาว จาก ” ขุนเขา” สู่ “ สายน้ำ “ สยามประเทศ
“ เรือยาว “ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ต้นเดียวตลอดทั้งลำ มีลักษณะรูปท้องขัน (แบน) และ ท้องรูปกะทะ ไม้ที่นำมาขุดเรือยาว หรือ เรือแข่งได้แก่ “ ไม้ตะเคียน ไม้สำโรง ไม้มะหาด “ เป็นต้น ส่วนใหญ่นิยม เรือขุดจากไม้ตะเคียน
“ ต้นตะเคียน “เป็นต้นไม้ที่มีกำหนดจากขุนเขาในเขตป่าดิบชื้น และป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นได้ดีบนที่ราบ หรือ ค่อนข้างราบใกล้ริมน้ำ
“ ไม้ตะเคียน “ แต่โบราณนิยมนำมาขุดเรือยาว เนื่องจาก เป็นไม้เนื้อแข็ง มีเนื้อที่เหนียว ลอยน้ำและพุ่งน้ำได้ดี มีน้ำหนักพอประมาณ น้ำหนักพอประมาณ (ไม่เบาและหนักเกินไป ) ลอยน้ำและพุ่งน้ำได้ดี ไม่ผุง่าย ถ้าดูแลดี มีอายุการใช้งานนับร้อยปี
แต่โบราณเชื่อกันว่ามี “ นางไม้ ” “ หรือ “ นางตะเคียน ” สิงอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้ เป็น“ แม่ย่านางเรือ “ เชื่อกันว่า จะนำชัยชนะ และ ความสำเร็จมาให้ชาวบ้านมักเลือก ต้นตะเคียนอยู่ริมห้วย ต้นที่ มีเงาทอดลงไปในน้ำ หรือ รากแช่น้ำ เป็น ไม้ที่นางไม้มีอิทธิฤทธิกล้าแข็งเป็นยิ่งนัก
๕. ประเภทของไม้ตะเคียน
จำแนกได้ ๔ ประเภท คือ
๑ . ไม้ตะเคียนทอง
๒. ไม้ตะเคียนหิน
๓. ไม้ตะเคียนหนู
๔. ไม้ตะเคียนหยวก
ส่วนใหญ่ นิยมใช้ “ ไม้ตะเคียนทอง “ ขุดเรือ เพราะเชื่อกันว่ามี นางไม้ ที่มีวิญญาณที่แกร่งกล้า (เฮี้ยนมาก) สถิตย์อยู่ ประกอบกับ เนื้อไม้ออกสีเหลือง เมื่อขุดเป็นเรือเสร็จ สีผิวไม้ของตัวเรือจะดูสวยงาม เป็นยิ่งนัก
๖. ลักษณะของไม้ตะเคียนที่ดี
เป็น ไม้ตรง ไม่มีปุ่ม และ ไส้ไม่กลวง พึงสังเกตุลักษณะของ ใบเขียวต้องเป็นมันขอบใบไม่ไหม้เกรียม ใบไม่เหลือง ผิวเปลือกอิ่มเป็นมัน ไม่แตกระแหงเป็นสะเก็ด โคนต้นไม่มีเห็ดราขึ้น ไม่มีแมลงบินเข้าออกจากลำต้น หรือ มีปลวกขึ้นต้น จึงเป็น “ ไม้ตะเคียนที่มีลักษณะงาม ตามตำราขุดเรือแต่โบราณาจารย์ “ และต้องมี ขนาด และ ความยาว ของไม้ที่เหมาะสม และคำนึงถึง การโค่น ด้วยว่า สามารถโค่นได้ หรือ ไม่ ทิศทางในการล้มของไม้ที่โค่น ถ้าไม้ที่โค่น ล้มฟาดระหว่างขอบห้วย หรือ ลานหิน ไม้อาจหัก หรือ ไส้ไม้ช้ำน่วม เกิดเสียหายได้
๗. ภูมิปัญญา ในการคำนวญความสูงของต้นตะเคียน
