บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ตอนที่ 3
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-05-22 16:57:21
สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส พระองค์ที่ 9
ครองสมณศักดิ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2389 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2421สิริพระชนมายุได้ 85 พรรษา
สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียน พระองค์ที่ 3
พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสผู้มากด้วยพระบารมี
ในภาคพื้นทวีปเอเชีย
สมณทูตสยามเยือนกรุงโรม
หลังจากพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์พำนักอยู่ในประเทศสยามมาเป็นระยะเวลา ๒๔ ปี ก็มีธุระให้ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อจัดการเกี่ยวกับอาณาประโยชน์บางประการของคณะมิสซังสยามและเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องไปในคราวเดียวกันนี้ด้วย
ก่อนออกเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์และคณะบาทหลวง รวมถึงหัวหน้าคริสตัง ได้เข้าเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๒ (พ.ศ. ๒๓๙๕) ท่านพระสังฆราชได้รับการเบิกตัวให้เข้าเฝ้าในท้องพระโรง ท่ามกลางหมู่เสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารซึ่งเฝ้าหมอบอยู่เบื้องหน้าที่ประทับ พระองค์ทรงพระดำเนินตรงเข้ามาหาพระสังฆราชปัลเลอ กัวซ์ และทรงยื่นพระหัตถ์ให้สัมผัสอย่างฉันมิตรกับบาทหลวงทุกคน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกบาทหลวงนั่งบนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่รอบโต๊ะ ซึ่งตั้งพานพระศรีและพระโอสถมวนซิการ์ รวมถึงเครื่องชุดชาและกาแฟ แล้วพระองค์พระราชทานเลี้ยงชากาแฟ แล้วตรัสสนทนาเกี่ยวกับเรื่องพระศาสนาด้วยภาษาไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ตามแต่โอกาสจะอำนวยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์กำลังเตรียมตัวจะเดินทางกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และอาจถือโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาที่กรุงโรมด้วย พระองค์ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงความสัมพันธ์ครั้งเก่าก่อนระหว่างกรุงสยามและกรุงโรมเป็นสำคัญ
แต่ด้วยเหตุที่พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ตั้งใจออกเดินทางในวันนั้นเอง จึงกราบบังคมทูลว่า หากพระองค์จะทรงฝากพระราชหัตถเลขาไปถวายแก่สมเด็จพระสันตะปาปาก็ขอให้ทรงกระทำในเวลานี้เลย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระอักษรเป็นภาษาอังกฤษด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง ลงวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ แล้วประทับตราประจำพระองค์ สำหรับเป็นพระราชสาสน์พระราชทานไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส พระองค์ที่ ๙ (Pope Pius IX ครองสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๓๗๔-๘๙) โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งใช้สำหรับเป็นค่าเดินทางแก่ท่านพระสังฆราชด้วย
