www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม > ประถมปลาย

ท่องธรรมชาติกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2009-08-13 11:01:04

ท่องธรรมชาติกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีทรัพยากรท่องเที่ยวที่หลากหลายกล่าวคือมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ทางธรรมชาติทางวัฒนธรรมและหัตถกรรม ซึ่งนับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เย้ายวนใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชวาไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางไปสัมผัสกับธรรมชาติและบรรยากาศต่าง ๆ ซึ่งทางจังหวัดมีความพร้อมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านที่พัก การคมนาคม และสาธารณูปโภค

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีมากมายหลายแห่ง พอจะแบ่งได้ดังนี้ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จะมีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติเขาสก เขื่อนรัชชประภา น้ำตกตาดฟ้า ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศาสนสถานจะมีหลายแห่ง เช่น วัดพระบรมธาตุไชยาวรวิหาร พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา สวนโมกขพลาราม วัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ วัดถ้ำสิงขร พระธาตุหินงู วัดถ้ำคูหา วัดเขาพระนิ่ม ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและหัตถกรรม จะมีฟาร์มหอยนางรมหมู่บ้านทำไข่เค็มไชยา หมู่บ้านทอผ้าไหมพุมเรียง วิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร ฯลฯ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญบางแห่งเท่านั้น

เริ่มจากเมืองสุราษฎร์ธานีไปกราบนมัสการ พระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอไชยา ห่างจากอำเภอไขยาเพียง 1 กิโลเมตร เป็นพระบรมธาตุคู่เมือง องค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุจะมีเจดีย์เล็กๆ 4 ทิศล้อมรอบด้วยวิหารคด

ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่าง ๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน ลักษณะพิเศษของพระบรมธาตุไชยาจะอยู่ที่ยอดบริวารสี่มุม ยอดบริวารจะมีสามรอบ รอบละแปดยอด ส่วนยอดของพระบรมธาตุ หุ้มด้วยทองคำ โบราณวัตถุสำคัญที่ขุดพบ คือ พระพุทธรูปประทับยืน ทำด้วยศิลา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความรุ่งเรืองในสมัยศรีวิชัยเป็นอย่างดี วัดแห่งนี้ถูกทิ้งร้างในสมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชการที่ 5 พระบรมธาตุไชยานี้นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากวัดพระบรมธาตุไชยา ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออก ภายในบริเวณวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุที่ค้นพบในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง

อาคารหลังแรกด้านหน้าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาจะจัดแสดงเกี่ยวกับประติมากรรมศิลาและสำริดที่ค้นพบในเมืองไชยาเก่า อาทิเทวรูปพระนารายณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ฯลฯ

ส่วนอาคารที่สอง เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา นอกจากนี้ยังจัดแสดงงานประณีตศิลป์ต่าง ๆ อีกมากมาย ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาไปประมาณ 3 กิโลเมตรก็จะถึง สวนโมกขพลารม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพุทธทอง เดิมที่ตั้งของสวนโมกขพลารามเป็นวัดร้าง ชื่อวัดพระพังจิก ท่านพุทธทาสภิกขุได้ตั้งชื่อให้ใหม่ตามชื่อต้นโมกและต้นตาลที่ขึ้นอยู่ดกดื่นว่า “สวนโมกขพลาราม” ท่านพุทธทาสภิกขุเริ่มจำพรรษาที่สวนป่าแห่งนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2475 ต่อมาในปี 2485 ได้ย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่มีธารน้ำไหลผ่าน จึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดธารน้ำไหล” ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนโมกข์ในปัจจุบัน

ภายในบริเวณสวนโมกข์ร่มเย็นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่ สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นสื่อสอนเกี่ยวกับธรรมะ อันก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นในใจของผู้แสวงสัจธรรมในชีวิต ถึงแม้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุจะละสังขารจากสวนโมกข์ไปแล้ว ถึงแม้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุจะละสังขารจากสวนโมกข์ไปแล้ว มรดกธรรมของท่านยังคงสื่อกับคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่มีสิ้นสุด จนทำให้ชื่อเสียงของสวนโมกข์แพร่กระจายออกไปทั่วประเทศ แม้ชาวต่างประเทศที่สนใจพุทธศาสนาก็เดินทางมาศึกษาธรรมะนับจำนวนไม่ถ้วน กิจการของสวนโมกข์นอกจากจะอบรมธรรมะแก่ผู้สนใจแล้ว ยังส่งเสริมการปฏิบัติธรรมโดยจัดสถานที่สำหรับผู้สนใจหรือมีศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนาไว้ให้อีกด้วย