เมื่อพบ ต้นตะเคียนที่มีลักษณะถูกต้องตามตำรา แล้ว จะอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่โบราณ ในการคำนวณความสูง (ยาว) ของต้นไม้แต่โบราณ ใช้วิธีการยืนหันหลังให้ต้นตะเคียนแล้วก้มลงมองลอดหว่างขา ศีรษะก้มอยู่ระดับเข่า ถ้ามองเห็นยอดตะเคียนพอดี ก็วัดจากจุดยืนถึงโคนต้น จะได้ความสูงของต้นตะเคียน พอดี ตามหลักตรีโกณมิติทางคณิตศาสตร์ หรือใช้วิธีลูกเสือ เข้าช่วย คือ ใช้ขวานบากจุดที่จะตัดไม้ แล้วใช้ไม้ยาว 1 วา วางทาบติดลำต้น ให้โคมไม้วางที่จุดบาก แล้วบากต้นไม้ตรงปลายไม้วา แล้วถอยมายืนให้ห่างจากลำต้นคาดคะแนความสูงของต้นไม้ 1 วา ว่าระยะเท่าไร จึงคาดคะแนไปเรื่อยๆ เป็นระยะๆ ที่ละ 1 วา ก็จะได้ความสูงของต้นไม้ ซึ่งวิธีนี้อาจผิดพลาดได้ไม่เกิน 1 วา บางครั้ง ก็นิยมใช้คนปีนขึ้นต้นไม้แล้วใช้เชือกวัด หรือ ใช่เชือกผูกติดกับหน้าไม้แล้วยิงไปที่ส่วนปลายยอดไม้ แล้วจึงวัดคำนวณความสูงจากเชือกที่ติดไป ภายหลังประมาณปี พ.ศ ๒๕๒๙ ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ฯ ( วัดใหญ่ ) พิษณุโลก ได้ใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ด้วยวิธีการปล่อย ลูกโป่งอัดลมลอยถึงกิ่งยอดตะเคียน แล้วจึงดึงลงมาวัดหาความยาวของต้นไม้ เป็นต้น
๘ . ขนาด และ ความยาว ( สูง ) ของไม้ตะเคียน
ไม้ตะเคียนที่ดี ควรมีขนาดของลำต้น วัดส่วนโคนขนาดประมาณ ๓.๕ เมตรวัดรอบปลายลำต้นขนาดประมาณ ๒.๕ เมตร เป็นขนาดที่เหมาะที่สุดในการขุดเรือ และมี สัดส่วน ของ ความยาว ( สูง ) ดังนี้
เรือยาวใหญ่ จะต้องมี ความยาว ประมาณ ๑๓-๑๕ วา
เรือยาวกลาง จะต้องมี ความยาว ประมาณ ๑๑-๑๒ วา
เรือยาวเล็ก จะต้องมี ความยาว ประมาณ ๑๐ วา
เรือยาวจิ๋ว จะต้องมี ความยาว ประมาณ ๗ วา
หมายเหตุ เรือจิ๋ว (12 ฝีพาย) นิยมใช้ ไม้งิ้ว หรือ ไม้กระปุง ขุด เพราะ มีน้ำหนักเนื้อเบาและอายุการใช้งานยาวนานกว่า
๙. การโค่นต้นตะเคียน
“ ต้นตะเคียน” เชื่อกันว่ามี “ นางไม้ “ หรือ “ นางตะเคียน “ สิงอยู่ ก่อนโค่นต้องตั้ง ศาลเพียงตา ๒ ศาล พร้อมเครื่องสังเวย อาทิ หัวหมู ไก่ ไข่ต้ม ขนมต้มแดง - ขาว เหล้าขาว หมากพลู–บุหรี่ บายศรี ๒ ที่ เพื่อ ขอขมาบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำการตัดโค่นต้นไม้ในป่า ซึ่งนิยมเซ่นไหว้ได้แต่เช้าจรดเย็น ยกเว้นวันพระ ไม่นิยมประกอบพิธี ศาลที่ ๒ บอกกล่าว “ นางตะเคียน ” โดยงดเว้นเหล้า – บุหรี่ ควรเพิ่มเครื่องตกแต่ง ผู้หญิง อาทิ หวี แป้ง ผ้าแพร น้ำอบน้ำหอม เป็นต้น ไม่ควรเซ่นไหว้เกินเที่ยงวัน เมื่อพลีกรรมแล้วจึงทำการตัดโค่นโดยผู้เชี่ยวชาญ สมัยโบราณใช้ เลื่อยมือ (เลื่อยอก) ด้วยแรงงานคนในการโค่นแล้วใช้หวายโปงพันลำต้นใช้ช้างชักลากไม้ออกจากป่า ในภายหลังในปัจจุบันใช้เครื่องทุ่นแรง คือ เลื่อยยนต์ ในการตัดโค่น ทำให้ตัดไม้รวดเร็ว แล้วใช้รถยนต์ชักลาก สู่สถานที่ขุดหรือ วัดได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ต้นตะเคียน ที่นำมาขุดเรือ ต้องเป็นไม้ที่ไม่ได้ ตีตราไม้ ตามระเบียบราชการ เชื่อว่า ไม้ต้นใด ตีตราแล้ว นางไม้ หรือ แม่ย่านาง จะสิงสถิตอยู่ไม่ได้