ในพระราชสาสน์ฉบับที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส พระองค์ที่ ๙ ลงวันพฤหัสบดี เดือนห้า ขึ้น ๙ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๒๓ (พ.ศ. ๒๔๐๔) โดยฝากไปกับคณะทูตของพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ซึ่งเดินทางไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักฝรั่งเศส คณะทูตสยามชุดนี้ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียน พระองค์ที่ ๓ (Emperor Napoleon III ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๓) ณ พระราชวังฤดูร้อนฟองแตนโบล (Fontainebleau) เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๔) แล้วจึงเดินทางต่อไปยังกรุงโรม และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาในต้นเดือนตุลาคม ความตอนหนึ่งกล่าวย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์ทรงมอบหมายให้พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นสมณทูตนำพระราชสาสน์ไปยังกรุงโรมในห้วง ค.ศ. ๑๘๕๒ (พ.ศ. ๒๓๙๕) ความว่า
“...เมื่อกรุงสยาม [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – ผู้เขียน] ยังไม่ได้บรมราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ได้รู้จักรักใคร่ชอบพอคุ้นเคยกับบาทหลวงยวงบาบติศ [พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ –ผู้เขียน] ซึ่งได้ตั้งแต่งมาแต่ซางตูซปาปาเกรกอรีที่ ๑๖ [สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี พระองค์ที่ ๑๖ ครองสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๓๗๔-๘๙) ให้เป็นบิจฉบสำหรับเมืองว่าที่แทนอปอศตอลออยู่ในกรุงเทพมหานครนี้ เพื่อเป็นประธานจะอนุเคราะห์สั่งสอน และทำนุบำรุงศาสนาโรมันกาธอลิกคริสตางในแผ่นดินสยามนี้นั้นมานาน ครั้นเมื่อกรุงสยามได้บรมราชาภิเษกเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ได้ยอมให้บาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบเมืองแมลอศนั้นไปสู่มาหาอยู่เนืองมิได้ขาด ครั้นล่วงมาแต่เวลาที่กรุงสยามได้ตั้งอยู่ในราชสมบัตินั้นได้ปีเศษเป็นปีที่สอง บาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบเมืองแมลอศนั้นเข้ามาลากรุงสยาม ว่าจะไปเยี่ยมเยียนเมืองฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาติภูมิ แล้วว่าถ้าได้ช่องโอกาสจะแวะไปเฝ้าบังคมบาทท่านผู้บิดาบริสุทธิ์ ณ เมืองโรมด้วย กรุงสยามได้ทราบดังนี้ จึงได้รำพึงคิดว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทุกๆ พระองค์สืบมานาน หาได้เป็นศัตรูแก่ศาสนาต่างๆ ของชนที่อยู่ในพระราชอาณาจักรนี้ไม่เลย ถึงศาสนาชนต่างๆ จะถือไม่ถูกต้องกันกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นของดำรงสำหรับพระนครเป็นที่เชื่อของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์นั้นก็ดี ก็ย่อมทำนุบำรุงให้คนทั้งปวงที่เชื่ออยู่ในศาสนานั้นๆ ได้ทำตามความเชื่อและสั่งสอนผู้อื่นไปตามความรู้ว่าโดยวิเศษไม่ได้เป็นศัตรูแก่ศาสนาคริสตางเหมืองอย่างเจ้าแผ่นดินจีน เจ้าแผ่นดินญวนและอื่นๆ กฎหมายอย่างธรรมเนียมดังนี้ กรุงสยามเห็นว่ากฎหมายอันดี เป็นที่เย็นอกของชนในพระราชอาณาจักรทั้งสิ้น เพราะทางความสุขในปรโลกเห็นได้ด้วยยาก การต้องหย่อมให้ชนทั้งปวงแสวงหาทางความสุขในปรโลก ตามความเชื่อของตนคนถึงจะชอบ และกรุงสยามระลึกความตามที่ได้ฟังมาว่า ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ก่อนแต่กรุงสยามบัดนี้ขึ้นไป ๑๐ แผ่นดิน นับกาลมาเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว ซางตูศปาปา ณ เมืองโรม ซึ่งเป็นประธานแก่โลกโรมันกาธอลิกคริสตางในเวลานั้น ได้ถวายสมณสาส์นถวายพระพรเข้ามาว่า ฝากศาสนาโรมันกาธอลิกคริสตางบรรดาอยู่ในพระราชอาณาจักรแผ่นดินสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงรับพระสมณสาส์นฉบับนั้นเป็นพระเกียติยศปรากฏอยู่ครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นกรุงสยามจึงได้ถามหารือบาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบนั้นว่า