ตราบเท่าที่มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่สังคมไทย สวนโมกข์ยังคงเป็นดินแดนที่รองรับการมาของผู้มุ่งหวังการหลุดพัน สมกับที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งชื่อไว้ว่า “สวนโมกขพลาราม” ออกจากสวนโมกขพลารามแล้วจุดหมายที่ควรไปต่อคือ บ้านพุมเรียงซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง ห่างจากอำเภอไชยาประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านของชาวไทยมุสลิมซึ่งอยู่ปะปนกับชาวไทยพุทธ บรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่อพยพมาจากปัตตานี และสืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูงที่ถูกกวาดต้อนหรืออพยพมาจากไทรบุรี ที่หมู่บ้านพุมเรียงนี้มีชื่อเสียงทางด้านการทอผ้าไหมลายดั้งเดิม ซึ่งเป็นผ้าที่มีลวดลายสวยงามคุณภาพดี และมีลักษณะเด่นต่างจากผ้าไหมของภาคอื่น ๆ คือ การทอยกดอกด้วยไหมและดิ้นอันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านพุมเรียง ปัจจุบันได้มีการทอลวดลายแบบไทยที่สวยงามออกมาอีกมากมาย เช่น ลายดอกพิกุล ลายก้านแย่ง ลายก้านต่อดอก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือลายเทพพนม ฯลฯ

สำหรับชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ จะทำอาชีพสานหมวกที่ทำจากใบลาน ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทั้งหมวกใบลาน และผ้าไหมพุมเรียง จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านและเป็นของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอีกด้วย

จากอำเภอไชยาไปตามทางหลวงหมายเลข 401 ไม่ไกลนักก็ถึงอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นแหล่งประมงที่สำคัญขั้นชื่อของจังหวัด คือ ฟาร์มหอยนางรม อยู่บริเวณปากน้ำท่าทอง ตำบลกะแดะ แวดล้อมไปด้วยป่าชายเลย ดินเลย น้ำกร่อย เหมาะกับการเพาะเลี้ยงหอยนางรมเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านแถบนี้จะสร้างขนำหรือที่พักไว้กลางทะเลเพื่อคอยดูแลหอยนางรมไม่ให้คนลักขโมยไปได้ หอยนางรมจากถิ่นนี้จะมีชื่อเสียงแพร่หลายว่า ตัวโต เนื้อขาว รสหวาน ไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งนับเป็นของดีประจำท้องถิ่นที่ชาวสุราษฎร์ธานีมีความภาคภูมิใจจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัด

ออกจากฟาร์มหอยนางรมไปตามทางหลวงหมายเลข 401 เมื่อถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 13-14 ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จะเห็นป้ายอยู่ด้านขวามือ คือ วิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร ที่แห่งนี้จะมีการสาธิตและบรรยายหลักสูตรการฝึกลิงตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถเก็บมะพร้าวได้

การนำลิงมาใช้ในสวนมะพร้าวนี้ เริ่มมีขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะความต้องการในอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวมีอยู่สูง ชาวสวนมะพร้าวที่มีทักษะด้านการสอนลิงจึงหัดลิงกันมากขึ้น

ลุงสมพร แซ่โค้ว เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านการฝึกลิงเก็บมะพร้าว ลุงเป็นลูกชาวสวน ช่วยพ่อแม่เก็บมะพร้าวมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่มีความรัก ความเมตตาสัตว์มาโดยตลอด ลุงสมพรได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการฝึกลิงมาจากคนเก่าแก่ ประกอบกับความเป็นคนช่างสังเกตช่างทดลอง ช่างดัดแปลงจึงทำให้ลุงสมพรมีความเชี่ยวชาญทางด้านการฝึกลิงจำได้ง่าย ๆ คือ “พูดให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้ดี” และที่สำคัญคนฝึกลิงจะต้องเป็นคนใจเย็น อดทน ระงับโทสะได้ รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ให้ลิงปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ให้ได้

