บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง ตลกโขน มหรสพไทยคลายเครียด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-03-22 13:56:53
ตลกโขน มหรสพไทยคลายเครียด
บทตัวอย่างของการแสดงตลกโขน ที่ผู้แสดงจะต้องมีหลักในการเล่น ไม่เล่น "ลอยดอก" เหมือนการเล่นตลกทั่วไป
ตลกโขนมีรูปแบบการใช้ภาษาและคำที่เปิดกว้างให้กับตัวเอง เรื่อง และสถานการณ์ในการแสดงตลอดเวลา ที่สำคัญคือต้องรู้จักภาษาเดิมจากบทประพันธ์ในตอนที่แสดงจนขึ้นใจและแตกฉาน รวมทั้งการใช้คำที่ผสมกันระหว่างภาษาการแสดง กับภาษาชาวบ้านที่ฟังแล้วคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตปกติ ภาษาในตลก หรือวิธีการแสดงของตัวตลก จึงเป็นที่ชื่นชอบของคนเป็นจำนวนมาก สาเหตุเพราะ มีภาษาที่เข้าใจง่าย คุ้นเคยกับชีวิตประจำวัน มีการสื่อสารตรงไปตรงมากับผู้ชม และมีการเล่นคำที่ชวนหัว ทำให้จดจำได้ง่าย
ในการแสดงโขน บทของตัวตลกจะมีการเขียนหรือบันทึกไว้น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้แสดงจะใช้ประสบการณ์ และไหวพริบในการคิดคำและภาษามาเล่นตามท้องเรื่อง หรือจะยกเอาสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับสังคมปัจจุบันในช่วงเวลานั้น มาผนวกเล่นด้วยก็ได้ เป็นต้น
"พ่อเส" เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ถือเป็น "พ่อครู" แห่งวงการตลกกรมศิลป์ ส่วนรุ่นหลังที่เติบโตตามมาแต่อายุอานามใกล้เคียงกันคือ "อาหนอม" ถนอม นวลอนันต์ “ครูมืด" ประสาท ทองอร่าม และตลกกรมศิลป์ที่อาวุโสน้อยสุดในกลุ่มคือ จรัญ พูลลาภ
ครูมืด ได้ขยายความถึงคำว่า "ตลกหลวง" ว่า สืบทอดมาจากการแสดงในราชสำนักโดยข้าราชบริพารเป็นผู้ทำการแสดงตลกถวายพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงเรียกว่า ตลกหลวง ซึ่งกรมศิลปากรก็เติบโตมาจากราชสำนักเช่นกัน ในวงการตลกกรมศิลป์ทุกคนต่างยกให้ “พ่อเส” เป็นต้นตำรับของการสร้างตลกประกอบโขน ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งพ่อเสได้บอกว่า การเล่นตลกประกอบโขนนั้น มีมาแต่โบราณมิใช่ตัวเองเป็นผู้คิดค้นขึ้นใหม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาการเล่นตลกประกอบโขนจะเล่นกันนิดๆ หน่อยๆ ไม่มากนัก เมื่อคนดูดูโขนนานๆ ก็อาจจะรู้สึกเบื่อ เราก็คิดว่าต้องหาอะไรเข้ามาเป็นตัวประกอบก็เลยคิดไอ้โน่น ไอ้นี่ใส่เข้าไป เพื่อเพิ่มอรรถรสให้โขนมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่การเล่นตลกเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ทำให้เนื้อเรื่อง หรือความโดดเด่นสง่างามของโขนต้องเสียไป เราต้องรู้ว่าบทไหน ตอนไหนจะเล่นได้ และที่สำคัญต้องรู้ว่าจะเล่นอย่างไร
คนจะเล่นตลกประกอบโขนนั้น ต้องเรียนการแสดงโขนฝึกรำ ฝึกฟ้อนเหมือนนักแสดงในกรมศิลป์คนอื่นๆ มาก่อน และต้องรู้เนื้อเรื่องของโขนลึกซึ้งเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ตลกโขนจะต้องมีแตกต่างจากคนอื่นคือ ปฏิภาณไหวพริบ กล้าแสดงออก โดดเด่นในการแสดง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องศึกษาค้นคิดและเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ การเลือกตัวตลกนั้นส่วนใหญ่หยิบจากจากตัวพระ ยักษ์ ลิง เมื่อดูแล้วว่ามีความสามารถก็เอาออกมาเล่นตลก ซึ่งจะมีกรอบอยู่ คือตอนไหนจะเล่นตลก เล่นอย่างไร เพื่อให้เล่นแล้วเราสนุก คนดูสนุก แล้วเราก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก
การแสดงตลกประกอบโขนแม้จะเป็นงานเรียกเสียงหัวเราะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลกโขนต่างจากการแสดงตลกโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง จะเล่นสนุกเถิดเทิงเกินขอบเขตก็จะกลายเป็นรุ่มร่ามเกินงาม เพราะต้องแสดงควบคู่กับศิลปะของชาติ ต้องอยู่ในประเพณีปฏิบัติที่ถูกต้องของการแสดงโขน ต้องอิงเรื่องราวโขน ต้องมีปี่พาทย์ การแสดงจึงไม่เหมือนตลกโดยทั่วไป ซึ่งตลกรุ่นหลังก็จะอิงเอาการแสดงจากพ่อเสเป็นหลัก ซึ่งพ่อเสจะมีหลักมีเกณฑ์ว่าจะเล่นแค่ไหน และจะคอยบอกเสมอว่าเวลาแสดงต้องรับส่งกัน ต้องมีช่องไฟ และต้องไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ดังนั้นความสัมพันธ์กับผู้ที่จะแสดงร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ ตลกประกอบโขนต้องระวังเรื่องหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ หรือโลดโผนเกินไปต้องไม่ทำ แต่สิ่งที่ควรทำคือ นำเอาเรื่องราวของไทยแต่ดั้งเดิม หรือสุภาษิตคำพังเพย เข้ามาเรียงร้อยเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ทันยุคทันสมัย
แม้จะได้ทำหน้าที่เป็นเพียงจำอวดประดับฉาก แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ "ภาคภูมิใจ" เพราะใช่ว่าคนทุกคนจะมาแสดงเป็นตลกได้ ตลกในราชสำนักนั้น น้อยคนนักจะรู้จัก และน้อยคนนักที่จะเข้าใจและเล่นได้ ต้องรู้เรื่องวรรณคดีอย่างดี คลุกคลีกับศิลปะไทย การเป็นตัวเอกนั้นฝึกซ้อม ฝึกรำกันจริงๆ ก็สามารถเป็นได้ แต่หากเป็นตลกไม่มีความสามารถ ไม่มีพรสวรรค์ รำไม่เป็น และไม่มีความเข้าใจก็เป็นไม่ได้
เวทีการแสดงทางวัฒนธรรมของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เปิดเวทีให้ผู้สนใจในศิลปวัฒนธรรม สัมผัสการแสดง ตลกโขน มหรสพไทยคลายเครียด โดย กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ และคณะ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยช่วงแรกเป็นการแสดงตลกโขนในการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฐ์รบกับพระราม เริ่มเรื่องเมื่อพระรามแผลงศรไป ตัดกาย กร เศียร บาท ขาดหมด แต่ทศกัณฐ์นั้นถอดดวงใจฝากไว้ที่พระฤษีโคบุตรแล้ว จึงไม่เป็นอันตราย แล้วก็ร่ายมนต์กลับให้ร่างกาย ต่อติดเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งในช่วงการแสดงตอนนี้ โบราณท่านได้เพิ่มอรรถรสของการแสดง ด้วยการเล่นตลกเยาะเย้ยพระราม และพลวานรทั้งหลายในกองทัพพระราม ผู้ชมจะได้สัมผัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อเรื่อง ผู้แสดง การเล่นตลก และดนตรี ที่จะสัมพันธ์กันไปตลอด อันเป็นองค์ความรู้ของโบราณจารย์ที่ท่านได้คิดประดิษฐ์ขึ้นและถ่ายทอดมาจนถึงในปัจจุบันนี้
ในช่วงท้ายจะเป็นการแสดงในชุด ฤษีถวายลิง เนื้อเรื่องเป็นตอนต่อจากชุดที่แล้ว เมื่อพระรามแผลงศรแต่ไม่สามารถจะฆ่าทศกัณฐ์ได้ จึงถามพิเภก พิเภกทูลว่าบัดนี้ทศกัณฐ์อายุได้ถึงกำหนดแล้ว. แต่ที่ไม่ตาย เพราะได้ถอดดวงใจของตน ฝากไว้ที่พระฤษีโคบุตรพระอาจารย์ พระรามจึงสั่งให้หนุมานกับองคตไปจัดการในเรื่องนี้ บทขบขันในตอนนี้จะทำให้ผู้ชม ได้เห็นถึงวิธีแสดงตลกโขนหลวงว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
ข้อมูลอ้างอิงจาก
"ตลกหลวง" ศิลปะที่ยังไร้ผู้สืบทอด เรื่อง - คีตฌาณ์ ลอยเลิศ ผู้จัดการรายวัน 27 กันยายน 2549
https://www.pklifework.com/Articles%20Pages/11%20TheLanguageOfTPA-Thai.html
ขอขอบคุณ คุณกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ และคณะ ในการกำกับควบคุมและผลิตการแสดง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=208