๑๐.ภูมิปัญญาไทย ในการขุดเรือยาว
“ การขุดเรือ” ช่างขุดเรือ ซึ่งเป็น “ ภูมิปัญญาชาวบ้านไทย “ จะพิจารณาดูลักษณะไม้ว่าจะเอาส่วนไหนทำ หัวเรือ หางเรือ และท้องเรือ ซึ่งช่างขุดเรือส่วนใหญ่จะนิยมใช้ โคนต้นไม้เป็นหัวเรือ ใช้ ปลายไม้เป็นท้ายเรือ บางช่างนำไม้ไปลอยน้ำ ด้านใดพลิกขึ้นด้านบนก็ขุดด้านนั้น ด้านตรงข้ามจะเป็นท้องเรือ บางช่างสังเกตุเนื้อไม้และการเหยียดของไม้ ถ้างอนหรือโอนจะขุดด้านนั้น ส่วนตรงข้ามเป็นท้องเรือ( ลักษณะคล้ายกาบมะพร้าว)แต่เดิมช่างขุดเรือในเขตภาคเหนือตอนล่างนิยมขุดเรือรูปทรงแบบงูไซคือ ปล่อง (กว้าง )บริเวณส่วนกลางตัวเรือ ภายหลังนิยม รูปทรงเรือหัวโตท้ายเรียว คล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าจะเปิดน้ำได้ดีทำให้ เรือวิ่ง แต่บางช่างนิยมใช้ ปลายไม้ทำหัว โคนไม้ทำท้ายเรือลักษณะนี้ หัวเรียว ท้ายโต ก่อนขุด จะตั้งศาลเพียงตา อัญเชิญ นางไม้ขึ้นศาลฯ เมื่อขุดเรียบร้อยแล้ว จะเชิญขึ้นเป็น แม่ย่านาง ประจำเรือ โดยมีขั้นตอนการขุดเรือดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑. การขุดโกลนเรือ
ช่างขุดจะเปิดปีกไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วจะตีเส้นหาศูนย์กลางแบ่งไม้เป็นสองซีกเท่าๆกัน พร้อมตีกรอบด้านข้างๆละ ๒ เส้น เรียกว่า “เส้นมาด “ แล้วจึงขุดควักเอาเนื้อไม้ออกตามแนวเส้นมาดตลอดลำ ด้วยขวานโยน ขวานลาง และเลื่อยยนต์ ให้มีลักษณะเป็น ร่อง หรือ รางเหมือนรางใส่อาหารหมู กว้างประมาณ ๖๐ ซม.แล้วจึงคว่ำเริ่ม ปอกเปลือกไม้เหลาตัวเรือ ด้านนอกให้ได้รูปทรงเรือ แล้วจึงเริ่ม สางในตัวเรือให้มีความหนาเท่ากัน โดยยึดของขนาดความยาว ลูกประสักป่า หรือ ทางมะพร้าว ที่ใช้สว่างเจาะรูให้ทะลุตามแนวขวางแล้วตอกลูกประสัก แถวละ ๙ รู เป็นเครื่องกำหนดความหนาของตัวเรือ ด้วย ละแมะ พร้อม วางรูปกระดูกงู เป็นรูปหน้าตัดสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ที่ท้องเรือส่วนกลางด้านในไปตามแนวหัวท้ายของความยาวตั้งแต่กระทงที่ ๓ ไปถึงสุดราวชับ (แอน) ทำ หน้าที่คล้ายกระดูกสันหลังของเรือ ตามขนาด ที่ต้องการ
ขั้นตอนที่ ๒. การเบิกเรือ