ด้วยวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใคร ประกอบกับความแสนรู้ของลิง ทำให้ลุงสมพรมีอาชีพเสริมขึ้นมาอีกอาชีพหนึ่ง คือ การจัดให้ลิงแสดงวิธีการฝึกทุกขั้นตอนตามที่ลุงสอน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเข้าชม และได้รับความเพลิดเพลินใจในโรงเรียนฝึกลิงแห่งนี้ ซึ่งนับแต่นี้ไปลุงสมพรคงเหลือไว้แต่ความทรงจำให้กับคนรุ่นหลังได้จดจำระลึกถึงตลอดไป

บนเส้นทางสาย 401 เลยวิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตรไปไม่มากนัก ก่อนถึงทางแยกเข้าตัวอำเภอกาญจนดิษฐ์ ด้านขวามีป้ายทางเข้าวัดถ้ำคูหาหรือถ้ำคูหา วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลข้างขวาเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำนวนมาก บริเวณถ้ำด้านบนมีภาพรูปปั้นพระพุทธรูปพระเศียร ปราสาทสวยงามมาก เป็นศิลปะเชิงช่างทวารวดี ภายในถ้ำจะประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปประทับนั่ง และตามหลืบเพดานถ้ำมีทางเดินลึกเข้าไปด้านหลังซึ่งจะมีปล่องต่อเนื่องขึ้นไปด้านบนได้

วัดถ้ำคูหาหรือถ้ำคูหานี้มีเรื่องเล่าว่า มีพรานป่ากลุ่มหนึ่งได้ติดตามไล่ล่าฝูงโคป่าไปจนกระทั่งมีโคตัวหนึ่งวิ่งหนีหายเข้าไปในถ้ำ แต่นายพรานค้นหาไม่พบ จึงได้บนบานเทวดาสักครู่ก็เห็นโคป่าตัวนั้นกำลังยืนนิ่ง แต่ส่วนหัวจมอยู่ในกินและยิ่งเดินเข้าใกล้ก็ยิ่งจมลงไปเรื่อย ๆ พรานจึงเชื่อว่าเป็นเพราะเทพเจ้าบันดาลให้เป็นเช่นนั้น นายพรานจึงเลิกฆ่าสัตว์ ตั้งแต่นั้นมาและพร้อมใจกันสร้างวัดชื่อ “วัดถ้ำโคหาย” หรือ “วัดถ้ำคูหา” ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 401 ประมาณ 90 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอพนม และอำเภอบ้านตาขุน สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนมีแนวหน้าผาสูงชัน ทางด้านทิศเหนือบริเวณคลองแสงจะเป็นทิวเขาและทะเลสาบขนาดใหญ่ อันเกิดจากการสร้างเขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลาน

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำตาปี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายพันธุ์ รวมทั้งพันธุ์ไม้ที่หายากอีกด้วย บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงามอีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำน้ำทะลุ ถ้ำสี่รู (ตั้งน้ำ) ถ้ำพันธุรัตน์ น้ำตกวิ่งหิน น้ำตกโดนกลอย น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกสิบเอ็ดชั้น น้ำตกแม่ยาย ฯลฯ นอกจากความอุดมสมบูรณ์และความประทับใจของผู้ที่ได้มาเยือนป่าแห่งนี้แล้ว ยังมีความงดงามของละอองหมอกสีขาวที่ลอยอยู่กับเทือกเขาหินปูนในยามเช้า อีกทั้งยังได้เพลิดเพลินกับการพายเรือแคนู ล่องห่วงยาง การปั่นจักรยาน และเมื่อเดินทางมาถึงจุดชมวิวที่สูงสุด ก็จะเห็นภาพทุ่งดอกหญ้าพลิ้วไหวไปทั่วท้องทุ่ง ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของป่าแห่งนี้

