บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง สมุดไทยดำเรื่อง จินดามณี เล่ม 1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-03-22 14:09:35
บทความทางมานุษยวิทยา
สมุดไทยดำเรื่อง จินดามณี เล่ม ๑
ดอกรัก พยัคศรี, ปริวรรตและเรียบเรียง
รหัสเอกสาร นฐ ๔๑ ๐๓๑๒
ต้นฉบับ สมุดไทยดำ
อักษร ไทย-ขอมไทย
ภาษา ไทย-บาลี
เส้น หรดาล
ขนาด ๑๑.๑ x ๓๔.๗ ซม.
สถานที่พบ วัดท่าพูด ต. ไร่ขิง อ. สามพราน จ. นครปฐม
จำนวนเล่ม ขาดออกเป็น ๒ เล่ม ไม่ต่อเนื่องกัน
สภาพเอกสาร ไม่สมบูรณ์ เนื้อเรื่องไม่ครบ สันนิษฐานว่ามีบางส่วนได้ฉีกขาดและหายไป ตัวอักษรบรรจง
สวยงาม มีบางที่ลบเลือนไป
จินดามณี เป็นวรรณกรรมที่สำคัญเรื่องหนึ่งของไทยที่มีมาแต่สมัยอยุธยา เนื้อหาของเรื่องจินดามณีนั้นเป็นแบบการเรียนการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา และการประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ พื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ ว่าด้วยคำศัพท์ที่มักเขียนผิด ความหมายของศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และเขมร ตัวอย่างคำที่ใช้ ส, ศ, ษ ตัวอย่างคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย เป็นต้น ด้านบทประพันธ์ร้อยกรอง ได้อธิบายโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนประเภทต่างๆ รวมทั้งยกตัวอย่างฉันทลักษณ์นั้นๆ ประกอบด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องจินดามณี เป็นตำราที่ได้รวบรวมถ้อยคำที่อาจเขียนผิด เช่น คำยืมภาษาต่างประเทศ คำพ้องรูป พ้องเสียง ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในภาษาเขียน รวมถึงการอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างวิธีการแต่งคำประพันธ์ต่างๆ จึงสันนิษฐานว่า หนังสือจินดามณี เป็นแบบเรียนสำหรับผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือผู้ที่ฝักหัดเป็นกวีในสมัยนั้น
สมุดไทยดำเรื่อง จินดามณี ของวัดท่าพูด จ. นครปฐม ที่นำมาปริวรรตในครั้งนี้ น่าจะเป็น จินดามณี ฉบับความพ้องของนายมหาใจภักดิ์ เพราะในหน้าปลาย หน้าที่ ๑๑ ของส่วนที่ ๑ มีโคลงว่า
๏ จินดามณีนี้ นายมหา
ใจภักราชสมยา เศกให้
ฉลองลักษณเทิยบทานมา สามฉบับ แล้วพ่อ
เลีอกแต่ล้วนควรไว้ สืบส้างสิษย์สอน ๚ะ ๛
ส่วนผู้คัดลอกจินดามณีเล่มนี้น่าจะเป็น นายม่วง เพราะปรากฏชื่อว่า นายม่วงเขียน ในส่วนปกของหน้าสมุดไทยดำ
ภาพตัวอย่างสมุดไทยดำเรื่อง จินดามณี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=145