เบิกเรือ คือการถ่างเรือที่ทำเป็นรูปร่างแล้วให้ผายออกโดยวิธีสุมไฟให้ร้อน เมื่อได้รูปทรงเรือทั้งด้านใน ด้านนอก ตามที่ต้องการแล้ว ก็ พลิกคว่ำลง เพื่อ ลนไฟ หรือ ย่างไฟ โดยใช้ขี้เลื่อย หรือเปลือกไม้เป็นเชื้อเพลิง สุมไฟให้ความร้อนเท่าๆกัน ใช้เวลาไฟแรกประมาณ ๑๒ ชั่วโมง เมื่อเนื้อไม้เหลืองได้ที่ดีแล้วก็หงายเรือขึ้นเพื่อ เบิก หรือ ทำการ ถ่างเรือ ให้มีความกว้างตามรูปแบบที่ต้องการด้วย ไม้ปากกา (ลักษณะคล้ายกรรไกร) งัดมาดเรือ (แคมเรือ)ทั้ง ๒ ข้างดีดออก ตลอดลำ ( บางแห่งใช้แม่แรงช่วยค้ำยันใน การถ่างเรือ ) แล้วใช้ไม้ตีค้ำยันกันไว้ไม่ให้หุบเข้ามาอีกทิ้งไว้จน ไม้เย็นลง จึงใช้ ละแมะ ถากสางใน และ คว่ำไสนอกจนมีความหนาเป็นที่พอใจได้รูปทรงที่เรียบร้อย จึงคว่ำลงย่างไฟเพื่อเบิกเรืออีกประมาณ ๔-๕ ไฟ แล้วแต่สภาพเนื้อ และ ขนาดของไม้เล็กหรือใหญ่ จึงจะได้ความกว้างของตัวเรือที่เพียงพอตามสูตรขุดเรือของแต่ละช่าง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้าง จึงถึง ขั้นวางกงเป็นขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ ๓.การวางกงเรือ (โครงเรือ)
“กง“ เป็น ชิ้นไม้ตัดแต่งให้โค้งเข้ากับรูปท้องเรือด้านใน ช่วยเพิ่ม ความแข็งแรง และได้ รูปทรงเรือที่ต้องการ นิยมใช้ ไม้ประดู่ ไม้สัก ไม้ตะเคียน หรือไม้มะขามเทศ ทำกงเรือขนาดหนาประมาณ ๒-๒.๕ นิ้ว กว้างประมาณ ๓ นิ้ว โดยทำการ ติดกงตัวแรก เรียกว่า ” กงครู “หรือ “ กงเอก” คร่อมทับกระดูกงู ใช้สว่านเจาะ กงทะลุตัวเรือ แล้ว ตอกยึดด้วย ลูกประสักไม้ ซึ่งมีความเหนี่ยวและแข็งดี ขยายตัวได้เวลาโดนน้ำจะบวมพองอัดยึดแน่นดีไม่รั่วน้ำและแก้ไขไดง่ายกว่าตะปูซึ่งเป็นสนิม ถอนตัวง่ายทำให้เสียสภาพการยึดตรึง ตอกยึดติดกับเนื้อเรือ ซึ่งนิยมทำจาก ไม้แสมสาร แล้วจึงเริ่ม วางกงตัวที่ ๒ สลับกัน คนละตัวจากทางหัวและท้าย ของตัวเรือ ระยะห่างของ กง ตามสูตรของแต่ละช่างแตกต่างกันไป โดย เรือใหญ่วางกงประมาณ ๓๐-๓๒ ตัว เรือยาวกลาง วางกง ๒๖-๒๘ ตัว เรือเล็กวางกงประมาณ ๒๓ ตัว ลดลงไปตามขนาดของเรือแต่ละประเภท จึงเริ่ม วางกระทงเรือ
๑.เรือภาคใต้ (หางแมงป่อง) นิยมวาง กงลิง (มือลิง) เป็นกงหลอก เพื่อใช้เป็นที่ยันหรือถีบเท้าเวลาออกแรงพายเรือ ส่วน ภาคอีสานแถบลุ่มน้ำโขง เรือหัวแหงม ตัวเรือหนามาก มีขนาดประมาณ ซองบุหรี่ จึงไม่นิยมวางกงเรือ