หลังจากนั้นได้สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของป่าและสายน้ำลำธารในอุทยานแห่งชาติเขาสก ก็ออกมาสัมผัสความกว้างใหญ่ของผืนน้ำที่เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน กันบ้าง

เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก เมื่อประมาณ 2525 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้สร้างเขื่อนเชี่ยวหลานได้ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลสมัยพระชนมพรรษา 5 รอบพระราชทานนามเขื่อนให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” ซึ่งหมายถึงแสงสว่างแห่งราชอาณาจักร และได้สร้างเสร็จเมื่อปี 2529 ลักษณะตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความสูง 94 เมตร สันเขื่อนยาว 761 เมตร

การก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา ได้สร้างกั้นคลองแสงบริเวณที่เรียกว่า แก่งเชี่ยวหลานทำให้น้ำท่วมภูเขาหินปูน กลายเป็นเกาะมากมาย ผู้คนและหมู่บ้านชาวป่าริมคลองแสงต้องอพยพยังที่ทำกินแห่งใหม่ โดยทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเจ้าของโครงการได้จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัย จัดหายางพาราพันธุ์ดี และจ่ายเงินค่าชดเชยค่าที่ดินและทรัพย์สินที่จมหายไปกับน้ำ พร้อมทั้งจัดสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็น อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน โรงเรียน และวัดให้อีกด้วย หลังจากอพยพสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่นั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากกว่าจะเรียบร้อยลงตัวได้

ในยามเช้าของทะเลสาบหลังเขื่อนจะมีละอองหมอกและเมฆสีขาวล่องลอยอยู่บนเทือกเขาที่โผล่พ้นน้ำนับเป็นภาพทะเลสาบที่สวยงามที่สุด เพราะโดยสภาพป่าและภูเขาก่อนทำการก่อสร้างเขื่อน ภูเขาอันสลับซับซ้อนที่นี่จะมีลักษณะเป็นภูเขาชันยอดแหลม เสียดฟ้า แต่เมื่อถูกน้ำท่วมภูเขาเหล่านี้กเหลือแต่เพียงยอดสูงโผล่พ้นน้ำ กลายเป็นเกาะมากมาย มีกิ่งไม้ขึ้นระเกะระกะกลางผืนน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่สามารถจะพบได้จากทะเลสาบหลังเขื่อนแห่งอื่น ๆ และที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยปกติแล้วพื้นที่เขื่อนเชี่ยวหลานนี้ พื้นที่อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ป่ารอบบริเวณอ่างเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก

ในส่วนของทะเลสาบหลังเขื่อนรัชชประภานั้น ตามบริเวณหน้าป้อมทางเข้าเขื่อนจะมีท่าเรือชาว้านอยู่ที่นั่น ซึ่งสามารถเช่าหรือเหมาเรือล่องชมทะเลสาบได้ เรือส่วนใหญ่จะเป็นเรือหางยาวหรือเป็นเรือบริการของอุทยานแห่งชาติเขาสก  จากท่าเรือเล็ก ๆ ริมสันเขื่อนในยามเช้า เมื่อเรือแล่นสู่เวิ้งน้ำที่กว้างไกลจรดภูเขาหินปูน จะพบว่ามีซอกหลืบของภูเขาที่เป็นเส้นทางเดินของสายน้ำ และรอบ ๆ ข้างก็ถูกโอบล้อมไปด้วยผาหินยอดแหลมสูง ๆ ต่ำ ๆ บางแห่งก็มีหินงอก หินย้อย ลงมาเป็นเชิงชั้น และตามแผ่นหินผาจะถูกพันธุ์ไม้ที่ไมต้องการน้ำมากนักขึ้นเกาะเกี่ยวกันอยู่บนแผ่นหินผา ซึ่งเป็นภาพทิวทัศน์ที่งดงามจนได้ขนานนามว่า “กุ้ยหลินเมืองไทย”

