www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

คำในภาษาไทยที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2017-02-15 11:43:18

เรื่อง : อ.วรธน อนันตวงษ์


คำในภาษาไทยที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน


เคยสงสัยหรือไม่ว่า คำในภาษาไทยมีบางคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาก จนเราอาจจะสับสนว่า เอ๊ะ ! เราจะใช้คำไหนดี  แล้วคำไหนควรใช้ในบริบทใดดี
 

วันนี้ครูขอยกตัวอย่างคำกลุ่มหนึ่งที่มักพบในชีวิตประจำวันกันบ่อยครั้ง ได้แก่
 

ประชากร หมายถึง คนโดยทั่วไป แต่เรามักใช้ในกรณีที่พูดถึงจำนวน คือ จำนวนคนของประเทศหรือของโลก เช่น มีการทำนายว่า ประชากรของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลา 20 ปีนี้ ในทางสถิติยังมีการใช้คำว่า ประชากร   หมายถึง จำนวนสัตว์ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่สำรวจ เช่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประชากรควายทั่วประเทศลดลง อย่างน่าใจหาย (เห็นมั้ยครับว่าทุก ๆ ตัวอย่างที่ใช้มักมีความหมายที่แสดงถึงจำนวนทั้งสิ้น)

 

ประชาชน หมายถึง คนทั่วไป ย้ำ ! คนทั่วไปนะครับ เช่น เราเป็นประชาชนคนธรรมดาไม่มีอภิสิทธิ์ใด ๆ หรือเราอาจใช้ในความหมายที่หมายถึง คนของประเทศ เช่น ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องรู้กฎหมาย ใครจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

 

พลเมือง หมายถึง หมู่คนที่เป็นประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ประเทศจีนมีพลเมืองมากกว่า 1 พันล้านคน คำว่า พลเมือง มีความหมายว่า “กำลังของเมือง” หมายถึง คนทั้งหมดซึ่งเป็นกำลังของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ  การทหาร และอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น

 

พสกนิกร อ่านว่า พะ-สก-นิ-กอน เป็นคำสมาสที่มาจากคำว่า พสก หมายถึง ชาวเมือง คนที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ กับคำว่า นิกร ที่แปลว่า หมู่ ใช้ความหมายถึง คนที่อยู่ในประเทศทั้งคนที่ถือสัญชาติเดียวกันและคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศด้วย เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรของพระองค์ให้มีความสุข และปราศจากทุกข์โศก

 

ราษฎร มีความหมายถึง คนของรัฐ ในอดีตหมายถึง สามัญชน คือ คนที่ไม่ใช่ขุนนาง คำว่า ราษฎร มีความหมายคล้ายกับคำว่า ประชาชน แต่มีนัยของความหมายที่ไม่เป็นทางการเหมือนกับคำว่า ประชาชน เช่น แม้เราจะเป็นราษฎรธรรมดา    แต่ถ้าผู้บริหารประเทศคดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวง เราก็ต้องไปประท้วง เป็นต้น

 

คำกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันเท่านั้นนะครับ  ฉะนั้นเวลาเราจะเลือกใช้คำใดในความหมายใดก็ควรพิจารณาความหมายให้สอดคล้องกับบริบทให้ถูกต้องเหมาะสมด้วยนะครับ
 

อ.วรธน อนันตวงษ์



อ.วรธน อนันตวงษ์

    • อาจารย์รับเชิญบรรยายความรู้เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิชาภาษาไทยโรงเรียนชั้นนำต่าง ๆ ทั่วประเทศ
    • ผู้เขียนหนังสือ “พิชิตข้อสอบภาษาไทย สไตล์อาจารย์กอล์ฟ” หนังสือสรุปเข้มภาษาไทยเพื่อเตรียมสอบเข้า ม. 1 และ   ม. 4
    • ผู้อำนวยการโรงเรียนกวดวิชาภาษาไทยอาจารย์กอล์ฟพญาไท