๒.หากเป็น ไม้ขนาดต้นเล็ก ความสูง ของตัวเรือจะไม่พอ ช่างจะนิยม เสริมมาด ช่วยเพิ่มความสูงของตัวเรือ แต่เดิมเรือที่ช่างบ้านหัวดง พิจิตรขุด จะเป็นเรือเสริมมาด และโขนต่อในตัวทุกลำ รวมทั้งนิยม ปิดทองคำเปลว ที่มาดเรือทั้งสองข้าง เวลาลงนำดูเข้มขลัง สวยงามดี จนเป็นเอกลักษณ์ของเรือพิจิตร ปัจจุบันนิยมเข้าไม้ด้วย กาวอีพอกซี่ สมัยใหม่ แทน ชัน ในการเข้าหรือต่อไม้แต่โบราณซึ่ง วัสดุ อุปกรณ์ในการขุดและซ่อม เรือ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของสังคม แต่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดเวลาในการเข้าไม้ได้ดีเป็นยิ่งนัก ส่งผลให้ช่างเรือในยุคปัจจุบัน สามารถรังสรรค์ พัฒนา รูปทรงเรือยาว ได้ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ ๔. การวางกระทงเรือ
กระทง หรือ ที่สำหรับนั่งพาย นิยมใช้ไม้สัก กว้างประมาณ ๖ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว ยาวเท่ากับความกว้างของตัวเรือ ตามกงเรือแต่ละกงที่วางไว้แล้ว โดยวางไม้กระทงบนหัวกง แล้วเจาะตอกยึด กระทง กับ กง และตัวเรือ ด้วย ลูกประสัก ตลอดลำ มี กระทงเดียว นั่งเดี่ยวทางด้านหัวเรือ ๓-๔ กระทง ท้ายเรือ ๕-๖ กระทง ส่วน กลางลำเรือ จะเป็น กระทงนั่งคู่ และ กระทงผี (ภาคใต้เรียก แอนผี ) คือ กระทงหน้าสุด สำหรับวางเครื่องเซ่นไหว้สังเวยต่างๆ แล้ว จึงติด ไม้แอน หรือ ไม้แอบ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง กว้าง ๒ นิ้วหนา ๓ นิ้ว ยาวขนาดพอๆ กับกระดูกงู ขันด้วยน๊อต ติดใต้กระทงเรือตลอดลำเรือกับกระดูกงู เพื่อใช้ในการตั้ง หรือ ตอกตอม่อ ( ภาคใต้ เรียก ต้ำต้อ ) คือไม้ขนาด ๑.๕ นิ้ว ใช้ค้ำยันบนกระดูกงู กับ ราวชับ ( ไม้แอน ) ในตำแหน่ง ๓ ส่วนหน้า เพื่อช่วยให้เรือแข็ง หรือ อ่อนลื่นไหลมากขึ้นตามที่ต้องการ ในเวลาแข่งขัน ไม้แอน แต่ โบราณทางภาคเหนือ ภาคกลางนิยมใช้ ไม้ไผ่ป่า สาวหวายขันชะเนามัดกลางลำเรือ บนและใต้ที่นั่ง เพื่อ ทำให้เรือแข็งแรง ปัจจุบันใช้ ไม้แอน แทน หรือเรียกว่า ราวชับ
ขั้นตอนที่ ๕. การติดกราบเรือ
เมื่อช่าง เหลา และ ขัดตัวเรือ ทั้งด้านใน และ ด้านนอก ให้ผิวตัวเรือเรียบร้อยดีแล้ว ก็จะหงายตัวเรือขึ้น เพื่อติด กราบเรือ โดยใช้ ไม้ตะเคียน กว้างประมาณ ๖ นิ้ว หนา ๑.๕ นิ้ว ยาวตลอดแนว กระทงเรือตลอดลำ ติดสองข้างบนกระทงเรือ เพื่อช่วยให้ ส่วนบนของตัวเรือแข็งแรง เพิ่มขึ้น และ กันน้ำเข้าเรือเวลาพายเรือ หรือจ้ำเรือ ขณะแข่งขัน รวมทั้งเจาะติดตะขอห่วงเหล็กบริเวณตัวเรือทั้ง ๒ ข้าง เพื่อใช้ หวาย หรือ ลวดสลิง ร้อยดึงสำหรับขัดหวายหรือขันสลิง ช่วยเพิ่มความแข็งแรง หรือ มิให้ตัวเรือแบะออกจนเสียรูปทรง หรือสัดส่วนที่ต้องการได้ทุกกระทงเรือ และเป็นส่วนสำคัญประกอบการตั้งเรือ ให้วิ่ง ( แล่น ) หรือไม่วิ่ง คู่กับการ ตั้งตอม่อเรือ ซึ่งเป็นทั้ง ศาสตร์ และ ศิลป์ ในการเล่นเรือ อีกอย่างหนึ่งด้วย