พอเรือแล่นลึกเข้ามาในป่าเกาะที่หลืบผาในอ่าวเล็ก ๆ แห่งหนึ่งจะเป็นทำเลที่ตั้งเรือนแพของอุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งมีเรือนแพที่ทำการของเจ้าหน้าที่และแพบริการนักท่องเที่ยว เรือนแพนี้จะตั้งเรียงขนานกับผาหินซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะกับบรรยากาศแห่งการพักผ่อนริมทะเลสาบที่น่าอัศจรรย์มิรู้ลืม  สำหรับพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภา ถึงแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสก แต่มีการผ่อนผันให้ชาวบ้านแถบนี้เลี้ยงปลาในกระชังเพื่อเลี้ยงชีพได้ อย่างเช่น ปลายี่สก ปลาแรด ปลาบึก และปลาน้ำจืดอื่น ๆ เป็นต้น

ออกจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีข้ามไปเที่ยวเกาะกันบ้าง โดยจะเริ่มจากเกาะสมุย เดินทางโดยเรือเฟอรารี่จากท่าเรือดอนสัก อำเภอดอนสัก เกาะสมุย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไหทยและชาวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี คำว่า “สมุย” มีผู้สันนิษฐานที่มาของชื่อกันต่าง ๆ นานา ว่ามาจากภาษาจีนว่า “เซ่าบ่วย” แปลว่าด่านแรก บ้างว่ามาจากภาษาไทโจฬะ แปลว่าคลื่นลมบ้างก็ว่ามาจากชื่อต้นไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ คือ ต้นหมุย

เกาะสมุย มีชายหาดที่สวยงามหลายแห่งอยู่รอบ ๆ เกาะ สำหรับชายหาดที่สำคัญและนักท่องเที่ยวนิยมไปพักผ่อนกันมาก คือ หาดหน้าทอน หาดละไม และหาดเฉวง

หาดหน้าทอน จะอยู่ทางด้านของเกาะหรือด้านทิศตะวันตกของเกาะ หาดแห่งนี้มีท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางในการเดินทางคือเรือเฟอรารารี่ที่มาจากท่าขนอม เรือด่วน ส่งเสริมจากสุราษฎร์ธานี เรือเฟอรารี่ที่ให้บริการเกาะสมุย–เกาะพงัน และยังมีเรือบริการไปหมู่เกาะอ่างทองอีกแล้ว จึงจัดได้ว่าหาดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโยลีการสื่อสารข้ามทะเล ทำให้นักท่องเที่ยวจากทุกชาติ สามารถติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายโยงใยไปได้ทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้หาดหน้าทอนยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ ตลาดจำหน่ายอาหาร ตลอดจนร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก พอยามเย็น  ณ หาดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง และยามค่ำคืนยังทำหน้าที่เสมือนประภาคารคอยให้สัญญาณแก่ชาวประมงในการออกทะเลอีกด้วย

หาดละไม หาดแห่งนี้เป็นหาดที่ขึ้นชื่อด้านความสวยโค้งของอ่าว ที่มีทิวมะพร้าวปลูกอยู่เป็นแนว แหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ศูนย์วัฒนธรรมวัดละไมเป็นวัดเก่าแก่ มีอายุเกือบ 200 ปี เป็นสถานที่เก็บรวบรวมของใช้เก่าแก่ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตของชาวบ้านในอดีตบนเกาะสมุยเป็นอย่างดี

ทางทิศใต้ของหาดละไม จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือหินตา หินยาย เป็นโขดหินที่มีรูปร่างประหลาด มีนิทานท้องถิ่นเล่าต่อ ๆกันมาว่า นานมาแล้วมีตายายคู่หนึ่ง ชื่อตาเครงกับยายเรียม เป็นชาวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางโดยเรือใบเพื่อจะไปสู่ขอลูกสาวของตาม่องล่ายกับยายยมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้กับลูกชาย ครั้งเรือแล่นมาถึงบริเวณแหลมละไม เกิดพายุใหญ่ทำให้เรือล่มทั้งตาและยายเสียชีวิต คลื่นซัดขึ้นชายหาดกลายเป็นรูปร่างประหลาดที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

หาดเฉวงจะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ หาดแห่งนี้เหมาะแก่การเล่นนำเพราะมีชายหาดที่ยาวและสะอาด น้ำใส ระดับน้ำไม่ลึกเกินไป หาดเฉวงนี้เป็นหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะสมุย พวกนักท่องเที่ยวต่างชาติมักนิยมไปพักผ่อนกันมาก เปรียบเสมือนพัทยาแห่งที่สองก็ว่าได้