ถ้าได้ไปเฝ้าบังคมบาทท่านผู้บิดาบริสุทธิ์ให้รู้จักกรุงสยามเหมือนอย่างซางตูศปาปา พร้อมเวลาแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้รู้จักพระเดชพระคุณ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชในครั้งนั้น จะได้หรือมิได้ บาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบรับว่าได้ แล้วว่าถ้ากรุงสยามจะให้รับราหัตถเลขาของกรุงสยามไปถึงท่านผู้บิดาบริสุทธิ์ก็จะยินดีรับไปยื่นถวายท่านบิดาผู้บริสุทธิ์ได้ แต่เวลานั้นบาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบรีบจะไปในวันนั้นไม่รอช้า เร่งกรุงสยามว่าถ้าจะให้ราชหัตถเลขาไปถวายท่านผู้บิดาผู้บริสุทธิ์แล้ว ก็ให้เขียนให้ในขณะนั้นทีเดียวจะช้าเวลาไม่ได้ เพราะฉะนั้นกรุงสยามจึงได้เขียนราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษสำแดงความคำนับไปยังท่านบิดาผู้บริสุทธิ์ แล้วลงตราของกรุงสยาม แล้วเข้าผนึกส่งให้ไปในขณะนั้น ครั้นล่วงไปได้ปีเศษบาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบกลับมาถึงกรุงเทพมหานครนี้ ได้ยื่นสมณสาส์นของท่านบิดาบริสุทธิ์เป็นหนังสือคู่ เหมือน กันกับฉบับก่อนอีกครั้งหนึ่ง สมณสาส์นทั้งสองฉบับนั้นเขียนในภาษาลาตินมีคำแปลเป็นภาษา อังกฤษกำกับมาด้วยเหมือนกัน ได้อ่านทราบความแล้ว ก็มีความยินดียิ่งนัก อนึ่งบาทหลวงยวงบาบติศบิจฉบได้นำฉากกรอบไม้ปิดทองมีลายประดับด้วยกรวดแก้วสีต่างๆ เรียบเรียงเป็นรูปตึกวัดโบราณเรียบร้อยสนิทสนมนักหนามาส่งให้กรุงสยาม แล้วก็ยืนยันความว่า ฉากนั้นท่านบิดาบริสุทธิ์ได้มอบฝากมาเป็นบรรณาการ แสดงความยินดีถึงกรุงสยามๆได้รับได้ด้วยความยินดีและความเชื่อแต่บิจฉบนั้นแล้ว ได้พิเคราะห์ฝีมือทำฉากนั้นโดยละเอียด ก็เห็นว่าเป็นของซึ่งผู้นั้นทำด้วยอุตส่าห์ความเพียงพยายามยิ่งนัก กรุงสยามได้นำเอาฉากนั้นออกให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงดู ก็พร้อมกันชมว่าของนั้นเป็นของทำด้วยอุตส่าห์พยายามความยินดีความเพียงยิ่งนักเป็นของดีจริง กรุงสยามได้ติดฉากไว้ในที่อยู่เป็นที่ผู้ไปมาได้เห็นอยู่เนืองๆ ใครเป็นคนแปลกหน้าไปมาก็ชี้ชวนให้ชมดู แล้วบอกว่าฉากนั้นเป็นเครื่องสมณบรรณาการมาท่านบิดาบริสุทธิ์ยินดีมาถึงกรุงสยาม การนั้นก็เป็นความเจริญเป็นเกียรติยศแก่กรุงสยามอยู่เนืองๆ จนกาลบัดนี้ เพราะฉะนั้นกรุงสยามขอแสดงความชื่นชมยินดีอบคุณมาถึงท่านผู้บริสุทธิ์ด้วยความเมตตาอาริยไมตรีอันสนิทมาถึงกรุงสยามด้วยความในสมณสาส์นนั้นก็ดี ด้วยเครื่องสมณบรรณาการนั้นก็ดี ความจริงนี้จงได้ทราบแต่ญาณของท่านผู้บริสุทธิ์ เทอญ...”
ภาพพระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์กับฟรังซิสแก้ว เด็กชาวสยาม (คนไว้จุก) และยอแซฟชม เด็กชาวญวน (คนโพกหัว)ซึ่งพาไปฝรั่งเศสด้วบกัน เมื่อพ.ศ. 2395 พิมพ์ด้วยระบบพิมพ์หิน
วาดจากรูปถ่ายระบบดาแกโรไทป์ที่ถ่ายในกรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2397เก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุดคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ถ่ายด้วยระบบดาแกโรไทป์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2389-90 ปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงกระจกสำเนาเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อนุมานว่าเป็นฝีมือการถ่ายรูปของพระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์ หรือบาทหลวงลาร์โนดี