ขั้นตอนที่ ๖. การติดโขนเรือ
โขนเรือ นิยมใช้ ไม้มงคล อาทิ ไม้ขนุน หรือ ไม้สัก หรือ ไม้กระท้อน,ไม้เนี่ยง ยาวประมาณ เมตร ต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือจริง ๆเพราะต้องเข้ารอยต่อระหว่างโขนเรือกับหัวเรือ (หน้าว่าว)ให้ต่อกันสนิท มี โขนหัว กับ โขนท้าย ที่สำคัญนิยมปัจจุบันทำ โขนแบบถอดได้ ( แต่เดิมเรือ ใน ภาคเหนือ กลาง อีสาน นิยม โขนต่อในตัว ภาคใต้ ลุ่มน้ำหลังสวน นิยม โขนถอด และมีขนาดหน้ากว้างของโขนใหญ่กว่าภาคอื่นๆและไม่นิยมผูกผ้าประดับโขนเนื่องจากใช้สำหรับ ขึ้นโขนชิงธงเพราะสะดวก ในการเคลื่อนย้ายเรือโดยนิยมโดยขุดควักใส้ไม้ออกทำ โขนกลวง เพื่อให้ เบาแล้วปิดด้วยไว้บางๆ บางแห่งนิยมใช้โขนเป็นโครงไม้นิ้ว ตีปิดด้วยไม้จริง ทำให้โขนเบามากขึ้น เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จก็ ขัดแต่งตัวเรือด้วยกระดาษทราย ให้เรียบร้อย ลงชันเรือ แล้วจึง ทาน้ำมัน ด้านนอก ด้านใน ตัวเรือ ชโลมด้วยชัน และ น้ำมันยาง ด้านในตัวเรือ หรือ บางลำอาจจะเขียนลวดลายให้สวยงามติดตามเรือ เช่น เรือภาคใต้ นิยมเขียนตาเรือ ทาสีและวาดลวดลาย และรูปสัตว์ หรือเทพ ที่ส่วนหัวเรือ ส่วนเรือยาวในจังหวัดน่าน นิยมแกะสลักไม้มาสวมต่อที่ปลายสุดของโขนเป็น หัวพญานาคหางหงส์ อันงดงาม จนเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดี่ยวในสยาม เป็นต้น จึงเป็นอันเสร็จกระบวนการขุดเรือ พร้อมที่จะลงน้ำได้ โดยต้องประกอบพิธีในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ ๗. การตั้งชื่อเรือ
มีคติความเชื่อหลากหลายวิธีที่เป็นพื้นฐานในการตั้งชื่อเรือแล้วแต่ความนิยมหรือความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละลำยึดถือ แต่ โบราณนิยมเชิญแม่ย่านางประทับทรง เพื่อขอให้ตั้งชื่อให้ รวมทั้งถามถึงอาหาร เครื่องแต่งกาย และ สีเสื้อ–ผ้าแพรประดับ โขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านาง เพื่อเป็นมงคลแก่ทีมเรือ ให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน ส่วนใหญ่นิยมตั้งชื่อว่า เจ้าแม่ กับ เทพ นำหน้า โดยมีมูลเหตุของที่มาของชื่อเรือ พอประมวลสรุปได้ดังนี้ เหตุที่เรียกว่า“ เจ้าแม่ “เพราะเชื่อว่า แม่ย่านางเรือเป็นผู้หญิง ส่วนที่เรียกว่า“ เทพ “นั้น เพราะถือกันว่านางไม้หรือนางตะเคียน เป็นเทวดาประเภทหนึ่งหรือรุกขเทวดาประจำต้นไม้นั้นเอง
กรุณาดาวน์โหลดเอกสารเพื่ออ่านเนื้อหาฉบับเต็ม
เครดิตภาพประกอบจาก https://wiki.moohin.com/wiki/