หลังจากเที่ยวชมหาดต่าง ๆ รอบเกาะสมุยแล้ว ลองไปสัมผัสกับน้ำตกเกาะสมุยกันบ้าง เกาะสมุยมีน้ำตกที่สวยงาม คือ น้ำตกหน้าเมือง (วนอุทยานผาหลวง) เป็นน้ำตกที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสพร้อมด้วยพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถและในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็เคยเสด็จประพาสครั้งหนึ่ง ต่อมารัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็เคยเสด็จประพาสเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2505 ด้านล่างของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับชาวเกาะสมุยควบคู่น้ำตกหินลาด นอกจากน้ำตกหน้าเมืองแล้วยังมีอีก 3 แห่ง คือ น้ำตกหินลาด น้ำตาลาดวานร และน้ำตกของเรือ

สำหรับนักท่องเที่ยวบนเกาะสมุยนอกจากชายหาดและน้ำตกแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง คือ สวนผีเสื้อสมุย ตั้งอยู่บนเนินเขาติดทะเลทางทิศใต้ของเกาะสมุย อยู่ห่างจากหินกา หินยายประมาณ 5 กิโลเมตร สร้างบนเนื้อที่ 20 ไร่ ลักษณะเป็นสวนหิน เต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาพรรณ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่รวบรวมพรรณไม้ไทย พืชสมุนไพร่ และไม้ป่านานาชนิดจากทุกภาคของไทย ภายในประกอบด้วยสวนผึ้ง พิพิธภัณฑ์แมลง แหล่งปะการัง จุดชมวิวร้านจำหน่ายของพื้นเมือง รวมทั้งมีที่พักไว้บริการด้วย

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งคือ สำนักสงฆ์พระใหญ่เกาะฟาน เดิมเกาะฟานในสมัยก่อนชาวบ้านใช้เป็นทีฝังศพเด็ก พระครูสันตินันทคุณได้นำชาวบ้านปรับปรุงเกาะฟานให้เป็นสำนักสงฆ์ หร้อมกับสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานไว้บนยอดสูงของเกาะนี้ โบราณวัตถุที่สำคัญคือพระใหญ่ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า พระพุทธสันติทีปนาถ  นอกจากนี้ยังมีศูนย์ลิงสมุย วัดสำเร็จ ฟาร์มงูพังกา พระพุทธบาทเขาเล่ พระธาตุหินงู เจดีย์แหลมซอ ฯลฯ  สำหรับการท่องเที่ยวบนเกาะนี้ นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานจากการได้เที่ยวชมบรรยากาศธรรมชาติของชายหาดที่มีอยู่รอบ ๆ เกาะและความสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติบนเกาะแล้ว เกาะสมุยในวันนี้จึงมิได้มีความหมายเพียงแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อสำหรับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการศึกษาชีวิตและอารยธรรมอันดีงามในอดีตที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันอีกด้วย

ออกจากเกาะสมุยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 20 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทาง เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งที่ 2 และได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 ประกอบด้วย หมู่เกาะต่าง ๆ จำนวน 42 เกาะ ในอ่าวไทย อาทิเกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะไผ่ลวก ฯลฯ ซึ่งส่วนมากเป็นหินปูน และก็ต้องยมรับปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่หาพบได้ยาก คือความมหัศจรรย์ของทะเลใน หรือทะเลสาบกลางเกาะแม่เกาะ ทะเลในนี้มีความลึก 7 เมตรเมื่อเดินขึ้นไปตามทางสู่จุดชมวิวอีก 400 เมตร จะเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของทะเลปิดซึ่งโอบล้อมด้วยโขดเขา และแมกไม้ที่เขียวครึ้มขึ้นปกคลุมใกล้ๆ เกาะแม่เกาะ คือ เกาะวัวตาหลับ บนเกาะแห่งนี้เป็นที่ทำการของอุทยานแห่งชาติ ช่วงด้านหน้าของเกาะจะเป็นหาดทรายขาดสะอาดเหมาะกับการเล่นน้ำ ถัดขึ้นไปจะมีทางเดินสู่จุดชุมวิวบนยอดเขา ระยะทางเดินประมาณ 400 เมตร ใช้เวลาไป-กลับประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างลาดชัน ต้องโหนตัวเกาะเกี่ยวกิ่งไม้เป็นระยะ  ยิ่งใกล้จะถึงคนปีนป่าย ต้องแข็งใจสู้ฝ่าฟันกับความรู้สึกที่หวาดหวั่น ในขณะที่ด้านขวาคือหุบเหวลึก และด้านซ้ายคือทะเลเขียมเข้มแต่ก็พยายามเหนี่ยวเชือกไปจนถึงเส้นชัย เมื่อไปถึงจุดสูงสุดภาพที่เห็นบนนี้ แทบจะทำให้ลืมหายใจในความเพียรพยายามที่ปีนป่ายขึ้นมา บนจุดชมวิวสูงสุดนี้จะมองเห็นเกาะน้อยใหญ่ที่เรียงรายทอดตัวเป็นแนวยาวบนพื้นน้ำสีคราม เบื้องล่างดูสงบนิ่งราวกับภาพวาดซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่ได้มาเยือนบนเกาะแห่งนี้



เกาะพะงัน

ห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 100 กิโลเมตร ก็จะถึงเกาะพะงัน คำว่า พะงัน สันนิษฐานว่า มาจาก พะ ซึ่งหมายถึง พบ คำว่า งัน หมายถึง หาดทรายที่มองเห็นได้ชัดในเวลาน้ำลด เกาะพะงันเป็นเกาะที่เรียกได้ว่าเป็นเกาะมะพร้าวอีกเกาะหนึ่ง ธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเลบนเกาะพะงัน ยังอุดมสมบูรณ์มาก ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้น และป่าดงดิบแล้ง พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นดินทรายและหิน

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญบนเกาะพะงัน อาทิ พระเจดีย์ภูเขาน้อย พระพุทธบาทจำลอง บนภูเขาวัดมธุรวราราม หาดท้องนายปาน หาดริ้น บ้านโฉลกหลำ ศาลเจ้าแม่กวนอิม วนอุทยานน้ำตกแพง น้ำตกประเวศ น้ำตกธารเสด็จ ฯลฯ สำหรับน้ำตกธารเสด็จนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยว อยู่ที่ตำบลใต้ สามารถไปได้ทั้งทางเรือและทางรถ แต่ถ้าไปทางเรือเมื่อเริ่มเข้าอ่าวธารเสด็จจะพบความงามของภูเขา โขดหิน ที่มีรูปร่างแปลก ๆ และหาดทรายสีขาวดุจเงินยวง ครั้นเมื่อเดินขึ้นไปตามต้นน้ำจะพบหินก้อนหนึ่งใต้ต้นไม้ ที่ก้อนหินนี้จะมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร.ภปร.ปปร. ซึ่งได้จารึกเอาไว้เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์เคยเสด็จประพาส คือ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาที่น้ำตกแห่งนี้

น้ำตกธารเสด็จนี้ชาวบ้านถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณน้ำตกจะอุดมไปด้วยป่าไม้ ดอกไม้ป่าและกล้วยไม้ป่านานาชนิด มีน้ำไหลตลอดปี ชาวบ้านและชาวประมงได้อาศัยน้ำจากน้ำตกธารเสด็จเป็นน้ำดื่มใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย จังหวัดสุราษฏร์ธานีนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง และก่อนจะสิ้นสุดการเดินทาง แวะซื้อของกินของฝากกันกลับบ้านไปด้วยมีทั้งของคาวหวาน และผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด อาทิ ไข่เค็มไชยา หอยนางรม เงาะโรงเรียน ลางสาดเกาะสมุย ฯลฯ นอกเหนือจากอาหารการกินแล้ว ประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่างเช่น ประเพณีแห่พระหรือลากพระของชาวพะงัน ประเพณีหลาต่อตา หนังตะลุง มโนห์รา เป็นต้น


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน